ทั้งนี้จูงใจคนไม่ใช่เรื่องร้าย ที่ร้ายนั้นอยู่ที่คนทำที่ “เจตนาไม่สุจริต!!” โดยการจูงใจคนก็ถือเป็นศาสตร์รูปแบบหนึ่ง ที่ในการทำธุรกิจก็มีการใช้เป็นเรื่องปกติ ซึ่งถึงแม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ มีมาเนิ่นนาน-มีการใช้กันมาตลอด…แต่ปัจจุบันก็ยังใช้ได้ผล ขณะที่ในทางจิตวิทยาก็มีข้อมูลแง่มุม วิธีการกลยุทธ์”ที่ “น่าพิจารณา” เช่นกัน…

ย้ำว่า “กลยุทธ์จูงใจคน” นั้น “ไม่ร้าย”

ใช้ดีใช้โดยสุจริต” ก็จะ “มีประโยชน์”

ส่วน “ที่ก่อโทษมีโทษก็เพราะใช้ร้าย!!”

สำหรับเรื่องนี้…ที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูล เป็นข้อมูลจากบทความชื่อ “จิตวิทยาผู้บริโภค : หลักการทางจิตวิทยาที่มักนำมาใช้ในการโฆษณา” โดย รศ.ดร.ธีระพร อุวรรณโณ ที่มีการเผยแพร่ไว้ทาง เว็บไซต์คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งโดยสังเขปมีว่า… นักการตลาด นักโฆษณา ได้นำหลักจิตวิทยาหลายเรื่องมาใช้ “จูงใจ” ดังนี้…

เทคนิคที่หนึ่ง… จูงใจด้วยการนำหลักบรรทัดฐานของสังคมมาใช้ เทคนิคนี้เป็นการจูงใจคนด้วยการชี้ให้เห็นว่า… สินค้าที่โฆษณาเป็นสินค้าที่ใคร ๆ ก็ใช้กัน ซึ่งเทคนิควิธีนี้มักใช้ได้ผลดีกับผู้บริโภควัยรุ่น เนื่องจากเป็นวัยที่ต้องการได้การยอมรับจากเพื่อน ซึ่งการทำตัวให้เหมือนเพื่อนเป็นหนทางหนึ่งที่จะได้การยอมรับ, เทคนิคที่สอง… จูงใจโดยใช้วิธีการเปรียบเทียบกับสินค้าอื่นโดยภาพรวม เช่น บอกว่าสินค้าของตนนั้นทนทานกว่าสินค้าอื่นในท้องตลาด หรือบอกว่ามีคุณภาพดีกว่า

ถัดมา เทคนิคที่สาม… จูงใจโดยทำให้เป้าหมายอารมณ์ดี เพื่อประโยชน์ในการโฆษณา เทคนิคนี้ใช้หลักการที่ว่า…ถ้าทำให้กลุ่มเป้าหมายอารมณ์ดี กลุ่มเป้าหมายก็จะมีความรู้สึกที่ดีต่อสินค้าที่โฆษณาไปด้วย ซึ่งรูปแบบที่มักมีการนำมาใช้ในเทคนิควิธีนี้ ได้แก่ การ ใช้ศิลปิน ดารา นักร้อง บุคคลที่มีชื่อเสียง ที่ได้รับความนิยมมาก หรือ ใช้หนุ่มหล่อสาวงามมาเป็นผู้เสนอสินค้า รวมถึงบางครั้งอาจจะ นำเรื่องของความตลกขำขันเข้ามาใช้ ด้วย เพื่อช่วยในการโฆษณาและ “จูงใจ”

เทคนิคที่สี่… จูงใจโดยใช้เทคนิคเสนอขายของที่มีจำนวนจำกัด ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเห็นว่าของที่เสนอขายมีจำกัด หรือหมดแล้วหมดเลย ซึ่งถ้าหากซื้อช้าก็อาจซื้อสินค้านั้นไม่ได้อีกแล้ว, เทคนิคที่ห้า… จูงใจโดยใช้เทคนิคการลดราคาสินค้าในเวลาที่จำกัด เช่น ลดราคาเฉพาะวันศุกร์เท่านั้น หรือลดราคาพิเศษเฉพาะช่วงเวลา หรือสามารถซื้อสินค้านั้น ๆ ได้ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของวันเท่านั้น โดยนำเอาเทคนิคการตั้งชื่อมาใช้เพื่อตั้งชื่อช่วงเวลานั้น ๆ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายจำได้ง่าย

