ทั้งนี้ หลายฝ่ายมองว่ากระแสอาร์ตทอยเป็นอีกโอกาสกระตุ้นเศรษฐกิจไทย และก็มีแนวคิดผลักดัน “ชูอาร์ตทอยไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์ไทย” ด้วย ซึ่งกับแนวคิดดังกล่าวนี้หากมีการผลักดันได้จริงจัง กรณีนี้ก็มีอีกหนึ่งกลุ่มอาร์ตทอยที่น่าสนใจและน่าที่จะได้รับการส่งเสริมเป็น “ซอฟต์พาวเวอร์ไทย” ได้ นั่นคือ “อาร์ตทอยท้องถิ่นไทย”

การผสมผสาน “อัตลักษณ์ท้องถิ่น”

กับ “รูปแบบน่ารัก” ของ “อาร์ตทอย”

น่าที่จะ “ชูเป็นซอฟต์พาวเวอร์ไทยได้”

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูล นี่เป็นส่วนหนึ่งของผลการศึกษาโดย รศ.ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่นำเสนอแนวคิดไว้ผ่านทาง เฟซบุ๊ก สกสว. โดยได้ระบุไว้ว่า… ของเล่นอาร์ตทอยคือรูปแบบหนึ่งของศิลปะร่วมสมัย ที่ไม่เพียงดึงดูดผู้คนด้วยความน่ารัก แต่ยังแฝงไปด้วยเนื้อหาที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่นได้ลึกซึ้ง ยิ่งปัจจุบันเป็นยุคที่การสื่อสารผ่านศิลปะมีความหลากหลายและทรงพลังมากขึ้น อาร์ตทอยจึงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสื่อสาร …นี่เป็น “ความสำคัญของอาร์ตทอย”ที่ไม่ได้เป็นเพียงของเล่น-ของสะสม

แต่ยังถูก “ใช้เพิ่มพลังการสื่อสาร” ด้วย

รศ.ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง

สำหรับการนำ “ของเล่นอาร์ตทอย” มายึดโยงเข้ากับ “วัฒนธรรมท้องถิ่น” นั้น เรื่องนี้ รศ.ดร.พลวัฒ สะท้อนไว้ว่า… ด้วยความที่อาร์ตทอยใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสื่อสารอารมณ์และความรู้สึกได้ ทำให้คนรุ่นใหม่จึงเลือกจะใช้อาร์ตทอยเป็นเครื่องมื่อในการเพิ่มพลังในการสื่อสาร เพื่อสะท้อนเนื้อหาเกี่ยวกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของท้องถิ่นไทย โดยได้นำเอา “แนวคิด” เรื่อง คาวาอี้ (Kawaii) หรือ ความน่ารักแบบญี่ปุ่น มาปรับใช้ในการสร้างสรรค์-สร้างอาร์ตทอยที่สื่อถึงความเป็นท้องถิ่นของไทย

รศ.ดร.พลวัฒ ได้ขยายความเรื่องนี้ไว้ว่า… แนวคิดคาวาอี้ หรือความน่ารักแบบญี่ปุ่นนี้ ถือเป็นหัวใจหลักสำคัญ ที่ทำให้อาร์ตทอยกลายเป็นสื่อที่เข้าถึงง่ายสำหรับคนทุกเพศทุกวัย โดยงานวิจัยของญี่ปุ่นได้ศึกษาพบว่า… “องค์ประกอบของความ Kawaii” นั้น ต้องประกอบด้วย 4 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ 1.รูปร่างกลมที่น่ากอด 2.การย่อส่วน 3.แสดงความเป็นเด็ก 4.ต้องเชื่อมโยงกับธรรมชาติ …อาจารย์สำนักวิชาศิลปศาสตร์ สะท้อนไว้ถึง 4 ปัจจัยสำคัญในการสร้างความคาวาอี้”

