เพราะทุกพื้นที่เต็มไปด้วยผักสวนครัว 40 กว่าชนิดเช่น ผักบุ้ง  คะน้า กวางตุ้ง สลัดแดง สลัดขาว ไวท์โอ๊ค เรดโอ๊ค กะเพรา โหระพา สะระแหน่ พริก ใบแมงลัก มะเขือ มะเขือม่วง มะเขือขาว มะเขือเหลือง ตะไคร้ มะละกอ ชะอม แตงกวา บวบ ถั่วฝักยาวสีขาว สีเหลือง  ถั่วฝักยาวสีม่วงสิรินธร มะระขี้นก รวมถึงขึ้นฉ่ายที่อยู่ในช่วงกำลังเพาะ สามารถหิ้วตะกร้าเก็บไปปรุงอาหารและแจกจ่ายผู้คนได้อย่างเหลือคณา

ดร.วันดี เล่าด้วยรอยยิ้มว่า “เราใช้คอนเซปต์ว่า “ผู้นำต้องทำก่อน” สืบเนื่องจากทางกระทรวงมหาดไทยโดยกรมการพัฒนาชุมชน ผลักดันเรื่องการปลูกผักมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ระบาด ในปี 2562 จนในวันนี้คนทั้งประเทศปลูกผักกันนับเป็นจำนวนครัวเรือนกว่า 14 ล้านครัวเรือน สิ่งที่ได้ดำเนินชีวิตโดยที่เราเป็นคนหนึ่งในสมาชิกของการปลูกผักเพื่อบริโภค “ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก” โดยน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาใช้ เดิมทีปลูกผักที่บ้าน เวลามาทำงาน นั่งคิดว่า เราอยู่ชั้น 10 สวนที่ตกแต่งบริเวณเทอเรซ เป็นต้นไม้สวยงามมีแนวคิดว่าเปลี่ยนให้เป็นผักสวนครัวเลยลองดูว่าเริ่มต้นทดลองปลูกผักบุ้งจีน ซึ่งได้แนวคิดจากคุณสุทธิพงษ์ ที่ปลูกผักบุ้งในกะละมัง พอได้ผลจึงขยายผลเป็นสวนครัวลอยฟ้าที่อยู่มีความสุข เป็นแนวคิดเห็นที่คิดเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนที่อยู่ในเมือง จำเป็นต้องอยู่ในที่สูง จากการขับเคลื่อนเวลาตั้งแต่ปี 2562-2564 วันนี้ประเทศไทยมี 14 ล้านครัวเรือนที่ปลูกผัก ถ้าทุกคนสามารถที่จะประหยัดได้ครัวเรือนละสัก 50 บาทต่อวัน  14 ล้านครัวเรือน  เทียบเท่าเฉียด 100 ล้านบาทต่อวัน ปีหนึ่งสามารถประหยัดเงินได้กว่าสองแสนห้าหมื่นล้านบาท แทนที่จะใช้จ่ายก็เป็นการเก็บหอมรอมริบแทนจากปลูกผัก”

ดร.วันดียังย้ำด้วยว่า “สิ่งที่ทำ ถ้าจะถามว่าลิงก์กับงานในภารกิจหน้าที่ที่ทำในฐานะที่เป็นนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เราก็สนับสนุนภารกิจของท่านผู้นำระดับกระทรวงคือ ท่านปลัดกระทรวงมหาดไทย ขับเคลื่อนนโยบายผ่านท่านประธานแม่บ้านทุกจังหวัด ทั่วประเทศในทุกโครงการที่จะเป็นประโยชน์ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้พี่น้องประชาชน เช่น การปลูกผัก การคัดแยกขยะ ในเรื่องสิ่งที่ทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในที่สุดแล้วจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนตามที่กระทรวงมหาดไทยได้ลงนามร่วมกับองค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็นที่ในประเทศไทย 76 จังหวัดเป็นพันธกิจ ที่จะขับเคลื่อน 17 SDG เพื่อการพัฒนาชีวิตสู่ความยั่งยืน ถ้าคนเรามีความสุขแบบพอเพียง คือไม่ดิ้นรนเรื่องของการแสวงหา หรือลดค่าใช้จ่ายเท่ากับเพิ่มรายได้ ผู้นำต้องทำก่อน ถ้าเราทำเราจะอินในความรู้สึกคือทำแล้วได้ประโยชน์จริง ๆ พอลงมือทำ เห็นผล สามารถสื่อสารกับเขาได้ ”