อีกเทคนิค เทคนิคที่หก… จูงใจโดยใช้กลยุทธ์การให้สิทธิพิเศษ กำหนดระยะเวลาที่ผู้บริโภคจะได้สิทธิพิเศษถ้ารีบซื้อในเวลาที่กำหนด ซึ่งจะยิ่งช่วยเพิ่มพลังการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคหรือกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ช่วยทำให้เกิดการรีบตัดสินใจซื้อได้ไวขึ้น เช่น ถ้าโทรฯ สั่งสินค้าที่โฆษณานั้นภายในเวลา 15 นาที จะได้รับของแถมพิเศษ หรือได้ซื้อสินค้าในราคาพิเศษ

นี่เป็น “กลยุทธ์จูงใจคน” ที่ใช้ ๆ กัน

และก็มี “จิตวิทยาผู้บริโภค” อื่น ๆ อีก

อย่างเช่น… ใช้สี” เพื่อ“จูงใจ”นี่ก็เป็นอีกวิธีที่นิยมนำมาใช้ ซึ่ง สีแต่ละสีมีผลต่ออารมณ์คน โดยที่นิยมนำมาใช้ก็จะมีดังนี้… สีฟ้า” เป็นสีที่เชื่อมโยงกับบุคลิกภาพผู้มีอำนาจ และเป็นสีที่ได้มีการศึกษาพบว่าคนทั่วโลกชอบมากที่สุด โดยอาจเพราะเป็นสีที่ผู้คนคุ้นตามากที่สุด นอกจากนั้น ถ้าเป็นผู้ชายมักมองหาสินค้าที่ใส่กล่องสีฟ้า ทำให้สินค้าหลายอย่างที่ทำสำหรับเด็กชาย ผู้ชาย จึงมักจะมีสีฟ้าอยู่, สีเขียว” เป็นสีที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย และแทนความเป็นธรรมชาติ ความมีชีวิตชีวา

สีเหลือง” ตาคนจะเห็นได้รวดเร็ว ให้ความรู้สึกถึงความระมัดระวัง ความแปลกใหม่ ความอบอุ่น, สีแดง” เชื่อมโยงความตื่นเต้น ความหลงใหล ให้อารมณ์รับรู้ถึงรสนิยมที่ดี โดยเพศหญิงและชายจะชอบต่างกันเล็กน้อย เช่น ผู้หญิงชอบสีแดงอมน้ำเงิน ผู้ชายชอบสีแดงอมเหลือง, สีขาว” แสดงถึงความสะอาด ละเอียดอ่อน ความเป็นทางการ ถ้าใช้กับอาหารจะให้ความรู้สึกมีประโยชน์, สีดำ” แสดงถึงพลังอำนาจ ความลึกลับ ถ้าเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จะแสดงถึงความมีเทคโนโลยีสูง

สีเงินทองทองคำขาว” เป็นสีที่แสดงถึงความร่ำรวย ถ้าใช้กับสินค้าจะสื่อถึงการเป็นสินค้าราคาแพง, สีน้ำตาล” แสดงถึงความไม่เป็นทางการ ความเป็นชาย ถ้ากาแฟใช้ฉลากสีน้ำตาลเข้มก็มักทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเป็นกาแฟรสเข้มข้น, สีส้ม” เป็นสีที่เชื่อมโยงความมีอำนาจ ความไม่เป็นทางการ และราคาพอซื้อหาได้ ก็เป็นอีกสี “จูงใจ” ที่สะดุดตาคนได้ง่าย

ทั้งนี้ ย้อนไปที่เทคนิคจูงใจที่แจกแจงไว้ข้างต้นสักหน่อย ซึ่งในบทความเกี่ยวกับหลักจิตวิทยาผู้บริโภคกรณี “จูงใจ” โดย รศ.ดร.ธีระพร อุวรรณโณ ที่เผยแพร่ทาง เว็บไซต์คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังมีส่วนที่ระบุไว้ด้วยว่า… สำหรับ 3 เทคนิคหลังจะใช้หลักการคล้ายคลึงกัน คือ… เน้นทำให้คิดไปเองว่ามีข้อจำกัด ด้านปริมาณสินค้า เวลาขาย สิทธิพิเศษ ซึ่งในมุมของผู้บริโภคนั้น…ก็เป็นเรื่องที่ ต้องเท่าทันและตระหนักว่าสิ่งที่ถูกชักชวนหรือถูก “จูงใจ” นั้นเป็นสิ่งที่ตนเองสนใจหรือกำลังต้องการหรือไม่??ถ้าพิจารณาแล้วไม่ใช่ก็ไม่ควรคล้อยตาม …ซึ่งการ “เท่าทัน”นี่ก็ “น่าพินิจ” ไว้…

ในไทย “เซ็งแซ่กับหลายคดีที่อื้ออึง”

ก็จะดีถ้า “ถอดบทเรียนเพื่อเท่าทัน”

เพื่อ “ป้องกันถูกจูงใจจนถูกลวง!!”.

ทีมสกู๊ปเดลินิวส์