อีกหนึ่งสื่อการเรียนรู้ บอร์ดเกมหรือเกมกระดานอีกกิจกรรมการเล่นที่จะทำให้ผู้เล่นสามารถเรียนรู้และพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ทั้งการคิดวิเคราะห์ การตัดสินใจแก้ปัญหา… 

“บอร์ดเกม” ยังเป็นสื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ทุกเพศ วัยสามารถเล่นเติมประสบการณ์การเรียนรู้ร่วมกันได้  ทั้งนี้หากมองจากชื่อ มองจากอุปกรณ์ บอร์ดเกมมีความชัดเจนในตัว เป็นเกมกระดานที่นักพัฒนาบอร์ดเกมคิดประดิษฐ์ สร้างความรู้ความสนุกผ่านเกม ใช้เกมเป็นสื่อสร้างการเรียนรู้ให้ชัดเจนขึ้น โดยความรู้ที่นำมาสื่อสารผ่านบอร์ดเกมมีความหลากหลาย สามารถเป็นไปได้แทบทุกเนื้อหา

จากบอร์ดเกมนำเรื่องน่ารู้ ชวนถอดรหัสความรู้ การออกแบบเกมเพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์ศิลปะ โดย อาจารย์อนิวัฒน์ ทองสีดา ประธานสาขาวิชาศิลปศึกษา อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา หนึ่งในทีมวิทยากรจากโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อการจัดการ การออกแบบเกมเพื่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ศิลปะ โดยหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครจัดกิจกรรมขึ้น โดยเปิดรับครูและบุคลากรทางการศึกษาเข้าร่วมเรียนรู้ประวัติศาสตร์ศิลปะผ่านกิจกรรม ฯลฯ ให้มุมมองเล่าถึงบทบาทบอร์ดเกม และการสร้างสื่อบอร์ดเกมว่า จากประเด็นนี้คงต้องย้อนกลับไปที่การเล่น โดยบอร์ดเกม หรือเกมกระดานมีการเล่นกันมานาน อย่างเกมงูตกบันได เกมเศรษฐีอาจเป็นการเล่นเพื่อความเพลิดเพลิน ผ่อนคลาย

แต่เมื่อเกมพัฒนาขึ้นและปัจจุบันบอร์ดเกมอาจเรียกได้ว่าเป็นเครื่องมือในรูปแบบ Active Learning การจัดการเรียนรู้ที่เด็กมีส่วนร่วมไปกับการเรียนรู้ และที่สำคัญ นักการศึกษามองเห็นโอกาสการเล่นบอร์ดเกม โดยนำมาเป็นเครื่องมือที่ช่วยจูงใจดึงเด็กกลับมาอยู่กับโลกปัจจุบัน ไม่อยู่กับโซเชียลมีเดียที่มากเกินพอดี ฯลฯ ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เห็นถึงวัตถุประสงค์การเล่นที่แตกต่างไปจากอดีต

แต่อย่างไรแล้ว บอร์ดเกมมีหลายประเภททั้งแบบที่เล่นเพื่อความสนุกสนาน ผ่อนคลาย หรือใช้บอร์ดเกมเพื่อการศึกษาส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ โดยอาจารย์อนิวัฒน์อธิบายเพิ่มว่า บอร์ดเกม เป็นสื่อการสอนอย่างหนึ่งซึ่งมีความสนุกอยู่ในนั้น ตัวเกมแต่ละเกมมีการวางแผน มีชั้นเชิงการเล่น ฯลฯ ซึ่งสามารถนำมาเชื่อมโยงการเรียนรู้ ทั้งนี้แนวทางการจัดการเรียนรู้ในปัจจุบันหรืออนาคต การเรียนการสอนจะบูรณาการเนื้อหาเข้าด้วยกัน ตัวบอร์ดเกมก็จะเป็นอีกตัวช่วยหนึ่งที่จะทำให้ได้รับองค์ประกอบความรู้หลายศาสตร์ หลายวิชาการ ฯลฯ

