โดยมีการวิตกกังวลกันว่า…เรื่องนี้อาจกระทบระบบสาธารณสุข กระทบกับการให้บริการประชาชน จากการที่ “ขาดแคลนหมอ-มีบุคลากรไม่พอ” จนต้องมีการเรียกประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ดังที่ปรากฏตามหน้าสื่ออยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่เรื่องดังกล่าวนี้จะค่อย ๆ เงียบไป…

บางคนสงสัยว่าเงียบไปเพราะแก้แล้ว?

หรือเงียบไปเพราะยังหาข้อสรุปไม่ได้?

ทั้งนี้ ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลในวันนี้ ก็กรณีนี้ คือความพยายามที่จะ“ร่วมหาทางออก-ร่วมหาวิธีแก้” ปัญหานี้ที่เป็น “โจทย์สำคัญของระบบสุขภาพ”  ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ทางสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับทีมวิจัยเอกชน บริษัท ลูกคิด จำกัด ก็ได้มีการเผยผลการศึกษาวิจัยเรื่อง “การออกแบบการจ้างงานและสิทธิประโยชน์รูปแบบใหม่ที่ตอบสนองต่อความต้องการในอนาคตเพื่อสร้างแรงจูงใจกำลังคนสุขภาพของภาครัฐ” โดยงานวิจัยนี้มีเป้าหมายศึกษาและพัฒนาทางเลือกรูปแบบการจ้างงานและสิทธิประโยชน์ใหม่ ๆ ศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการเข้ามาทำงาน…

โฟกัสที่บุคลากรสุขภาพ 4 วิชาชีพหลัก

“แพทย์-ทันตแพทย์-เภสัชกร-พยาบาล”

รายงานวิจัยดังกล่าวนี้จัดทำขึ้นหลังจากพบว่า…สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้ บุคลากรในระบบสุขภาพจำนวนมากต้องรับภาระงานหนัก โดยบางคนต้องทำงานมากกว่า 80-100 ชั่วโมง/สัปดาห์ จนส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต จึงมีเสียงสะท้อนจากกำลังคนสุขภาพที่อยากจะให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการทำงาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เป็นเสมือนการ ผลักกำลังคนด้านสุขภาพให้ออกไปจากระบบ หรือป้องกันปรากฏการณ์ สมองไหล จากการที่บุคลากรเลือกไปเข้าสู่โรงพยาบาลเอกชน หรือไปทำงานต่างประเทศ …ซึ่งนี่เป็นประเด็นสำคัญของระบบสุขภาพไทย

สำหรับผลศึกษาวิจัยที่พบ…เริ่มจากประเด็น “รายได้-ค่าตอบแทน” ซึ่งกลุ่มตัวอย่างมองเป็นปัจจัยสำคัญที่จูงใจให้คนเข้าทำงานในระบบราชการ ที่มั่นคงมากกว่าเอกชน แม้จะ ได้รับค่าตอบแทนน้อย หรือไม่สอดคล้องกับภาระงานที่ทำ ก็ตาม เนื่องจากมีแรงจูงใจจากสวัสดิการรักษาพยาบาลที่ครอบคลุมทั้งตนเองและครอบครัว มีการคุ้มครองการฟ้องร้องกรณีเกิดความผิดพลาดในการรักษา อย่างไรก็ตาม แต่เรื่องนี้บุคลากรคนรุ่นใหม่กลับเห็นต่าง โดยมองว่าโรงพยาบาลเอกชนได้ค่าตอบแทนสูงกว่า สอดคล้องกับภาระงานมากกว่า อีกทั้งระบบเอกชนช่วยให้บริหารชีวิตแบบ Work life balance ได้