อย่างไรก็ตาม แต่เมื่อนำแนวคิดเหล่านี้มาปรับใช้กับวัฒนธรรมไทย หรืออัตลักษณ์ท้องถิ่นของไทย กรณีนี้ก็นำมาสู่คำถามที่ว่า… แล้วความน่ารักแบบไทยนั้นมีอยู่หรือไม่?” จนได้ข้อสรุปว่า… ความน่ารักแบบไทยมีอยู่” แต่เป็นเรื่องที่ยังต้องปรับปรุงพัฒนาเพื่อให้เข้ากับความรู้สึกและอารมณ์ความน่ารักได้ โดยเฉพาะ “ความน่ารักแบบท้องถิ่น” โดยได้มีการยกตัวอย่างผลงานศิลปินไทยรุ่นใหม่ ๆ ที่นำ “พลังของอาร์ตทอย” และ “แนวคิดคาวาอี้ของญี่ปุ่น” มา “ปรับใช้กับอัตลักษณ์ของไทย” เพื่อเป็น “สื่อกลาง” สำหรับการนำเสนอเรื่องราวจากวัฒนธรรม และตำนานพื้นบ้านท้องถิ่นของไทย…

ตัวอย่างเช่นการสร้างตัวละครจากตำนานพื้นบ้านไทย เรื่องปลาไหลเผือกในตำนานล้านนา ที่ได้มีการปรับเปลี่ยนเรื่องราวให้เข้าถึงได้ง่ายผ่านตัวละครในรูปแบบของอาร์ตทอย ซึ่งมีการถูกเล่าใหม่ในเชิงสร้างสรรค์เพื่อสื่อสารปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมผ่านมุมมองของคนรุ่นใหม่” …รศ.ดร.พลวัฒ ยกตัวอย่าง “อาร์ตทอยท้องถิ่น” สร้างสรรค์

เพื่อ “สื่อสารปัญหาในสังคมสมัยใหม่”

ขณะที่การ “สร้างพื้นที่สร้างสรรค์” ให้ “อาร์ตทอยเติบโต” นั้น อาจารย์ สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ระบุไว้ว่า… การเติบโตของอาร์ตทอยในไทย ก็ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ชุมชนศิลปะรุ่นใหม่ขยายตัว เช่นที่ จ.เชียงราย ก็เป็นตัวอย่างของการขับเคลื่อนเรื่องนี้ เนื่องจากถูกโฟกัสให้เป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ที่ส่งผลให้กลายเป็น Creative City ที่สำคัญอีกแห่งของไทย ขณะที่ “อาร์ตทอยท้องถิ่น” ก็นับเป็นหนึ่งในผลผลิตที่เกิดขึ้นจากเรื่องนี้ จากการเติบโตและความนิยมที่เพิ่มขึ้นของอาร์ตทอย กลายเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้กับท้องถิ่น

ทั้งนี้ รศ.ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง อาจารย์สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ยังได้ย้ำไว้ว่า… ของเล่นอาร์ตทอย” นั้น ปัจจุบันไม่ได้เป็นเพียงแค่ของเล่นที่ให้ความรู้สึกน่ารัก หรือแค่ของสะสมที่สวยงามเท่านั้น แต่อาร์ตทอยยัง เป็นเครื่องมือในการสื่อสารความรู้สึกของผู้คนในยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็นความเศร้า ความเหงา หรือความสุข ทั้งยังถูกใช้ เป็นเครื่องมือเพื่อสื่อสารทำให้คนในสังคมตระหนักถึงประเด็นปัญหาต่าง ๆ ของสังคมและผู้คน เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงใช้ เป็น “เครื่องมือถ่ายทอดอัตลักษณ์” ทั้งความเป็นวิถีวัฒนธรรมของท้องถิ่น ความเป็นไทย อีกด้วย…

ด้วยความที่อาร์ตทอยสื่อสารอารมณ์ร่วมสมัยได้ดี ศิลปินรุ่นใหม่จึงเลือกใช้อาร์ตทอยสื่อสารอารมณ์ที่บางครั้งไม่สามารถแสดงออกมาได้ผ่านคำพูด ซึ่งถ้าไทยสามารถนำจุดเด่นนี้มาผสานเข้ากับจุดขายความน่ารักแบบไทยแล้ว ไทยก็จะได้ประโยชน์อย่างมากกับเรื่องนี้”…รศ.ดร.พลวัฒ ระบุไว้ถึงสิ่งที่จะได้จาก “อาร์ตทอยคาวาอี้แบบไทย”

น่าตามจับตา “อาร์ตทอยท้องถิ่นไทย”

กับการ “ใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน”

รวมถึง “เป็นซอฟต์พาวเวอร์ไทย?”.

ทีมสกู๊ปเดลินิวส์