ทั้งนี้ ในทางกลับกัน กับการอยากรวย โดยเฉพาะ “อยากรวยเร็ว ๆ” ที่นับวันดูจะยิ่งเป็น “ทัศนคติการลงทุนยอดฮิตของคนยุคใหม่” นั้น ถ้า “ขาดสติ–โลภบังตา” ก็ย่อม “มีโอกาสสูงที่จะเป็นเหยื่อ”…
มีไม่น้อย “ติดกับดักอยากรวยเร็ว”
แม้ว่าจะ “รู้ดีว่าเสี่ยง…แต่ก็ยังเสี่ยง”
วันนี้…“พลิกแฟ้มพินิจกรณีนี้กัน??”
กับกรณี “ลวงลงทุน” ในภาพรวมทั่ว ๆ ไป เรื่องแบบนี้ในไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ ก็เป็นเรื่องเก่า เพียงแต่ว่า…เรื่องเก่าแบบนี้เมื่อเกิดขึ้นในยุคใหม่มูลค่าความเสียหายของบรรดาผู้ถูกลวงมักจะสูงมหาศาล และกับ “คนยุคใหม่” ที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ได้สะดวกง่ายดายนั้น ไม่น่าจะเป็นเหยื่อได้…แต่ก็เป็น!!ซึ่งน่าจะเป็นผลจาก “ทัศนคติ” เกี่ยวกับการออมและการลงทุน ดังที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” พลิกแฟ้มสะท้อนต่อข้อมูลชวนให้พินิจกันอีก อย่างเช่นข้อมูลจากบทวิเคราะห์โดย ณัฐณิชา ลอยฟ้า ซึ่งเผยแพร่ใน www.theprachakorn.com ที่สะท้อน “มุมมองคนยุคใหม่” ที่เปลี่ยนไปจากคนเจเนอเรชันในอดีต
ในบทความบทวิเคราะห์ดังกล่าวได้มีการนำผลการศึกษาของโครงการ “ความคาดหวัง การวางแผน และการเตรียมตัวของประชากรวัยทำงานต่างรุ่นอายุ และรูปแบบการอยู่อาศัยต่อชีวิตในวัยสูงอายุ” มาฉายภาพไว้ว่า… คนยุคใหม่กลุ่มเจเนอเรชัน Z และเจเนอเรชัน Y จะสนใจการออมที่เป็นการลงทุนมากกว่ากลุ่มเจเนอเรชัน X คนยุคเก่า โดยเฉพาะการลงทุนกับ…สังหาริมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ ตลาดหุ้น การทำธุรกิจ และบิตคอยน์แทนที่จะใช้วิธีออมเงินในแบบเดิม ๆ เหมือนดังเช่นที่คนรุ่นก่อน ๆ นิยมใช้กัน …นี่เป็นภาพสะท้อนถึงทัศนคติการออมที่เปลี่ยนไปเป็นการลงทุนของคนยุคใหม่ ๆ ในตอนนี้
ศ.วิทวัส รุ่งเรืองผล
ทั้งนี้ เกี่ยวกับเรื่องนี้กรณีนี้ ทางอาจารย์ประจำสาขาการตลาด ศ.วิทวัส รุ่งเรืองผล คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้เคยสะท้อนแง่มุมที่น่าพินิจผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ว่า… การที่คนยุคใหม่ไม่เลือกที่จะลงทุนผ่านวิธีการออมเงินแบบคนยุคเก่านั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าคนยุคใหม่จะไม่สนใจการออม เพียงแต่ว่า “คนยุคใหม่มีมุมมองเปลี่ยนไป” จึงไม่ค่อยสนใจวิธีลงทุนด้วยการออมแบบที่คนยุคเก่านิยม อย่างการฝากเงินในธนาคารไว้กินดอกเบี้ย ที่เป็นทั้งการออมและการลงทุนที่คนยุคเก่านิยมเลือกมากกว่าแบบอื่น ซึ่งสวนทางกับทัศนคติคนยุคใหม่ที่ไม่ค่อยสนใจวิธีนี้
สำหรับปัจจัยทำให้คนยุคใหม่ไม่สนใจวิธีออมเงินแบบเก่า ทาง ศ.วิทวัส วิเคราะห์และสะท้อนไว้ว่า… เพราะวิธีลงทุนแบบเก่าผ่านการออมเงินฝากนั้นปัจจุบันได้ผลตอบแทนน้อย อีกทั้งไม่ตอบสนองความคาดหวังในชีวิตของคนยุคใหม่ นี่ทำให้…
คนยุคใหม่สนใจการลงทุนรูปแบบใหม่ ๆ ถึงแม้จะรู้ดีว่า…ผลตอบแทนที่มากขึ้นย่อมตามมาด้วยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นก็ตามซึ่งปรากฏการณ์นี้สะท้อน “ความกล้าเสี่ยงของคนยุคใหม่” โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เป็น “นิวเจน”
