ทั้งนี้ กับ “ภัยคลั่ง” ที่เป็น “ผลจากการที่มีคนไทยเป็นทาสสิ่งเสพติดกันมาก” นี่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” เคยสะท้อนเตือนตั้งแต่หลายปีมาแล้วว่าเป็น “ระเบิดเวลาอีกลูกหนึ่งในสังคมไทย” และเมื่อราว 2 ปีกว่า ๆ ที่ผ่านมาก็ได้ชี้เน้นไว้ว่า “ระเบิดเวลาลูกนี้บึ้มแล้ว!!” ขณะที่ “ผลร้ายจากการบึ้มก็ขยายวงระดับวิกฤติ!!”…

เหยื่อคลั่ง” ในไทย “เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ”

แม้แต่ “คนใกล้ตัวคนคลั่งก็เป็นเหยื่อ”

ทั้งนี้… “การใช้สารเสพติดแม้ใช้ไม่นานก็ตาม แต่พิษร้ายนั้นจะติดอยู่ในร่างกายไปอีกนาน และสุดท้ายก็อาจเกิดอาการเสียความเป็นตัวตนของตัวเอง ประสาทหลอน คลุ้มคลั่ง ทำร้ายได้แม้แต่คนที่รัก!!”…นี่เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งจากที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้เคยสะท้อนไว้ จากการให้ข้อมูลความรู้ต่อสังคมไว้โดย ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม นักจิตวิทยา ที่ปรึกษาโครงการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ มศว เกี่ยวกับ “ภัยคลั่งจากพิษสิ่งเสพติด”

กับเรื่องการเสพสิ่งเสพติด การใช้สารเสพติดนั้น ก่อนอื่นพลิกแฟ้มดูข้อมูลโดย กรมสุขภาพจิต กันสักหน่อย กล่าวคือ… สารเสพติดจะมีผลต่อสมอง 2 ส่วน คือ สมองส่วนคิด (Cerebral Cortex)” กับ “สมองส่วนอยาก (Limbic System)” โดยสารเสพติดจะเข้าไปกระตุ้นสมองให้หลั่งโดปามีน (Dopamine) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดความสุข ออกมามากกว่าปกติ ทำให้รู้สึกว่ามีความสุขอย่างมากและรวดเร็ว รู้สึกเกิดความพึงพอใจมากกว่าปกติ แต่ เมื่อหมดฤทธิ์สารเสพติดแล้วจะเกิดปัญหาตามมา จะทำให้ผู้เสพมีอาการหงุดหงิด ซึมเศร้า ดังนั้นจึงพยายามแสวงหาสิ่งเสพติดสารเสพติดมาใช้ซ้ำ เรื่อย ๆ

และประเด็นที่ยิ่ง “ต้องตระหนัก” คือ… ผู้ที่ “เสพสิ่งเสพติด” จะทำให้ “สมองส่วนคิดถูกทำลาย” ทำให้ “การใช้ความคิดที่เป็นเหตุเป็นผลสูญเสียไป” โดยที่ “สมองส่วนอยากจะมีอิทธิพลเหนือสมองส่วนคิด” โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่อยากสารเสพติด ทำให้ผู้เสพติดทำอะไรตามใจตามอารมณ์มากกว่าเหตุผล ดังนั้น จึงมักแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม หรือมีอารมณ์หงุดหงิด ก้าวร้าว ใช้ความรุนแรง ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ รวมถึงเกิดอาการทางจิตประสาท หรือเกิดการ…

คลั่ง!!…เพราะเป็นทาสสิ่งเสพติด!!”

พลิกแฟ้มโฟกัสกันที่การ “คลั่ง!!” กรณีที่มีความ “โยงใยย้อนโยงไปที่สิ่งเสพติด” กับกรณีนี้ทาง ดร.วัลลภ สะท้อนผ่า “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ให้ตระหนักกันว่า… “สิ่งเสพติดทุกชนิดมีผลต่อสมองทั้งสิ้น!! แม้ว่าจะเลิกเสพแล้ว แต่สารเสพติดที่เคยเสพเข้าไปในร่างกายก็ยังคงมีผลต่อสมองอยู่ มันทำให้สมองเกิดเปลี่ยนแปลง มีผลทำลายสมอง ทำให้ความคิด พฤติกรรม เกิดการผิดเพี้ยน หรือควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้” …นี่เป็นการระบุไว้ถึงต้นตอการ “คลั่ง!!”…

ทาสสิ่งเสพติด” ที่สุดก็ “ไม่พ้นคลั่ง”

แม้ “เลิกเสพนานแล้วก็เกิดคลั่งได้!!”

