ทั้งนี้ ที่ว่าประโยชน์ของการร้องไห้ หรือ “ร้องไห้มีประโยชน์” นั้น ในที่นี้หมายถึงการร้องไห้แบบที่ไม่ใช่ “การแสดง” แบบที่ไม่ใช่การ “เสแสร้ง” แบบที่ไม่ “ปลอม” หากแต่เป็นการร้องไห้จริง ๆ…

ในทางวิทยาศาสตร์ทางจิตวิทยา

การร้องไห้” นั้น “มีแง่มุมที่น่าพินิจ

น้ำตา” นี่ “เป็นมากกว่าน้ำจากตา??”

กรณี “ร้องไห้” ที่เป็น “ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์” นั้น “ดราม่า?-ไม่ดราม่า?” ก็ว่ากันไป… ที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลนี่เป็นกรณี “ร้องไห้…ในทางวิทยาศาสตร์-ในทางจิตวิทยา” ที่มีผู้เชี่ยวชาญอธิบายเกี่ยวกับการ “ร้องไห้” การ “หลั่งน้ำตา” ไว้น่าสนใจ โดยเป็นข้อมูลจากบทความที่เผยแพร่อยู่ใน www.manarom.com โดย โรงพยาบาลมนารมย์ ที่หลักใหญ่ใจความนั้นมีว่า… การร้องไห้ “เป็นการตอบสนองตามธรรมชาติต่ออารมณ์ต่าง ๆ” ตั้งแต่ความเศร้า ความเสียใจ ไปจนถึงการมีความสุขท่วมท้น …นี่เป็นคำอธิบายเบื้องต้น “การร้องไห้” อีกหนึ่งพฤติกรรมสำคัญของมนุษย์

ในชุดข้อมูลดังกล่าวระบุถึง “ประโยชน์ของการร้องไห้” ไว้ว่า… ในทางการแพทย์มองการร้องไห้เป็นกระบวนการที่มีประโยชน์ โดยอดีตนักคิดและแพทย์ในสมัยกรีกโรมันโบราณต่างก็มองว่า น้ำตาเป็นเสมือนยาระบายที่จะช่วยชำระล้างเพื่อทำให้มนุษย์รู้สึกบริสุทธิ์ ขณะที่จิตวิทยายุคปัจจุบันก็เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวนี้เช่นกัน โดยมอง “น้ำตา” มอง “การร้องไห้” ในฐานะที่ เป็นกลไกสำคัญช่วยให้คนได้ปลดปล่อยเช่น ปลดปล่อยความเครียด ความเจ็บปวดทางอารมณ์…

การร้องไห้เป็นเหมือนวาล์วนิรภัยสำคัญ ที่จะปลดปล่อยออกมาหลังไม่สามารถเก็บความรู้สึกยาก ๆ ไว้ข้างในได้แล้ว โดยที่การฝืนไม่ให้ร้องไห้บ่อย ๆ อาจไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพ โดยงานวิจัยบางชิ้นพบความเชื่อมโยงระหว่างการรับมือกับปัญหาแบบเก็บกด (Repression) กับโรคหัวใจ หลอดเลือด ความดันโลหิตสูง ความเครียด ความวิตกกังวล และซึมเศร้าด้วย” …และนอกจากนี้ยังมีคำอธิบาย “น้ำตา” จากข้อมูลโดยโรงพยาบาลดังกล่าว ที่ระบุว่า…

นักวิทยาศาสตร์ได้จัดแบ่ง “น้ำตา” เป็น 3 ประเภทหลัก ๆ คือ… ประเภทที่ 1 น้ำตาที่ถูกผลิตขึ้นเมื่อมีสิ่งกระตุ้นทำให้เกิดการระคายเคือง (Reflex tears) ประเภทที่ 2น้ำตาที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อหล่อเลี้ยงดวงตาให้มีความชุ่มชื้น (Basal tears) โดยน้ำตา 2 ประเภทนี้จะทำหน้าที่สำคัญในการขจัดสิ่งสกปรก เช่น ควัน ฝุ่น ออกจากดวงตา พร้อมกับช่วยหล่อลื่นดวงตาเอาไว้เพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งส่วนประกอบของน้ำตา 2 ประเภทดังกล่าวจะมีน้ำเป็นส่วนประกอบถึงร้อยละ 98

ประเภทที่ 3 คือ น้ำตาที่ถูกผลิตขึ้นเมื่อมีอารมณ์สุขหรือเศร้า (Emotional tears)โดยน้ำตาที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์จะ ช่วยชะล้างฮอร์โมนความเครียด และสารพิษอื่น ๆ ออกไป ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพ …นี่เป็น “ประเภทน้ำตา”

ย้ำว่าหมายถึง “น้ำตาตามธรรมชาติ”

ร้องไห้” โดยที่ “ไม่ใช่น้ำตาดราม่า!!”