“คนรุ่นเบบี้บูมหรือเจน X จะโตมาช่วงที่เศรษฐกิจไทยโตแบบก้าวกระโดด ตอนนั้นดอกเบี้ยเงินฝากยังมีอัตราที่สูงกว่า 10% ทำให้คนรุ่นก่อนนิยมฝากเงินเพื่อกินดอกเบี้ย ซึ่งไม่เหมือนกับปัจจุบัน ที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำเรี่ยดิน… ต่อให้เป็นการฝากเงินแบบฝากประจำ… เหตุนี้วิธีออมด้วยการฝากเงินจึงไม่ตอบโจทย์ชีวิตของคนรุ่นใหม่” …ทาง ศ.วิทวัส ระบุไว้
และพร้อมกันนี้ นักวิชาการท่านเดิมก็ได้ขยายความไว้ว่า… เมื่อผลตอบแทนไม่ตอบโจทย์ ด้วยเหตุนี้เองวิธีออมแบบคนยุคเก่าจึงไม่ดึงดูดใจคนยุคใหม่ และก็ทำให้ คนในเจเนอเรชัน Y และ Z เลือกมองหา “รูปแบบใหม่ ๆ” ที่จะ “ลงทุน” และออม เช่น ลงทุนในสังหาริมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ ทำธุรกิจส่วนตัว ลงทุนในตลาดหุ้น หรือแม้แต่บิตคอยน์ แม้จะรู้ว่า “ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นตามผลตอบแทนที่หวังว่าจะได้มากขึ้น” แต่ก็ “กล้าที่จะเสี่ยง” กัน โดยสาเหตุที่คนยุคใหม่ คนรุ่นใหม่ กล้าเสี่ยงลงทุนแบบเสี่ยง ๆ นั้น เพราะ…ค่อนข้างจะ “อดทนต่ำ–ใจร้อน” เพราะ…หวัง “อยากเปลี่ยนชีวิตให้ได้เร็ว ๆ”
ศ.วิทวัส รุ่งเรืองผล ยังได้ระบุผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ว่า… ด้วยความที่มีฐานรายได้ยังไม่สูง จึงทำให้คนยุคใหม่มีทุนชีวิตน้อย ประกอบกับมีความอดทนต่ำกว่าคนยุคก่อน คนยุคใหม่มักใจร้อน “อยากรวยเร็ว ๆ”ด้วยเหตุนี้ก็จึงพยายามมองหาวิธีเพิ่มผลตอบแทนที่ได้มาก จนกระตุ้นให้คนยุคใหม่กล้าที่จะเสี่ยง หรือเลือกการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงมากขึ้นนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบางคนจะสำเร็จได้ดังที่หวัง แม้ว่าการลงทุนบางรูปแบบอาจจะสามารถเปลี่ยนฐานะได้-พลิกชีวิตได้ แต่ทางนักวิชาการท่านเดิมก็ชี้เตือนไว้ว่า… ก็ต้องไม่ลืมว่า เมื่อมีคนที่“สำเร็จ” ก็ย่อมมีคนที่ “ล้มเหลว” เช่นกันซึ่งแม้ความล้มเหลวก็ถือเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ดี ที่สามารถนำมาเป็นบทเรียนชีวิตได้ แต่ก็ขอย้ำเตือนว่า… การตัดสินใจเลือกวิธีลงทุนใหม่ ๆ ในยุคนี้ยิ่งควรต้องศึกษาและวิเคราะห์ให้ดี เพื่อจะลดความเสี่ยงให้เหลือน้อยที่สุดก็ต้องศึกษาวิเคราะห์จนมั่นใจจริง ๆ ว่ารูปแบบที่จะเลือกนั้นตนเองมีความรู้มากพอที่จะตัดสินใจเลือก เหมาะสมกับตนเองแล้ว รวมถึงกรณี “ถูกต้อง??”
ทั้งนี้ ทิ้งท้าย ณ ที่นี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ขอเสริมไว้ด้วยว่า… ประเด็น “ถูกต้อง” นั้น “สำคัญ” ทั้งกับคนที่คิดจะลงทุน รวมถึงคนที่ “ลงทุนทำธุรกิจชักชวนผู้อื่นร่วมลงทุน” เพราะถ้าไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย”…
“หวังรวยเร็ว” โดยเป็นการ “ลวงผู้อื่น”
แม้ “ก็อาจรวยเร็วได้…แต่ก็ไม่ยั่งยืน”
ก็ดังที่เห็น ๆ “โป๊ะแตกจบเห่อื้ออึง!!”.
ทีมสกู๊ปเดลินิวส์