ทั้งนี้ ที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” บอกว่ามีคอกนานแล้ว นานที่ว่าคือมีคอกให้ใช้ล้อมก่อนวัวหาย หรือเพื่อป้องกันเกิดเรื่องร้ายแบบนี้กับเด็ก ๆ นานกว่า 10 ปีมาแล้ว!!…
จะ “ล้อมคอกก่อนวัวหาย” กับกรณีนี้…
กับ “คอกที่มีชัดเจน…ก็มีตั้งแต่ปี 2555”
ก็น่าคิด…“ใครทำให้ล้อมไม่ค่อยได้???”
ทั้งนี้ ย้อนไปเมื่อปี 2555 ได้มีการจัดทำ “คู่มือเลือกรถทัศนศึกษา–รถทัศนาจร” เพื่อให้สถานศึกษาต่าง ๆ ได้ นำไปใช้เป็น “แนวทางความปลอดภัยสำหรับเด็กนักเรียน” ซึ่งจัดทำโดยความร่วมมือของ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.), มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.), ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ที่ได้นำอุบัติเหตุในอดีตมาใช้เป็นกรณีศึกษาเพื่อจัดทำ “มาตรฐานความปลอดภัย” กรณีรถทัศนาจรของนักเรียนที่หลักใหญ่ใจความมีดังนี้…
“การเลือกบริษัทรถ” แนวทางที่มีคู่มือแนะนำไว้คือ… ควรจะต้องเลือกบริษัทที่เป็นนิติบุคคล ไม่ควรเลือกบริษัทรถที่เป็นตัวบุคคลรายเดี่ยว เนื่องจากถ้าเป็นนิติบุคคลจะมีการดูแลจากทางสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารไม่ประจำทาง
“สภาพรถ” มีการกำหนดไว้ว่า… ผู้ว่าจ้างควรต้องตรวจสอบสภาพรถก่อนการเดินทาง ในทุก ๆ ครั้ง ว่ามีความปลอดภัยเหมาะสมหรือไม่? โดยรถควรมีลักษณะดังนี้… เป็นรถชั้นเดียว เพราะหากเป็นรถ 2 ชั้นจะมีข้อจำกัดเรื่องการทรงตัวซึ่งอาจเป็นสาเหตุสำคัญของการพลิกคว่ำ, มีเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง เพราะในสถานการณ์คับขัน หรือเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เข็มขัดนิรภัยจะช่วยรักษาชีวิตผู้โดยสารได้ถึงร้อยละ 30, เบาะที่นั่งมีสภาพเหมาะสม เช่น นั่งสบาย ไม่ชำรุด ยึดติดกับที่ ไม่เป็นแบบสไลด์ หรือถอดเข้าออกได้เพื่อเพิ่มที่นั่งจนน็อตหลวม, ต้องมีอุปกรณ์นิรภัยติดตั้งบนรถ เช่น ที่ทุบกระจก ถังดับเพลิง
“ตำแหน่งที่นั่ง” การจัดวางที่นั่ง ไม่ควรชิด หรือแออัดเกินไป และ ต้องมีช่องว่างระหว่างแถวที่เหมาะสม หรือมีระยะกว้างพอสมควร เช่น ระยะห่างระหว่างแถวไม่ควรน้อยกว่า 90 เซนติเมตร …เหล่านี้เป็น “หลักพิจารณาเบื้องต้น”
และเพื่อให้สถานศึกษาใช้แนวทางคำแนะนำเป็น “คู่มือความปลอดภัยสำหรับนักเรียน” ได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ในคู่มือที่มีการร่วมจัดทำไว้โดย มสช., มทส., ศวปถ. ก็ได้ให้คำแนะนำลงลึกที่น่าสนใจเอาไว้อีกหลาย ๆ ส่วน รวมถึง…
“รถสำหรับใช้พานักเรียนไปทัศนศึกษา” นั้น “ต้องมีอายุรถไม่เกิน 5 ปี” และในรถนั้นก็ควรต้องมีป้ายอธิบายการใช้งานอุปกรณ์นิรภัยชัดเจน อาทิ วิธีใช้ที่ทุบกระจก, วิธีใช้ถังดับเพลิง, วิธีใช้ประตูฉุกเฉิน เป็นต้น
