ทั้งนี้ นักประชากรศาสตร์ของไทยชี้ไว้ว่า…ถ้า แนวโน้ม “อัตราการเกิดของไทยยังลดลง” ต่อเนื่อง อีกไม่ช้าไทยอาจ “เผชิญปัญหาขาดประชากรวัยทำงาน” ซึ่งขณะนี้สังคมไทยยังตระหนักถึงปัญหานี้น้อยเกินไป และก็มีการเสนอให้พิจารณา “นโยบายนำเข้าประชากร”…

“มีข้อเสนอ” โดย “นักประชากรศาสตร์”

ว่า “ไทยควรปรับเปลี่ยนมุมมองเรื่องนี้”

และก็ “ปลดล็อกนโยบายรับมือปัญหา”

ทั้งนี้ เกี่ยวกับ “ข้อเสนอแนะ” นั้น มีนักวิชาการ-นักประชากรศาสตร์ได้เสนอไว้ผ่านเวทีเสวนาเชิงนโยบาย “แรงงานไทยหายไป…แรงงานข้ามชาติเข้ามาทดแทนได้หรือไม่?” จัดโดย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล หลังจากที่ไทยมีแนวโน้มอัตราการเกิดน้อยลง สวนทางกับจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่มีสูงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยอาจจะกระทบกับโครงสร้างทางประชากรของไทย และก็รวมถึง “กระทบระบบแรงงานประเทศไทย” ในอนาคตด้วย ซึ่งก็ได้มีการเสนอให้ไทยนำ “นโยบายนำเข้าประชากร” มาใช้ โดย “มุ่งเน้นที่การจูงใจแรงงานข้ามชาติทักษะสูง” ให้เข้ามาทำงานที่ไทย…

ยุคนี้ “หลายประเทศมีการใช้นโยบายนี้”

จน “มีสงครามแย่งชิงแรงงานทักษะสูง”

ในเวทีเสวนาดังกล่าว ทาง ศ.เกียรติคุณ ดร.อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์ ได้สะท้อนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ไว้ว่า…เวลานี้ประเทศไทยยังกังวลเกี่ยวกับปัญหานี้น้อยเกินไป ทั้ง ๆ ที่ข้อมูลตัวเลขด้านนี้เริ่มสะท้อนออกมาให้เห็นชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะ “ช่องว่าง” ระหว่าง “ประชากรผู้สูงอายุ-ประชากรเด็กเกิดใหม่” ที่เริ่ม “ถ่างกว้างขึ้นเรื่อย ๆ” จนคาดการณ์กันว่า…ภายในปี 2603 จำนวนเด็กเกิดใหม่ของไทยจะลดลงจากกว่า 1,000,000 คนต่อปี เหลือเพียงแค่ 600,000 คนต่อปี และเมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะส่งผลทำให้ จำนวนแรงงานไทยกว่า 14.4 ล้านคนหายไป!! จากในระบบ …นี่จึงนำมาสู่ “แนวคิดนำเข้าประชากร”…

เพื่อ “ทดแทนประชากรวัยแรงงานไทย”

ที่เป็น “หนึ่งในตัวเลือกการแก้ปัญหานี้”

กับการ “เพิ่มประชากรวัยแรงงาน” ด้วยการ “นำเข้าแรงงานข้ามชาติ” มาทดแทนนั้น ถึงแม้หลายฝ่ายจะยอมรับถึงความเป็นไปได้ของแนวทางนี้ แต่ก็ “ยังมีประเด็นที่ต้องถกเถียง”  รวมถึงได้มีการเสนอให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งพูดคุยเพื่อร่วมกันคิดอย่างจริงจังในการหาทางรับมือปัญหา… และเรื่องนี้ทาง ศ.เกียรติคุณ ดร.อภิชาติ ก็ได้มีการสะท้อนไว้ว่า…เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ทางสหประชาชาติได้คาดการณ์เอาไว้ว่า…เมื่อสิ้นสุดศตวรรษที่ 21 หรือในอีก 77 ปีข้างหน้า ประเทศไทยอาจต้องสูญเสียประชากรไป 1 ใน 3 ซึ่งจะทำให้ ไทยเป็นประเทศที่ประชากรลดหายไปสูงเป็นอันดับที่ 2 ของโลก!! …ซึ่งถ้าหากเกิดสถานการณ์เช่นนี้ขึ้นจริงตามการคาดการณ์ของสหประชาชาติ…จะ ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก!! ของประเทศไทย