ประเด็นที่สอง“ภาระงานของระบบราชการ” ซึ่งกลุ่มตัวอย่างให้ข้อมูลว่า มักมีงานอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการแพทย์ เช่น งานเอกสาร งานคุณภาพ งานบริหาร ซึ่งต้องทำ และไม่สามารถปฏิเสธได้ ที่เป็นอีกปัญหาที่บั่นทอนประสิทธิภาพการทำงานระยะสั้น ส่งผลต่อกำลังใจการทำงานระยะยาว และรบกวนเวลาส่วนตัวซึ่งเป็นประเด็นที่บุคลากรรุ่นใหม่ให้ความสำคัญ 

ถัดมา…ประเด็น “การเติบโตในวิชาชีพ” เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญของคนทำงานยุคปัจจุบัน ที่มองหาความก้าวหน้าในการทำงาน ซึ่งสัมพันธ์กับระบบประเมินบุคลากรทางการแพทย์ โดยในโรงพยาบาลรัฐมักจะเป็นการประเมินจากหัวหน้าแบบให้โควต้า หรือ มีการจำกัดจำนวนคนในการให้ผลการประเมิน ที่ส่งผลกับระดับการเลื่อนขั้นหรือค่าตอบแทนต่าง ๆ และบางกรณีอาจพบผลประเมินที่ไม่สอดคล้องกับผลงานและศักยภาพที่แท้จริงของคนทำงาน รวมถึงมีหลักประเมินไม่ชัดเจน

และจากประเด็นที่ค้นพบนี้ จึงนำไปสู่กระบวนการคิดและระดมความเห็นจากกลุ่มตัวอย่าง จนได้ “ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย” เกี่ยวกับ “ทางเลือกรูปแบบการจ้างงานสำหรับวิชาชีพสุขภาพ” ดังนี้… 1.จ้างงานแบบยืดหยุ่น โดยเพิ่มตัวเลือกการจ้างงานที่เป็นแบบไม่ประจำให้มากขึ้น 2.จ้างงานนอกเวลาแบบเอกชน โดยเพิ่มการจ้างงานบุคลากรแบบเอกชน ในการให้บริการนอกเวลา 3.จ้างงานผ่านเขตสุขภาพ โดยเปลี่ยนผู้จ้างบุคลากรสาขาเฉพาะทาง เป็นเขตสุขภาพแทนโรงพยาบาล 4.จ้างงานผ่านหน่วยบริการนอกระบบของรัฐ โดยขยายการอุดหนุนงบด้านสาธารณสุขไปที่หน่วยบริการเอกชนด้วย 5.ปรับงบประมาณจ้างงาน ปรับเปลี่ยนการให้งบจ้างบุคลากรในโรงพยาบาล จากงบรายหัวเป็นเงินงบประมาณ

นี่เป็น 5 ข้อเสนอแนะเพื่อการแก้ปัญหา

ที่ “เน้นกรณีจ้างงาน” ด้วยรูปแบบต่าง ๆ

ทั้งนี้ จากผลศึกษาและข้อเสนอแนะจากงานวิจัยนี้ ทาง ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการ สวรส. ได้ให้ความเห็นโดยระบุไว้ว่า… ปัญหาการกระจายบุคลากรสุขภาพที่ไม่เท่าเทียมกันในแต่ละพื้นที่ เป็นปัญหาเรื้อรังในระบบสุขภาพมานานกว่า 10 ปี จนพ่วงไปสู่ปัญหาอื่น ๆ โดยที่ผ่านมาภาครัฐมีความพยายามที่จะผลิตบุคลากรให้มากขึ้นเพื่อเติมเต็มความต้องการของระบบ แต่ก็ยังพบปัญหาในหลากหลายมิติ ซึ่ง “รูปแบบการจ้างงาน”และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่มี “ข้อเสนอแนะ” เกี่ยวกับการ “ปรับเปลี่ยน” นั้น ก็เป็นประเด็นที่ควรทบทวน และร่วมกันออกแบบระบบจ้างงานให้ดีมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน…

เพื่อ “ตอบโจทย์บริบทบุคลากรสุขภาพ”

อาจเริ่มทำในรูปแบบของพื้นที่ทดลอง

ถ้าได้ผลดี “ก็น่าจะบรรเทาปัญหา” ได้.