ขณะที่ในส่วนของ “พนักงานขับรถ” ก็มีคำแนะนำระบุไว้ในคู่มือ เช่น… ต้องคุ้นเคยเส้นทาง และ ควรเลือกเส้นทางที่ปลอดภัยที่สุด ซึ่งการไม่คุ้นเส้นทางเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตัดสินใจผิดพลาดได้ และ ถ้าเดินทางมากกว่า 400 กิโลเมตร บริษัทหรือเจ้าของรถต้องใช้พนักงานขับรถ 2 คน สับเปลี่ยนกัน โดยกฎหมายกำหนดไม่ให้ขับรถติดต่อกันเกิน 4 ชั่วโมง และที่สำคัญเช่นกันคือ มีใบตรวจสภาพรถระยะเวลาไม่ควรเกิน2 เดือน …นี่ก็เป็นแนวทางตามคู่มือฉบับนี้
และนอกจากคู่มือดังกล่าวแล้ว ก็ยังมี “ข้อเสนอแนะ” โดย ศวปถ. หรือ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ที่ได้ทำเป็นหนังสือเสนอต่อกรมการปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2558 หลังจากในปีนั้นได้ เกิดอุบัติเหตุรถทัศนศึกษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ควรต้องใส่ใจ โดยมีการเสนอในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้คือ… ควรจัดทำแผนเดินทาง–แผนสำรองฉุกเฉิน ในการเดินทางแต่ละครั้งอย่างละเอียด, ควรใช้เช็กลิสต์ทุกครั้งในขั้นตอนคัดเลือกรถ เพื่อจะใช้, ควรทำสัญญาจัดจ้างที่ครอบคลุม โดยเฉพาะประวัติผู้ขับขี่ ผู้ประกอบการ และสภาพรถ ที่จะใช้, ควรมีสัญญาประกันชดเชยเยียวยาที่ชัดเจนครอบคลุม และสามารถยกเลิกไม่ใช้รถได้ทันทีกรณีไม่เป็นไปตามที่ระบุไว้, ควรมีผู้ควบคุมประจำรถเพื่อควบคุมดูแลความปลอดภัยต่าง ๆ ตลอดการทัศนศึกษา …นี่เป็นส่วนหลัก ๆ จากข้อเสนอแนะที่หน่วยงานด้านความปลอดภัยทางถนนมีการจัดทำและนำเสนอกับหน่วยงานของรัฐไว้ เพื่อหวังให้มีการนำไปใช้กับกรณี “รถทัศนศึกษา”
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาในไทยก็มีการเกิด “อุบัติเหตุรถทัศนศึกษา”อยู่เรื่อย ๆ ที่ผ่านมามี “อุบัติเหตุรถทัศนาจร”เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งย้อนดูกันแค่เฉพาะในปี 2567 นี้ นอกจาก “โศกนาฏกรรม”ล่าสุดแล้ว ช่วงต้น ๆ ปีก็มีเกิดขึ้นหลายครั้ง เช่น… วันที่ 4 ม.ค. ที่ จ.ปทุมธานี เกิด อุบัติเหตุรถบัสทัศนศึกษาชนกันเอง จนนักเรียนและครูได้รับบาดเจ็บ 25 คน, วันที่ 2 มี.ค. ที่ จ.นครราชสีมา รถทัศนศึกษาชนกับรถบรรทุกอ้อย บนถนนสีคิ้ว-ชัยภูมิ จนนักเรียนและครูบาดเจ็บ 47 คน, วันที่ 17 มี.ค. เกิดเหตุ รถบัสทัศนศึกษาชนกับรถเก๋ง รถบัสเสียหลักตกข้างทาง มีผู้เสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บกว่า 40 คน
ทั้งนี้ ว่าที่จริงกับรถที่ต้องมีการบรรทุกผู้โดยสารนั้น ก็มีข้อกำหนดกฎระเบียบที่รัดกุมอยู่แล้ว และยิ่งผู้โดยสารเป็นเด็ก ๆ เป็นนักเรียน ก็มีแนวทางมีคู่มือแนะนำเพิ่มเติมไว้อีก ซึ่ง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” เชื่อว่าสถานศึกษาก็ย่อมต้องใส่ใจ “มาตรฐานความปลอดภัยของรถ” แต่…ที่เอาเข้าจริง “ความไม่ปลอดภัยกรณีรถทัศนศึกษาของเด็กนักเรียนยังคงเกิด” นั้น…
หรือว่า…“มีเกณฑ์ปลอดภัยก็มีไปสิ?”
และ…“มีคู่มือเลือกก็มิใช่ว่าจะชัวร์?”
เพราะ…“ไม่ปลอดภัยจริงก็วิ่งได้?”.
ทีมสกู๊ปเดลินิวส์