ดร.วัลลภ ยังได้เคยให้ข้อมูลผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ขยายความกรณี “คลั่ง…ภัยสิ่งเสพติดในอีกสเต็ป” เอาไว้อีกว่า… “ผู้ที่เสพสิ่งเสพติด เมื่อใช้สิ่งเสพติดบ่อย ๆ เป็นเวลานาน ๆ แม้ว่าจะเลิกแล้วก็ตาม แต่ก็จะยังมีสิ่งที่ยังหลงเหลืออยู่ในร่างกาย คือพวกสารเคมีต่าง ๆ ที่มีผลต่อสมอง ซึ่งทำให้สมองเกิดความเสียหายไปแล้ว!!” โดยสมองส่วนที่ถูกทำลายไปคือสมองส่วนความคิด สมองส่วนการควบคุมอารมณ์ ทำให้มีผลต่อพฤติกรรม แสดงออกอย่างไม่เหมาะสม ก้าวร้าว หงุดหงิดง่าย มีอารมณ์แกว่ง ไม่สามารถจะควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ เมื่อสมองส่วนความคิดถูกทำลาย จึงทำให้…

ไม่สามารถจะควบคุมความคิดได้!!”

ทั้งนี้ ผู้ที่เสพสิ่งเสพติด หากเสพมาไม่นาน ไม่ถี่ไม่บ่อย แล้วคิดได้จึงเลิก และเข้ารับการรักษาต่อเนื่อง โอกาสที่สมองจะฟื้นฟูขึ้นบ้างก็มีมากขึ้น แต่ ถึงอย่างไรก็มีผลร้ายต่อสมองไปแล้ว!! ยิ่งกับผู้ที่เสพเป็นเวลานาน แม้จะเลิกและบำบัดรักษาแล้วก็ตาม แต่สมองก็ถูกทำลายไปมากแล้ว… ผู้ที่ติดสารเสพติดเป็นเวลานาน แม้เลิกแล้ว แต่ก็มีโอกาสเป็นไปได้ที่จะมีอาการทางจิตเวช โดยเฉพาะพวกยาบ้า ซึ่งเมื่อสารเสพติดมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสารเคมีในสมองไปแล้ว ก็จะทำให้สมองเสื่อม เกิดอาการทางจิต เช่น หวาดระแวง หูแว่ว ประสาทหลอน เห็นภาพหลอน คลั่ง” …ผู้สันทัดกรณีชี้ไว้

และก็บอกถึงกรณี “คลั่งจากพิษสิ่งเสพติดแม้จะเลิกแล้ว” ไว้ว่า… เมื่อสภาพสมองเป็นดังว่า “หากมีสิ่งกระตุ้น หรือดื่มแอลกอฮอล์ ก็มีโอกาสเกิดอาการควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ ยับยั้งชั่งใจไม่ได้ คลุ้มคลั่งอาละวาด นำไปสู่ความรุนแรงในสังคม ดังที่พบเห็นกันมากมาย อย่างการคลั่งไล่ทำร้ายผู้อื่น หรือแม้แต่กับคนในครอบครัวตนเอง”

ทาง ดร.วัลลภ ระบุไว้ด้วยว่า… ถ้าพบใคร แม้แต่คนในครอบครัว โดยเฉพาะที่เสพหรือเคยเสพสิ่งเสพติด มีพฤติกรรมแยกตัว หงุดหงิดโมโหง่าย เสียงดัง กระวนกระวาย พูดบ่นคนเดียว ระแวงว่าจะมีคนทำร้าย หรือพูดว่าจะทำร้ายผู้อื่น ให้ระวัง ให้ออกห่าง และรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ …โดย “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็หวังว่าเจ้าหน้าที่จะมีความพร้อม “ป้องกันภัยคลั่ง”ซึ่งก็ต้อง…

ฝากรัฐบาลหนุนเจ้าหน้าที่ “สกัดคลั่ง”

หนุนทำหน้าที่แบบ “กันไว้ดีกว่าแก้”

เพราะ “เกิดแล้วมักสายเกินแก้!!”.

ทีมสกู๊ปเดลินิวส์