เคยผ่าตัดก้อนแรก…17 ปีที่ผ่านมามีก้อนใหม่อีก
หญิงวัย 60 ปีเศษเป็นชาวเมียนมาร์รายหนึ่งได้เผชิญทุกข์จากปัญหา “ก้อนเนื้องอกที่ขา” เหนือหัวเข่า เมื่อราว 20 ปีก่อน ซึ่งตอนที่ไปรับการตรวจโดยแพทย์ที่โรงพยาบาลในเมียนมาร์คราวนั้น “คุณมาร์ ลาร์” ผู้เจอปัญหาดังกล่าวได้ลำดับความย้อนหลังให้ทีมงาน “อุ่นใจ…ใกล้หมอ” ได้ทราบดังนี้…
“…ดิฉันได้รับทราบจากคุณหมอว่าเป็นก้อนเนื้องอกและได้แนะนำให้ผ่าตัดกำจัดออก แต่หลังจากนั้นอีกแค่ 3 ปีก็ปรากฏว่ามีก้อนใหม่เกิดขึ้นที่บริเวณเดิม จึงไปตรวจที่โรงพยาบาลเดิมและคุณหมออธิบายว่าเนื้องอกที่โคนขาของดิฉันเป็นก้อนไขมันธรรมดาโดยไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเส้นเลือดหรือเส้นเอ็นแต่อย่างใด ก็เลยปล่อยไว้โดยไม่ได้รักษาเพราะรับรู้มาว่ามันเป็นแค่ก้อนไขมันเท่านั้น แต่หลังจากผ่านไปเกือบ 17 ปีกลับปรากฏว่าก้อนไขมันที่ว่านี้กลับมีขนาดโตขึ้นเรื่อยมาและส่งผลกระทบต่อการเดิน-การใช้ชีวิตประจำวันหนักขึ้น จนในที่สุดคุณหมอที่เมียนมาร์ก็แนะนำว่าควรต้องเข้ารับการผ่าตัดกำจัดออกโดยจำเป็นต้องตัดขาข้างที่เจอเนื้องอกออกด้วย ซึ่งทำให้ดิฉันตกใจอย่างยิ่ง ทำให้ต้องคิดหนักเพื่อหาทางรอดจากการถูกตัดขา พอดีว่าได้ไปคุยกับลุงของดิฉันซึ่งเคยเข้ารับการผ่าตัดกระดูกสันหลังที่ โรงพยาบาลสุขุมวิท มาก่อนและแกเล่าให้ฟังว่าตอนผ่าตัดไม่รู้สึกเจ็บเลย จึงแนะให้มารักษาที่โรงพยาบาลสุขุมวิท ทำให้ดิฉันตัดสินใจมาผ่าตัดตามที่ลุงแนะนำ ซึ่งเมื่อมาถึงคุณหมอก็ได้ตรวจให้อย่างละเอียดก่อนที่จะแนะนำขั้นตอนการรักษาอย่างละเอียด ที่ต้องทำทั้งการผ่าตัดบายพาสเส้นเลือด และการผ่าตัดเอาก้อนไขมันที่ขาออก โดยคุณหมอได้อธิบายด้วยว่าอาจมีปัญหาเรื่องกระดูก ที่อาจตามมาหลังผ่าตัด แต่ต้องถือว่าโชคดีที่ไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น คุณหมอก็เลยทำแค่บายพาสเส้นเลือดและผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกไขมันออกเท่านั้น จึงใช้เวลาผ่าตัดเร็วกว่าที่คุณหมอได้คาดหมายไว้ และหลังการผ่าตัดก็ไม่ได้รู้สึกเจ็บแผลเลย ซึ่งหลังจากได้นอนพักฟื้นราว ๆ 1-2 วันแล้วคุณหมอก็ให้ลุกเดินโดยไม่รู้สึกเจ็บอะไร… ขอบอกเลยว่าดีมาก…ขอขอบคุณคุณหมอด้วยค่ะ…ถ้ามีคนเมียนมาร์เจอปัญหาแบบเดียวกันนี้ดิฉันจะบอกเลยว่าไม่ต้องกลัว จะแนะนำให้มารักษาที่ประเทศไทย ที่ โรงพยาบาลสุขุมวิท ค่ะ…”
