ทั้งนี้ กับมุม “ความเชื่อ”เชิง “ไสยศาสตร์” กับความเชื่อที่ในไทยมีการนำคำของประเทศอื่น คือคำว่า “มูเตลู” มาเรียกขานจนติดปากคุ้นหูกันโดยทั่วไปนั้น…ความเชื่อมุมนี้ “ขยายวงไม่หยุด”…
แม้ “วิทยาศาสตร์ก้าวไกลขึ้นเรื่อย ๆ”
แต่ “ไสยศาสตร์ก็แพร่หลายขยายวง”
และ “บ่งชี้ถึงภาวะจิตใจของผู้คน??”
เกี่ยวกับ “มูเตลูฟีเวอร์-ไสยศาสตร์ฟีเวอร์” ซึ่งในไทยฟีเวอร์นานแล้ว และก็ดูจะฟีเวอร์มากขึ้นเรื่อย ๆ นั้น วันนี้ ณ ที่นี้ชวนย้อนดูแง่มุมชวนคิด วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อ-สะท้อนย้ำข้อมูลเชิงวิชาการ ข้อมูลที่อธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว… โดยทาง ผศ.ดร.กัญญา วัฒนกุล นักวิชาการ ศูนย์ไทยศึกษา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สะท้อนเรื่องนี้ไว้ในบทความวิชาการซึ่งจัดทำโดย ธิติรัตน์ สมบูรณ์ ที่เผยพร่อยู่ใน เว็บไซต์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หลักใหญ่ใจความในส่วนนี้มีว่า… ไสยศาสตร์งอกงาม รวมถึงในสังคมเมืองก็เป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นในสังคมเมือง? จึงทำให้ผู้คนเข้าหา-พึ่งพิงไสยศาสตร์ รวมถึงควรจะค้นหาว่า… วันนี้ผู้คนกำลังแสวงหาอะไร? หรือรู้สึกอะไรกันภายใต้ภาวะสังคมที่เป็นอยู่ตอนนี้? …นี่เป็นประเด็นที่ทางนักวิชาการศูนย์ไทยศึกษาได้ชวนสังคมไทยตั้งคำถาม
ขณะที่ ผศ.ดร.เกษม เพ็ญภินันท์ นักวิชาการ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ระบุถึงเรื่องนี้ไว้น่าสนใจ กล่าวคือ… เมื่อ ไสยศาสตร์คือสิ่งที่ตอบโจทย์ให้กับมนุษย์ทุกยุคทุกสมัยได้โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สังคมมนุษย์กำลังเผชิญกับความปั่นป่วนโกลาหล ทำให้ไสยศาสตร์จึงไม่เคยกลายเป็นของตกยุค ตั้งแต่โบราณนานมา จนถึงยุคสังคมสมัยใหม่ แม้จะมีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาในชีวิตมากขึ้น แต่ผู้คนก็ยังไม่ละทิ้งเกี่ยวกับเรื่องไสยศาสตร์ ซึ่งจริง ๆ แล้ว ในทางปรัชญานั้น วิทยาศาสตร์และไสยศาสตร์ก็ไม่ต่างกัน ในแง่ที่เป็นระบบความคิดของมนุษย์ ที่พยายามสร้างคำอธิบายให้กับสิ่งที่ไม่เข้าใจ เพื่อหวังให้เข้าใจโลก หวังให้เข้าใจตัวเอง และหวังให้เข้าใจชีวิต…
“หวังตอบโจทย์ชีวิต” ในอนาคต…
ชีวิต “ที่ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง??”
