“ที่นี่เคยเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์มาก ชาวบ้านเองก็มีรายได้จากป่า จนมีนายทุนข้างนอกเข้ามาสนับสนุนให้ชาวบ้านปลูกมันสำปะหลังและอ้อย แค่เวลา 2-3 ปีเท่านั้น ป่าในชุมชนก็หายไปหมดจนแทบไม่เหลือ พอป่าหมดไป อะไร ๆ ก็เปลี่ยน สุดท้ายชาวบ้านก็ไม่เหลืออะไรเลย” นี่เป็นเรื่องราวที่เคยเกิดที่ ชุมชนบ้านหลุมมะขาม หมู่ 8 ต.หนองไม้แก่น อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ผ่านคำบอกเล่าจาก “วินัย สุวรรณไตร” ผู้นำชุมชนดังกล่าว ก่อนที่จะค้นพบ “เข็มทิศชีวิตที่ช่วยนำสู่ชีวิตใหม่” นั่นก็คือ… “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”ของ “ในหลวงรัชกาลที่ 9”…
วินัย สุวรรณไตร
วินัย สุวรรณไตร ประธานกลุ่ม เครือข่ายธนาคารต้นไม้บ้านหลุมมะขาม จ.ฉะเชิงเทรา เล่าให้ “ทีมวิถีชีวิต” ฟังว่า ในอดีตชุมชนนี้ในพื้นที่มีป่ามีต้นไม้หนาทึบ เคยเป็นป่าชุมชนที่อุดมสมบูรณ์มาก สมัยก่อนชาวบ้านมีวิถีชีวิตเก็บของป่าขาย และรับจ้างหาน้ำมันยางนา ไม่ต้องออกไปหาเงินในเมือง มีคนเอาเงินมาให้ถึงชุมชน ซึ่งการหาน้ำมันยางนาในป่านั้นชาวบ้านจะใช้วิธีขุดหลุมไว้ พอหาน้ำมันยางนาได้ก็นำมาเทใส่หลุม พอเกวียนที่มารับน้ำมันยางนามาถึง ชาวบ้านก็จะตักน้ำมันใส่ถัง 200 ลิตรที่บรรทุกเกวียนมาเพื่อให้ขนออกไป ในพื้นที่จึงมีหลุมเป็นจำนวนมาก จนเป็นที่มาของชื่อบ้านหลุมมะขามนั่นเอง
แต่เมื่อมีนายทุนเข้ามาชักชวนให้ชาวบ้านปลูกพืชเชิงเดี่ยว มันสำปะหลัง อ้อย ก็เป็นจุดเริ่มต้นความเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ โดยเรื่องราวเริ่มเกิดขึ้นช่วงปี 2508-2509 มีนายทุนนอกพื้นที่เข้ามา ตามมาด้วยการกว้านซื้อที่ดินเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยว และก็มีนายทุนบรรทุกต้นมันสำปะหลังมาให้ชาวบ้านปลูกถึงชุมชน แล้วพอคนเริ่มหันมาปลูกพืชเชิงเดี่ยว เมื่อต้องการขยายพื้นที่ปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตมากขึ้น ก็เริ่มถางป่า เริ่มมีการเผา จนสร้างความเสียหายให้ป่าไม้ในชุมชนเป็นจำนวนมาก
สาธิตวิธีเจาะต้นยางนาเอาน้ำมัน
“จากเมื่อก่อนที่เดินออกไปขึ้นรถโดยสารนอกหมู่บ้าน 20 กว่ากิโลเมตร หัวยังไม่โดนแดดเลย แต่แค่ 2-3 ปี ป่าก็หายไป แบบที่เรียกว่าไม่เหลือเลย…และสุดท้ายพืชเชิงเดี่ยวก็ไปไม่รอด หลายคนต้องล้มละลาย เพราะปลูกอะไรก็ไม่ขึ้นแล้ว เนื่องจากดินมันเสื่อมสภาพ พอเสื่อมสภาพก็ต้องใช้ปุ๋ยใช้สารเคมีเยอะขึ้น ต้นทุนก็พุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ราคาพืชผลที่ปลูกกลับไม่พุ่งตาม สุดท้ายยิ่งปลูกยิ่งขาดทุน คนปลูกมีแต่จนลงทุกวัน ที่รวยคือคนภายนอก จนสุดท้ายชาวบ้านก็เหลือแต่ตัวเปล่า ๆ ในแบบที่แม้แต่ควายสักตัวก็ยังเก็บเอาไว้ไม่ได้ ต้องขายนำเงินมาใช้หนี้”