สรุปก็คือ “เนื้องอกไขมัน” เริ่มมาแฝงตัวอยู่ที่ขาของผู้ป่วยหญิงชาวเมียนมาร์รายนี้ตั้งแต่เจ้าตัวมีวัยเพียง 40 ปี ยังดีที่คุณหมอชาวเมียนมาร์ได้ผ่าตัดกำจัดออกไปรอบหนึ่งก่อนขณะที่ขนาดของมันยังไม่ใหญ่โตมากเท่าที่ออกฤทธิ์ครั้งต่อมา โดยที่ผู้ป่วยก็มิได้คาดคิดว่ามันจะเพิ่มขนาดโตขึ้นตามวันเวลาที่ผู้ป่วยยังใช้ชีวิตตามปกติ ก่อนที่จะรู้สึกผิดสังเกตในระยะหลัง ๆ จึงได้ไปปรึกษาหมอที่เมียนมาร์แล้วทราบว่า…ขนาดก้อนไขมันที่ขยายตัวมายาวนานถึง 17 ปีได้ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนพ่วงตามมาด้วยจนยากที่จะกำจัดก้อนไขมันได้โดยลำพัง หากแต่ผู้ป่วยยังจะต้อง “เสียขา” สังเวยฤทธิ์ก้อนเนื้องอกอีกต่างหาก!!!…
ไปติดตามรายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการทางการแพทย์ที่ “โรงพยาบาลสุขุมวิท” นำมาให้การรักษาผู้ป่วยรายนี้ได้เลยครับ…
ถือได้ว่าเป็น…‘กรณีศึกษา’ ที่ ‘มีคุณค่า’
คุณหมอเจ้าของไข้ผู้ป่วยหญิงชาวเมียนมาร์รายนี้มีนามว่า “นพ.ชินดนัย หงสประภาส” ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านเนื้องอกและมะเร็งของกระดูกและเนื้อเยื่อที่เกี่ยวพัน ได้ให้ข้อมูลซึ่งถือได้ว่าเป็น “กรณีศึกษา” ที่มีคุณค่ามากทีเดียวสำหรับอาการป่วยที่ไม่ค่อยจะมีเกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดย “คุณหมอชินดนัย” อธิบายสรุปว่า…
“…คนไข้เป็นชาวเมียนมาร์ซึ่งได้รับการรักษาจากที่เมียนมาร์มาก่อนเมื่อตอนที่มีก้อนอยู่ในขาข้างซ้ายเมื่อราว 20 ปีที่แล้วนะครับ และก็ได้รับการผ่าตัดไปตอนที่มีขนาด 20-30 เซนติเมตร ตามผลที่คุณหมอเขาแนบมาด้วยระบุว่าเป็นก้อนไขมันชนิดธรรมดานะครับ แต่หลังจากผ่าตัดได้สักพักก็เริ่มมีก้อนโตขึ้นมาใหม่ ซึ่งผู้ป่วยได้ปล่อยไว้จนมันโตขึ้นค่อนข้างเยอะประมาณ 30-40 เซนติเมตรและคนไข้รู้สึกว่าใช้ชีวิตลำบากแล้ว แต่เมื่อได้ไปปรึกษาคุณหมอที่เมียนมาร์แล้วได้รับการตรวจเอกซเรย์–เจาะชิ้นเนื้อไปตรวจแล้ว มีผลว่าเป็นมะเร็งชนิดอ่อนและน่าจะผ่าลำบากแล้ว ถ้าจะผ่าก็ต้องตัดขาเท่านั้น คนไข้ก็เลยตกใจ แล้วสรุปว่าได้ติดต่อปรึกษามาที่ โรงพยาบาลสุขุมวิท แล้วได้นัดมารักษาที่นี่ครับ…เมื่อมาตรวจด้วย MRI