นอกจากนี้ ก็ยังมีแง่มุมเชิงวิชาการที่มีการสะท้อนไว้โดย ผศ.ดร.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ นักวิชาการ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ก็ได้สะท้อนเรื่อง “มูเตลู–ไสยศาสตร์” ไว้ในมุมมองคล้าย ๆ กัน…เกี่ยวกับ “ปัจจัยที่ส่งเสริมวิถีปฏิบัติต่อสิ่งเหนือธรรมชาติในบริบทเมือง” โดยทางนักวิชาการท่านนี้สะท้อนไว้บางช่วงบางตอนว่า…หลายคนอาจมองไสยศาสตร์เป็นเรื่องลี้ลับหรืองมงาย แต่ถ้าทำความเข้าใจลึกลงไปจะพบว่า… ไสยศาสตร์เป็นเครื่องมือที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตเมือง ที่มีความผันผวนและเปลี่ยวเหงาสูง…และก็ช่วยทำให้เข้าใจสภาวะจิตใจของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองด้วย
ทั้งนี้ สลับกลับมาที่ ผศ.ดร.กัญญา นักวิชาการศูนย์ไทยศึกษา จุฬาฯ ที่ได้วิเคราะห์และสะท้อนมุมมองต่อกรณีนี้ไว้ในบทความ “มองอย่างเข้าใจไสยศาสตร์ในวิถีเมือง…ตัวช่วยรับมือโลกป่วนและความเปลี่ยวเหงา” ว่า… การที่ไสยศาสตร์งอกงามในสังคมเมือง ผู้คนยุคใหม่หันมาพึ่งพิงเรื่องนี้กันเพิ่มขึ้น อาจเพราะแม้ในโลกสมัยใหม่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์อาจให้คำตอบและสะท้อนความจริงหลายอย่าง แต่ สิ่งที่วิทยาศาสตร์ไม่อาจทำหน้าที่แทนไสยศาสตร์ได้คือ…มิติด้านความรู้สึก
นักวิชาการท่านนี้ระบุไว้อีกว่า…บางครั้ง ความจริงก็อาจไม่ตอบโจทย์ทางอารมณ์ เช่น ความเศร้า ความหวังและด้วยช่องว่างนี้ก็ทำให้ไสยศาสตร์เข้ามาเติมเต็ม แม้บางเรื่องหรือบางครั้งดูจะไม่เมคเซนส์เลยก็ตาม…แต่ก็ทำให้บางคนเกิดความรู้สึกอุ่นใจมากกว่าความจริงที่เป็นเหตุเป็นผลหรือเป็นคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์… นอกจากนั้น สิ่งที่ทำให้ ไสยศาสตร์แข็งแกร่งในสังคมสมัยใหม่ ได้ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะไสยศาสตร์มีการผนึกความรู้สึกร่วมของผู้คนและสังคมเข้าไปด้วยนั่นเอง
และกับประเด็นนี้ ในส่วนของ ผศ.ดร.เกษม ก็สะท้อนไว้เช่นกันว่า… ใน สังคมเมืองยุคใหม่ไสยศาสตร์ถูกใช้เป็นตัวช่วยที่สำคัญเพื่อรับมือโลกป่วนและช่วยบริหารความเสี่ยงด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่พื้นที่เมืองปัจจุบันนอกจากจะเป็นศูนย์กลางความเจริญทางวัตถุ-เทคโนโลยีแล้ว ยังเป็นแหล่งรวมความเชื่อและวิถีปฏิบัติเชิงไสยศาสตร์ที่หลากหลายด้วย
ส่วน ผศ.ดร.กัญญา ก็สะท้อนไว้ด้วยว่า… การที่ไสยศาสตร์กลายเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงในชีวิตของคนสังคมเมืองนั้น เนื่องจาก ชีวิตในสังคมเมืองเต็มไปด้วยความไม่มั่นคง–ไม่แน่นอนทั้งจากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและโอกาสในชีวิต ผู้คนจำนวนมากจึงหันเข้าหาความเชื่อเชิงไสยศาสตร์ ทั้งนี้ก็เพื่อรับมือกับเหตุฉุกเฉิน และความไม่แน่นอนของชีวิต จนเป็นปัจจัยที่ทำให้คนเมืองพึ่งไสยศาสตร์… “ปัจจัยที่ทำให้คนหันไปพึ่งพิงสิ่งเหนือธรรมชาติ หรือพึ่งพิงมูเตลูเพิ่มขึ้นนั้น เป็นเพราะโครงสร้างสังคมไม่โอบเอื้อต่อชีวิต รวมถึงเกิดจากการที่คนไทยตอนนี้มีความเหงามากขึ้น ทำให้คนต้องการแสวงหาที่พึ่งทางใจ ท่ามกลางการต้องใช้ชีวิตอยู่ในสังคมเมืองอันโกลาหล”…ทางนักวิชาการชี้ไว้
ตอบคำถามที่ว่า “ผู้คนแสวงหาอะไร?”
“จนทำให้ไสยศาสตร์เฟื่องฟู” ในยุคนี้
โดยที่ “ไม่ตั้งสติให้ดีอาจเป็นเหยื่อ!!”.
ทีมสกู๊ปเดลินิวส์