ส่วนหลักการดำเนินชีวิต ดร.วันดี สะท้อนว่า   “การดำเนินชีวิต การไม่ยึดติด คือการปล่อยวาง สองคือ ดำเนินชีวิตที่พอเพียง มีความสุข ไม่แสวงหา แต่ยึดอยู่บนหลักการแอคชีพเมนต์ ตั้งใจทำอะไรจะทำให้ดีที่สุด  เป้าหมายมีไว้ให้พุ่งชน ดังนั้นตั้งเป้าหมายใด ๆ จะเป็นคนที่ต้องไปสู่จุดนั้นให้ได้ แต่ไม่ได้ตั้งอะไรไว้ที่เกินในสิ่งที่เราต้องการ อะไรที่เป็นส่วนตัวเราก็พอแล้วในชีวิต แต่ตอนนี้ในความคิดของเราเป็นแมสท์ คิดออกมาแล้วสู่สังคม คิดออกมาแล้วสร้างให้เกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน ชุมชนเล็ก ๆครอบครัว หมู่บ้าน คนในระดับแมสท์  ต้องขับเคลื่อนในแต่ละวิธีที่ไม่เหมือนกัน การเป็นพลังชีวิตให้ขับเคลื่อน คนรอบข้างสำคัญมาก สิ่งที่คนเราจะประสบความสำเร็จได้ ต้องเริ่มจากจุดเล็ก ๆ คือครอบครัว ถ้าเรามีครอบครัวที่มีสามี ภรรยา ลูก แนวคิดต้องไปแนวเดียวกันการผลักดันซึ่งกันและกันทำให้สิ่งที่เป็นเป้าหมายของเราสำเร็จโชคดีที่มีสามีให้การสนับสนุนในกิจกรรมที่ทำทุกเรื่อง โดยส่วนใหญ่สิ่งที่ทำจะสนับสนุนซึ่งกันและกัน เราก็สนับสนุนในกิจกรรมเขาด้วย”

ด้าน สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย  กล่าวเสริมว่า “หลังจากรณรงค์เรื่องสร้างความมั่นคงอาหาร ปลูกผักสวนครัว คนที่อยู่ในเขตเทศบาลเมือง คนที่อยู่ตึกสูงบอกว่าปลูกไม่ได้ สมัยเราเด็ก ๆ ปู่ย่าตายายนำอ่าง กะละมังที่แตกมาใส่ดินปลูกสะระแหน่ ผักชี คุณวันดีช่วยโชว์เคสว่าปลูกผักสวนครัวบนตึกสูง ปลูกได้ทุกอย่าง รียูสขยะกระสอบปุ๋ย กระสอบใส่ข้าวที่ทำจากพลาสติก นำมาตัดเย็บเป็นกระถางได้ ต้นไม้ถ้ามีดิน  แดด น้ำ อากาศ ก็เจริญงอกงามได้ พืชเป็นสิ่งที่มีชีวิตมหัศจรรย์ที่ช่วยทะนุถนอมโลกใบนี้ให้มีอายุยืนยาว ด้วยการดึงดูดเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์มาปรุงเป็นอาหาร แล้วกลายเป็นอาหารให้เราด้วย ขณะเดียวกันปล่อยก๊าซออกซิเจนทำให้บรรยากาศของโลกดี เวลาเครียด เหนื่อย มองไปสีเขียวของต้นไม้ มีผลต่อสุขภาพจิตและสมองของคนเรา พืชผักที่ปลูกได้เป็นธนาคารอาหาร เป็นซูเปอร์มาร์เกตให้เรา”

“ดร.วันดีเป็นประธานสภาสตรีฯ มา 8 ปี เป็นประธานชมรมแม่บ้านกรมพัฒนาชุมชนและ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ตอนนี้เป็น นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นอีลิทของผู้หญิงที่มาช่วยขับเคลื่อนงานของราชการที่น้อมนำเอาแนวพระราชดำริ  สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ในเรื่องการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิต ด้วยการปลูกพืชสวนครัว ลดรายจ่าย อาหารปลอดภัยตามโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มีพระดำรัสเป็นส่วนพระองค์กับผมและดร.วันดีและคณะว่า หน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยคือการไปทำให้เกิดหมู่บ้านยั่งยืน หรือสร้างหมู่บ้านยั่งยืน ซึ่งหมู่บ้านยั่งยืนต้องมีการดูแลสิ่งแวดล้อม คัดแยกขยะ มีความมั่นคงด้านอาหาร ตามโครงการบ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง พึ่งพาตัวเองด้านเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มโดยเน้นวัสดุตามธรรมชาติ ในท้ายที่สุดตอนนี้อธิบดีกรมพัฒนาชุมชนน้อมนำมาขับเคลื่อนเรื่อง Sustainable Fashion แฟชั่นที่ยั่งยืน”.