แล้วเห็นเลยว่ามีลักษณะของก้อนไขมันขนาดใหญ่มากอยู่ที่บริเวณขา หากดูภาพตัดขวางจะเห็นว่าเป็นก้อนทั้งหมดเกือบทั้งขา คือราว ๆ 70-80% เลย เมื่อเห็น MRI แบบนี้แล้ว น่ากังวลว่าเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงบริเวณขาด้านในซึ่งเป็นเส้นเลือดหลักมาเลี้ยงขาทั้งหมดได้ถูกตัวก้อนกินเข้าไปด้วย ซึ่งแปลว่าเจอความยุ่งยากแล้วถ้าต้องผ่าตัดเพราะอาจต้องตัดเส้นเลือดที่ว่านี้ไปด้วย…ก็แปลว่าต้องโดนตัดขาอยู่ดีครับ…เพราะฉะนั้นก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีหมอ 2 ทีมมาร่วมวางแผนการผ่าตัด โดยทีมผมรับหน้าที่ผ่าตัดเอาก้อนออกก่อน แล้วต่อด้วยทีมอาจารย์สุทัศน์มารับหน้าที่เข้าไปต่อเส้นเลือด เสร็จแล้วผมก็จะประเมินผล และพิจารณาบริเวณกระดูกหลังจากผ่าตัดเอาก้อนออกไปแล้วว่าจำเป็นต้องใส่เหล็กหรือไม่อย่างไร ซึ่งการผ่าตัด ณ วันนั้นใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง ก็ถือว่าเรียบร้อยดีครับ…
หลังผ่าตัดได้ราว 7 วันก็ให้คนไข้เดินโดยใช้ Walker มีผลค่อนข้างดีพอสมควร ถ้าดูแลเรื่องแผลให้ดี หากแผลแห้งแล้วเขาเดินได้มั่นคงเพียงพอ ก็ไปรับการทำกายภาพบำบัดเสริมความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อที่เหลืออยู่เพื่อชดเชยกับส่วนที่ถูกตัดออกไป ก็คิดว่าน่าจะดีขึ้นและกลับมาใช้งานได้ใกล้เคียงปกติได้ในราว 2-3 สัปดาห์หลังจากผ่าตัดแล้วครับ…”
ข้อมูลการทำ…‘ทางเบี่ยงเส้นเลือด’ ที่ ‘ขา’
มาดูกันต่อในประเด็นที่ “คุณหมอชินดนัย” ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านเนื้องอกและมะเร็งของกระดูกและเนื้อเยื่อที่เกี่ยวพัน “โรงพยาบาลสุขุมวิท” ได้อธิบายว่ากรณีการผ่าตัดให้ผู้ป่วยรายนี้จำเป็นต้องมีคุณหมอ 2 ทีมมาร่วมวางแผน โดยได้อธิบายว่า “ทีมของอาจารย์สุทัศน์” เป็นฝ่ายรับหน้าที่ “เข้าไปต่อเส้นเลือด” หลังจากผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดกำจัดก้อนเนื้องอกเป็นลำดับแรก ซึ่ง “หมอจอแก้ว” เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงอยากทราบรายละเอียดในส่วนนี้… ขอเชิญติดตามข้อมูลจาก “ผศ.นพ.สุทัศน์ ฮ้อศิริมานนท์” ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยกรรมหลอดเลือด ซึ่งเป็น “แพทย์ที่ปรึกษาประจำโรงพยาบาลสุขุมวิท” ได้เลยครับ…