และบทความโดย โรงพยาบาลมนารมย์ ยังระบุถึง “ประโยชน์น้ำตาการร้องไห้” ไว้ด้วยว่า… นักวิจัยศึกษาพบว่าเมื่อคนเราร้องไห้ ร่างกายจะหลั่งสารออกซิโทซินและเอ็นดอร์ฟิน ซึ่งสารเหล่านี้เป็นสารเคมีที่ให้ความรู้สึกดี ๆ และมีสรรพคุณเด่นในเรื่องการ ช่วยบรรเทาความเจ็บปวด ทั้งทางร่างกาย และทางอารมณ์ ดังนั้นการร้องไห้จึงช่วยให้มีความรู้สึกที่ดีขึ้น

ส่วนที่หลายคนมี “ทัศนคติต่อการร้องไห้” โดยมองว่า “แสดงถึงความอ่อนแอ” นั้น ประเด็นนี้ก็มีข้อมูลเผยแพร่อยู่ใน www.alljitblog.com ซึ่งร่วมกับ วันเฉลิม คงคาหลวง นักจิตวิทยาการปรึกษา และเจ้าของแฟนเพจ Trust.นักจิตวิทยาการปรึกษา ให้ข้อมูลไว้ โดยสังเขปมีว่า… ในทางจิตวิทยาน้ำตาและการร้องไห้ไม่ได้หมายถึงความอ่อนแอ เนื่องจาก น้ำตาและการร้องไห้อาจเป็นได้มากกว่าที่หลายคนคิด อย่างไรก็ตาม การร้องไห้เป็นประเด็นสำคัญมากในสังคมไทย เนื่องจากมักจะมองการร้องไห้เป็นพฤติกรรมเชิงลบมากกว่าจะเป็นในเชิงบวก ส่งผลให้มักไม่ค่อยได้รับอนุญาตให้ร้องไห้กันมาตั้งแต่เด็ก ๆ…

พ่อแม่หรือผู้ใหญ่มักห้ามไม่ให้ลูก ๆ ร้องไห้ เพราะมองเป็นเรื่องของความอ่อนแอ ซึ่งความรู้สึกแบบนี้ก็จะคงอยู่ติดตัวเรามาจนโต จึงเป็นสาเหตุที่มักจะทำให้คนเรารู้สึกผิดเวลาที่ร้องไห้ออกมา ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการร้องไห้ เพราะสิ่งที่ควรทำเวลาที่ลูกร้องไห้ คือการโอบกอดปลอบโยนด้วยคำพูดที่ดี มากกว่าสั่งห้าม”

ทั้งนี้ เรื่องการ “ร้องไห้” เรื่อง “น้ำตา” นี่ในชุดข้อมูลโดย www.alljitblog.com ร่วมกับ วันเฉลิม คงคาหลวง ยังมีส่วนที่ระบุไว้ด้วยว่า… ควรเปลี่ยนแปลงทัศนคติใหม่ เพราะ ในทางจิตวิทยานั้นน้ำตาไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความอ่อนแอ แต่เป็นภาวะหนึ่งของร่างกายที่ทำงานสัมพันธ์กับอารมณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งถ้าสังเกตจะพบว่าถ้าคนเราไม่มีความสุขมาก ๆ น้ำตาก็จะไม่ไหลออกมา หรือถ้าไม่รู้สึกเจ็บมาก ๆ ก็จะไม่ร้องไห้ สะท้อนว่า… น้ำตาไม่ได้ถูกสร้างมาจากความอ่อนแอ หากแต่น้ำตานั้นได้ถูกสร้างมาเพื่อเป็นตัวแทนความรู้สึกในใจมากกว่า …นี่ก็เป็นมุมวิชาการว่าด้วยเรื่อง“ร้องไห้หลั่งน้ำตา”

ขณะที่ก็มีสำนวนที่ว่าน้ำตาจระเข้”

หมายถึงการ “ร้องไห้แบบไม่จริงใจ”

แบบว่า “บีบน้ำตา” หรือ “แหกตา!!”.

ทีมสกู๊ปเดลินิวส์