อย่างไรก็ดี วินัย เล่าว่า จาก “วิกฤติชีวิต” ที่เกิดขึ้น ทำให้ชาวบ้านค่อย ๆ ทบทวนบทเรียน ทำให้เห็นคุณค่าของป่า จากเดิมที่ไม่มีใครฉุกคิด แต่ตอนที่คิดจะเปลี่ยนแปลง ชาวบ้านก็ยังไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหน? ยังไง? เขาจึงขอไปเรียนรู้จาก ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ผู้มีชื่อเสียงด้าน “การปลูกสวนป่าวนเกษตร” จึงเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ว่าชุมชนจะทำยังไงทรัพยากรที่ถูกทำลายไปจึงจะฟื้นคืน นั่นคือ… “น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้”ทั้งเรื่องการ “พึ่งพาตนเอง” ด้วยแนวคิด “ทำเอง–ใช้เอง–กินเอง” ปลูกทุกอย่างที่กิน-กินทุกอย่างที่ปลูก เมื่อเหลือก็แจก เหลือแจกก็จึงขาย เปลี่ยนการเพาะปลูก จากเดิมปลูกแค่อย่างเดียว ก็ส่งเสริมปลูกพืชผักสวนครัวและสมุนไพรต่าง ๆ แซมสลับไว้ในพื้นที่ป่า กับเสริมการปลูกป่าควบคู่ไปพร้อมกันด้วย เพื่อเพิ่มต้นไม้หลักที่สำคัญ อย่างยางนา ตะเคียน ประดู่ มะค่า ตะแบก เป็นต้น
วัดขนาดบันทึกข้อมูลธนาคารต้นไม้
“พอกลับมาก็เอาความรู้มาทดลองทำ แต่ตอนแรก ๆ ยังไม่ได้ชวนคนอื่นทำตาม เนื่องจากเคยชวนชาวบ้านมาปลูกป่าแล้ว เขาก็ด่าว่าเราเป็นพวกโง่ ทำให้ช่วงแรก ๆ ที่เราเริ่มทดลองทำเอง เวลาที่ไปปลูกป่า ถ้ามีคนเดินผ่านมา เราจะหลบ จะแอบไม่ให้คนเห็นเลย เพราะกลัวถูกด่าว่าโง่” วินัยเล่า พร้อมกับบอกว่า แต่ก็ไม่เคยรู้สึกโกรธ เพราะคิดว่าชาวบ้านคงยังไม่เห็นผล ก็เลยไม่เชื่อเมื่อไปชวนให้ทำ จึงมองว่าถ้าตัวเองไม่ทดลองทำก่อนจนเห็นผล ใครที่ไหนจะมาเชื่อ จึงตัดสินใจว่าต้องทำให้รู้ จนเมื่อประสบความสำเร็จ เริ่มเห็นผลลัพธ์ คนอื่น ๆ ก็ค่อย ๆ สนใจ และเริ่มทำตามเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
วินัย เล่าอีกว่า ปี 2544 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้เข้ามาร่วมฟื้นฟูการประกอบอาชีพให้ชาวบ้าน มีการจัดอบรม 5 ฐาน ได้แก่ ข้าว-อาหาร ยารักษาโรค ของใช้ ปุ๋ย ดิน ซึ่งชาวบ้านถูกใจเรื่องอาหารและยา จึงสรุปกันว่าจะทำผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรที่มีในชุมชนเพื่อใช้ในครัวเรือน ผลิตได้มากก็จะขายสร้างรายได้ ซึ่ง ธ.ก.ส. ก็สนับสนุนผ่าน “โครงการขับเคลื่อนนวัตกรรมเกษตรสู่การใช้ประโยชน์ในพื้นที่” พาไปศึกษาดูงาน สนับสนุนเครื่องสกัดน้ำมันจากยางนาเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จนปัจจุบันชุมชนต่อยอดสู่พืชสมุนไพรอื่น ๆ เช่น ตะไคร้ ข่อย มีอาชีพมีรายได้เพิ่มขึ้น
สาธิตทำผลิตภัณฑ์น้ำมันยางนา
พอก้าวแรกสำเร็จ ชุมชนก็ขยายผลสู่การ “ฟื้นฟูป่าชุมชน” ฟื้นป่าดั้งเดิม โดยตั้ง “กลุ่มธนาคารต้นไม้” ซึ่ง ธ.ก.ส. เข้ามาสนับสนุนการปลูกไม้เศรษฐกิจที่มีคุณค่าทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดรายได้ที่มั่นคงยั่งยืน อีกทั้งการปลูกต้นไม้มีผลลดก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนไดออกไซด์ ช่วยลดภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ ที่สำคัญทำให้ชาวบ้านมีหลักประกันชีวิตจากการที่ชุมชนมีไม้ใหญ่ที่ปลูกไว้เพื่อใช้เป็นทุนสะสมในยามฉุกเฉิน หรือเมื่ออายุมากขึ้น
และเกี่ยวกับ “ธนาคารต้นไม้บ้านหลุมมะขาม” นั้น ทาง เกียรติศักดิ์ พระวร ผช.ผจก. ธ.ก.ส. บอกเล่าว่า ธนาคารต้นไม้ที่นี่ได้รับการรับรองภายใต้โครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme : LESS) พร้อมธนาคารต้นไม้ใน อ.แปลงยาว อีก 4 ชุมชน โดยชุมชนที่เข้าร่วมจะได้รับใบประกาศจาก องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ซึ่ง ธ.ก.ส. มอบเงินสนับสนุนกิจกรรมนี้ในอัตราราคาที่ตันคาร์บอนละ 100 บาท แต่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อชุมชน