“…เราได้ทำการตรวจอย่างละเอียด และสำคัญที่สุดคือทำ CT Scan เพื่อดูขนาดของก้อนกับดูเส้นเลือดที่เข้าไปหล่อเลี้ยงรวมทั้งเส้นเลือดที่ลงไปเลี้ยงที่เท้า ซึ่งเราพบว่าเส้นเลือดสำคัญเส้นนี้ถูกก้อนกดไว้จนอุดตันไปแล้วจึงได้หารือกับคุณหมอชินดนัยเกี่ยวกับเรื่องความเสี่ยงต่าง ๆ โดยได้อธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงโอกาสในการผ่าตัดก้อนออกได้หมด แต่อาจจำเป็นต้องตัดเส้นเลือดชุดนี้รวมทั้งเส้นเลือดแขนงเล็ก ๆ ในบริเวณใกล้เคียงออกด้วย ซึ่งจะเป็นโอกาสให้เกิดการขาดเลือดที่ขา ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของเขาเราจึงจำเป็นต้องตัดต่อเส้นเลือด ซึ่งเรียกว่าตัดต่อทำบายพาส โดยที่หลักการจะคล้าย ๆ กับการตัดถนนใหม่ โดยที่เราต้องดูว่าเส้นเลือดต้นทางยังใช้การได้ดีไม่มีการอุดตัน ส่วนเส้นเลือดปลายทางก็ต้องใช้งานได้สะดวกและมีขนาดใหญ่พอด้วย…ซึ่งปรากฏว่าผลการรักษาค่อนข้างดีครับ คือหลังจากที่เราต่อเส้นเลือดไปแล้วเลือดก็ไหลลงมาที่ขาได้แรงขึ้นตั้งแต่วันแรกที่ตัดต่อเลยครับ คือจากเดิมที่ไม่สามารถคลำเจอชีพจรที่บริเวณเท้าได้ก็สามารถคลำได้หลังจากต่อเส้นเลือดเสร็จ และพบว่าขาอุ่นขึ้นมาทันที โดยที่อาการทุกอย่างอยู่ในเกณฑ์ดีมีเลือดไปเลี้ยงอย่างเพียงพอ… ถือได้ว่าเป็นการรักษาโรคซับซ้อนอย่างหนึ่ง ซึ่งต้องอาศัยการดูแลร่วมกันโดยทีมของหมอ ไม่ว่าจะเป็นทีมของหมอชินดนัย หรือทีมของหมออายุรกรรม เพื่อร่วมกันดูแลความเสี่ยงต่าง ๆ พร้อมทั้งติดตามหลังจากผ่าตัดเนื่องจากเป็นการผ่าตัดใหญ่ มีการเสียเลือดพอสมควร ซึ่งต้องดูแลสัญญาณชีพต่าง ๆ เรื่องของแผลกับสภาวะทั่วไป เรียกว่า ต้องเตรียมความพร้อมสำหรับทีมสหสาขามาร่วมกันดูแล โดยต้องให้คนไข้อยู่ ICU ราว 1-2 วัน หลังจากที่ทุกอย่างเรียบร้อยดีหมดแล้วจึงจะย้ายผู้ป่วยไปอยู่ในหอผู้ป่วยธรรมดาเพื่อจะได้ติดตามดูแลต่อจนกลับบ้านได้ครับ…”
“อุ่นใจ…ใกล้หมอ” วันพุธนี้นำ “กรณีศึกษา” จากอาการป่วยกรณีนี้มานำเสนอเพื่อให้ได้ทราบถึงความก้าวหน้าของวงการแพทย์ในเมืองไทย ซึ่งถึงพร้อมด้วยเทคโนโลยีการรักษาผู้ป่วยให้รอดพ้นทุกข์จากสารพัดโรคภัยไข้เจ็บ รวมถึง “โรคซับซ้อน” ที่เกือบทำให้ผู้ป่วยจากประเทศเพื่อนบ้านของเราต้องสูญเสียอวัยวะที่ติดตัวมาแต่กำเนิดโดยมิได้คาดคิดมาก่อน.
หมอจอแก้ว