“ประชากรลดลงถือเป็นวิกฤติใหญ่ ซึ่งความมั่นคงทางประชากรมีความสำคัญเท่า ๆ กับความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือความมั่นคงทางการเมือง… หลายประเทศจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้” …ศ.เกียรติคุณ ดร.อภิชาติ ชี้ไว้

และด้วยเหตุที่ปัญหานี้เป็นเรื่องใหญ่ เกี่ยวพันกระทบในหลายมิติ ดังนั้นหลาย ๆ ประเทศจึงหันมาให้ความสนใจ โดยขณะนี้บางประเทศที่จำเป็นต้องใช้แรงงานเพื่อพัฒนาประเทศได้เริ่มมีการนำนโยบายที่เรียกว่า “Replacement Migration Policy (RMP)” หรือ “นโยบายการจัดการการย้ายถิ่นจำนวนมากเพื่อทดแทนประชากรที่ลดลง”มาใช้แล้ว โดยนโยบายดังกล่าวนี้ก็เป็นหนึ่งในแนวคิดที่ทางสหประชาชาติได้เสนอแนะกับประชาคมโลกไว้ ซึ่งหลาย ๆ ประเทศในทวีปยุโรปและอเมริกาก็ได้มีการนำเอานโยบายดังกล่าวไปใช้มานานกว่า 20 ปีแล้ว ในขณะที่ เรื่องนี้ยังเป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทย อยู่

แล้ว ไทยควรจะต้องดำเนินยุทธศาสตร์เรื่องนี้อย่างไร?? เพื่อให้ตอบโจทย์-เพื่อลดปัญหา…เมื่อต้อง “นำเข้าประชากรมาทดแทน” …กับประเด็นนี้ ศ.เกียรติคุณ ดร.อภิชาติ ก็ระบุแนวทางไว้ เริ่มจาก “ต้องปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่” เกี่ยวกับ “แรงงานข้ามชาติ” เนื่องจากอุปสรรคใหญ่ของไทยคือ สังคมไทยยังมีความเกลียดกลัวต่างชาติ (xenophobia) โดยแนวทางที่จะลดอุปสรรคจากเรื่องนี้ได้คือ “ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมคัดสรร” ซึ่งน่าจะช่วยลดอคติและอุปสรรคได้

ถัดมา“ต้องกำหนดคุณสมบัติที่ต้องการให้ชัดเจน” ว่า…สังคมไทยต้องการประชากรทดแทนแบบไหน เพื่อนำไปสู่การออกแบบสังคม นโยบายการนำเข้าประชากร ระบบคัดกรอง โดย ไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เพราะจะทำให้ได้ประชากรหรือแรงงานที่สังคมไม่ต้องการ กับอีกประการก็คือ “ต้องวางแผนระยะยาว” ที่ต้องดำเนินการต่อเนื่องทุกปี ตามจำนวนและเป้าหมายที่กำหนดไว้ รวมถึง “ต้องดำเนินนโยบายภายใต้หลักสิทธิมนุษยชน-มุมมองแบบสากล” เพื่อจะ ป้องกันปัญหาจากอคติเชื้อชาติและการละเมิดสิทธิ …เหล่านี้เป็นข้อเสนอแนะเพื่อ “รับมือปัญหาที่จะเกิดกับไทย”

ปัญหานี้ “มิใช่แค่เรื่องนายจ้าง-ลูกจ้าง”

นี่ก็ “เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคง”…

ที่…“ก็ต้องตามดูวิชั่นรัฐบาลใหม่??”.