โชว์ผลิตภัณฑ์จากน้ำมันยางนา
“เราพร้อมสนับสนุนธนาคารต้นไม้ในพื้นที่ซึ่งประสงค์เข้าร่วมโครงการ T-VER 9 ชุมชน ได้แก่ 1.บ้านหลุมมะขาม 2.บ้านเกาะบรเพชร 3.บ้านแปลงนกเป้า 4.บ้านวังเย็น 5.บ้านหนองไม้แก่น 6.บ้านวังกะจะ 7.บ้านห้วยหิน อ.สนามชัยเขต และ 8.บ้านวังหิน 9.บ้านอ่างเตย อ.ท่าตะเกียบ ซึ่งมีสมาชิกรวม 61 คน จำนวนพื้นที่ 81 แปลง รวมเป็นขนาดพื้นที่ 1,226 ไร่ 2 งาน 75 ตารางวา โดยมีจำนวนต้นไม้ที่เข้าร่วมโครงการ 32,155 ต้น คิดเป็นปริมาณคาร์บอนเครดิต 305.47 ตันคาร์บอนต่อปี ซึ่งปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างยื่นเอกสารเพื่อขึ้นทะเบียน T-VER กับองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก”…ผู้บริหารคนเดิมกล่าว พร้อมบอกว่า ธ.ก.ส. มุ่งขับเคลื่อนภารกิจซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ผ่านโครงการ BAAC Carbon Credit ซึ่งเตรียมขยายผลไปยังธนาคารต้นไม้อีกกว่า 6,800 ชุมชนทั่วประเทศ จะสนับสนุนการปลูกป่าเพิ่มปีละ 108,000 ต้น และวางเป้าสร้างปริมาณซื้อขายคาร์บอนเครดิตให้ได้กว่า 510,000 ตันคาร์บอนภายในปี 2571
เครื่องสกัดน้ำมันยางนาที่ ธ.ก.ส. สนับสนุน
สลับกลับมาที่ วินัย สุวรรณไตร ทางประธานกลุ่มเครือข่าย “ธนาคารต้นไม้บ้านหลุมมะขาม จ.ฉะเชิงเทรา” ยังบอกกับ “ทีมวิถีชีวิต” ว่า สำหรับตัวเขา เรื่องงานพัฒนาชุมชนไม่มีคำว่าหยุดแน่ ๆ เพราะเป็นภารกิจที่ทำแล้วมีความุข ซึ่งได้ตั้งใจไว้แล้วว่าจะหยุดทำก็ต่อเมื่อไม่มีลมหายใจแล้ว ส่วนเป้าหมายตอนนี้ คือการปลูกป่าเพิ่มให้ได้กว่า 5,000 ไร่ และน้อมนำ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”ของ “ในหลวงรัชกาลที่ 9” มาต่อยอดขยายผลเพิ่มอีก…ซึ่งเศรษฐกิจพอเพียงนั้นทำให้ ชาวบ้านได้อยู่ดีกินดี และมีความสุข.
ชาวบ้านหลุมมะขามวันนี้ต่างมีรอยยิ้ม
เชื่อมโยงวิถี ‘มีป่า-มีรอยยิ้ม’
ผู้นำ ชุมชนบ้านหลุมมะขาม บอกไว้ด้วยว่าวันนี้ชาวบ้านที่นี่ “มีรอยยิ้ม” จากที่แทบจะไร้รอยยิ้มมานาน และเมื่อถอดรหัสรอยยิ้มที่มีความสุข ก็พบว่าเป็นเพราะ “ป่าชุมชนฟื้นกลับมา” เพราะป่า ต้นไม้ “เชื่อมโยงวิถีชีวิตของคน” ซึ่งป่าเป็นทั้งหมดของผู้คนที่นี่ ทั้งเป็นอาหาร เป็นยา เป็นของใช้ เป็นพลังงาน เป็นได้ทั้งหมด ไม่ใช่ปลูกแค่ให้ร่มรื่น แต่ปลูกเพื่อแสวงหาความสุข ทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้…“ตอนนี้ป่าชุมชนมีป่าเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,000 ไร่ โดยวางเป้าไว้ที่ 5,000 ไร่ เชื่อว่าอีกไม่นานจะไปถึงเป้าหมายนี้ได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นความภาคภูมิใจ ไม่ใช่ของผมคนเดียว เป็นของทุกคน ซึ่งคิดเป็นมูลค่าตัวเงินไม่ได้ และพอป่าเริ่มฟื้นคืน คนก็เริ่มหันกลับมาสู่รากเหง้าและวิถีเดิม คือพึ่งพิงพึ่งพากัน ช่วยเหลือกันมากขึ้น เพราะไม่ได้มองที่รายได้เหมือนแต่ก่อนแล้ว แต่มองที่การสร้างความสุขให้กันและกันมากกว่า”.
บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน