นี่เป็นส่วนหนึ่งจากการสะท้อนกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้โดย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งที่น่าสนใจคือ… ศูนย์นี้มีการ นำ “วัสดุจากธรรมชาติในชุมชน” มา “ประยุกต์ใช้รักษาโรคเรื้อรังให้กับประชาชน” โดยเป็น “นวัตกรรมท้องถิ่น” ที่ “ช่วยสู้โรค” ได้…

เช่น…“กะลามะพร้าว” และ “จาวตาล”…

ที่ “ช่วยรักษาโรค” และลดสมองเสื่อม”

ทั้งนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทพ.อรรถพร ได้นำคณะ ที่รวมถึง มงคล บางประภา ในฐานะอนุกรรมการสื่อสารสังคมและรับฟังความคิดเห็น ภายใต้บอร์ด สปสช. ลงพื้นที่ รพ.สต.บางกระเจ็ด ดูงานการ ใช้นวัตกรรมจากวัสดุธรรมชาติในชุมชนมาประยุกต์ใช้รักษาโรคเรื้อรัง ดูแลผู้สูงอายุ ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการ ซึ่งสนับสนุนโดย กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น (กปท.) บางกระเจ็ด อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา โดย ศูนย์ร่วมสุขชุมชน รพ.สต.บางกระเจ็ด เป็นตัวอย่างการ“ดูแลผู้สูงอายุโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน” ซึ่งในการลงพื้นที่ก็มี พระครูสุพัฒนพิมล เจ้าอาวาสวัดบางกระเจ็ด, ฐพัชร์ โตสงค์ นายก กปท.บางกระเจ็ด, วีรวิทย์ เทพวัติ ปลัดอาวุโสอำเภอ รักษาราชการแทนนายอำเภอบางคล้า, ศักดิ์ชัย วินิจสกุลไทย สาธารณสุขอำเภอบางคล้า, จาฏุพัจน์ เอี่ยมศิริ ผอ.รพ.สต.บางกระเจ็ด พร้อม ชมรมผู้สูงอายุ ให้การต้อนรับและให้ข้อมูล

ฐพัชร์ โตสงค์ ให้ข้อมูลไว้ว่า… กปท. บางกระเจ็ด ตั้งขึ้นเมื่อปี 2551 และขับเคลื่อนการดำเนินการสนับสนุนส่งเสริมการเสริมสร้างสุขภาพ ป้องกันโรค ฟื้นฟูสมรรถภาพ รักษาพยาบาลระดับปฐมภูมิที่จำเป็นต่อสุขภาพ ให้แก่กลุ่มแม่และเด็ก เด็กวัยเรียน เยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยง และกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่อยู่ในพื้นที่ อย่างต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ซึ่งสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุนั้นได้ให้การสนับสนุนการดำเนินโครงการของ รพ.สต.วัด โรงเรียน และชมรมผู้สูงอายุ

“ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ ตั้งแต่ปี 2553 ถึงปัจจุบัน มี 8โครงการ เช่น โครงการป้องกันพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ โครงการสนับสนุนผ้าอ้อมผู้ใหญ่ และโครงการส่งเสริมสุขภาพอื่น ๆ รวมวงเงินประมาณ 3 แสนบาท”

ทพ.อรรถพร รองเลขาธิการ สปสช. ให้ข้อมูลกับ“ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” โดยสังเขปมีว่า… ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะสังคมสูงอายุเต็มตัวแล้ว จากข้อมูลตัวเลขอายุคนไทยที่กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้บันทึกไว้ พบว่า… ณ สิ้นปี 2565 ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมีจำนวน 12,698,362 คน คิดเป็น 19.21% ของประชากรไทยทั้งหมด 66,090,475 คน ซึ่งในจำนวนผู้สูงอายุกว่า 12 ล้านคนนี้ เป็นชาย 5,622,074 คน และหญิง 7,076,288 คน

และในจำนวนดังกล่าวนี้ กลุ่มอายุที่มีมากที่สุด หรือประมาณครึ่งหนึ่ง คือกลุ่มอายุ 60-69 ปี ซึ่งผลสำรวจที่ลึกลงไปกว่านั้น จากฐานข้อมูลประชากรของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบข้อมูลว่า… ณ สิ้นเดือน มี.ค. 2566 ในประเทศไทยมีกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 100 ปีขึ้นไปจำนวน 36,986 คน โดยเป็นชาย 18,456 คน และเป็นหญิง 18,530 คน ซึ่งเพิ่มมากขึ้นประมาณ 7,000 คน เมื่อเปรียบเทียบกับ 10 ปีที่แล้วที่มีจำนวน 29,935 คน เป็นชาย 14,604 คน หญิง 15,331 คน

ทาง ทพ.อรรถพร ระบุอีกว่า… ด้วยจำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทยที่มีมากขึ้น จึงต้องมีการจัดระบบดูแลที่มากกว่าการดูแลในโรงพยาบาล ซึ่ง การดูแลในชุมชนเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดที่จะดูแลผู้สูงอายุ และผู้พิการ ในระยะยาว ได้…

“ที่ผ่านมา สปสช. ก็ได้สนับสนุนการจัดระบบการดูแลในชุมชนอย่างต่อเนื่อง เช่น มีการจัดตั้งกองทุน Long Term Care เพื่อดูแลผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง การใช้งบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ หรือ กปท. ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพในทุกกลุ่มวัย รวมถึงส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ หรือการมีกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพในระดับจังหวัดเพื่อช่วยดูแลกลุ่มผู้ป่วยระยะกลาง และผู้พิการ เป็นต้น เช่นเดียวกับ ศูนย์ร่วมสุขชุมชน…ที่ก็เป็นอีกรูปแบบการจัดบริการสุขภาพที่เน้นชุมชนเป็นฐานในการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ และผู้พิการ ในทุกๆ มิติ ภายใต้การสนับสนุนของ กปท. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” …รองเลขาธิการ สปสช. ให้ข้อมูล

ทพ.อรรถพร ยังได้สะท้อนข้อมูลผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มาด้วยว่า…  นอกจากนี้ สปสช. ยังมีการทำโครงการอื่น ๆ โดย “ยึดผู้สูงอายุเป็นศูนย์กลาง” เช่น การสนับสนุนผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ติดตามเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุ ผู้พิการ การนำนวัตกรรม “ชักรอกกายภาพ” เข้ามาช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง โดยการดูแลของ Care Manager และ Care Giver เป็นต้น

“สปสช. พยายามดูตัวอย่างการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จในหลาย ๆ พื้นที่ เพื่อจะถอดบทเรียนและเผยแพร่สู่พื้นที่อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำเป็นตัวอย่างโครงการเพื่อให้พื้นที่อื่น ๆ นำไปประยุกต์ใช้ การเพิ่มสิทธิประโยชน์” …นี่เป็นอีกส่วนจากการสะท้อนข้อมูลถึงประชาชน …ซึ่งพื้นที่ตัวอย่างก็รวมถึง บางกระเจ็ด ดังที่ระบุมาข้างต้น

ทั้งนี้ การ“ใช้กะลามะพร้าวช่วยรักษาโรค” การ“ใช้จาวตาลช่วยลดความเสื่อมของสมอง” หรือ “ใช้นวัตกรรมชักรอกกายภาพช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยติดบ้าน-ติดเตียง” …ตัวอย่างเหล่านี้ยึดโยง “อีกกรณีสำคัญทางสุขภาพ”…

การ “ใช้วัสดุท้องถิ่นสู้โรค” ก็ “น่าสนใจ”

“ยิ่งน่าสนใจ”…กรณี “ชุมชนช่วยผู้ป่วย”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง…“ช่วยผู้สูงอายุ”.