กลุ่มของผู้เล่นบอร์ดเกมเองก็มีความหลากหลาย นับแต่เด็กเล็ก วัยทำงานถึงกลุ่มผู้สูงอายุ  แต่ละบอร์ดเกมไม่จำเป็นต้องมีองค์ประกอบครบเท่ากัน หรือเหมือนกัน แต่จะเป็นไปในลักษณะเฉพาะของแต่ละเกมที่ออกแบบ อย่างเช่น กลุ่มเด็กเล็ก การออกแบบเกมอาจไม่ต้องมีความซับซ้อนใด ๆ เริ่มจากการจับคู่ การเล่นบันไดงู ฯลฯ ซึ่งก็ถือเป็นกระบวนการหนึ่งที่สร้างการเรียนรู้

วัยที่โตขึ้นมา การดีไซน์เกมอาจเพิ่มการวางแผน เงื่อนไข กติกาฯลฯ เพื่อให้มีความเข้าใจในกระบวนการมากขึ้น นักออกแบบเกมจึงต้องคิดกระบวนการเหล่านี้อย่างชัดเจน ทั้งกลุ่มผู้เล่นเป็น กลุ่มวัยใด ที่สำคัญเกมมีวัตถุประสงค์ใด สื่อสารสิ่งใด ฯลฯ เหล่านี้เป็นเป้าหมายของเกมแต่ละเกมที่ออกแบบ”

วิทยากรโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อการจัดการ การออกแบบเกมเพื่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ศิลปะ อาจารย์ อนิวัฒน์เล่าเพิ่มอีกว่า ในด้านการออกแบบเกมสามารถทำได้หลากหลาย อย่างเช่นตนเองเป็นอาจารย์ด้านศิลปะก็ได้นำองค์ความรู้เหล่านี้มาออกแบบบอร์ดเกม เพื่อให้มีความเข้าใจ เข้าถึงศิลปะในแง่
มุมต่าง ๆ

อย่างในโครงการฯครั้งนี้ตนเองออกแบบเกม Art-Fun ศิลปะมหาสนุกเกมการศึกษาเพื่อการรับรู้คุณค่าของงานศิลปะร่วมสมัย เพื่อให้ผู้เล่นซึ่งเป็นกลุ่มเด็กเล็กเห็นถึงคุณค่างานศิลปะในด้านต่าง ๆ ออกแบบเป็นตัวกิจกรรม นำมาสร้างเสริมการเรียนรู้ จากที่กล่าว บอร์ดเกมสามารถเล่นได้ทุกวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ การเล่นจะช่วยฝึกการคิด ช่วยการเคลื่อนไหวการใช้กล้ามเนื้อ โดยที่สำคัญเรื่องของปฏิสัมพันธ์ โดยปัจจุบันมีบอร์ดเกมสำหรับครอบครัว คนในครอบ ครัวทุกวัยเล่นเรียนรู้ไปด้วยกัน ทั้งนี้บอร์ดเกมจะมีผู้เล่นมากกว่าสองคนซึ่งเป็นพื้นฐาน ส่วนจำนวนผู้เล่นจะมีมากน้อยอย่างไร วิธีการเล่น กติกาการเล่น เงื่อนไขหรือการ์ดพิเศษใด ๆ แต่ละเกมจะมีรายละเอียด ความน่าสนใจชวนติดตามต่างกันไปขึ้นอยู่กับการออกแบบบอร์ดเกม    

อ.อนิวัฒน์ ทองสีดา

“จากการอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับบุคลากรทางด้านศิลปวัฒนธรรม โครงการที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครจัดต่อเนื่องซึ่งในแต่ละปีจะมีหัวข้อต่างกันไปอย่างครั้งนี้ได้รับโจทย์การจัดการเรียนรู้ใช้เกมเป็นฐาน โดยทีมวิทยากรซึ่งยังมีอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติซึ่งปรึกษาร่วมกัน และมีความเห็นตรงกันที่จะออกแบบเกม ผลิตบอร์ดเกมสร้างสื่อการเรียนรู้” 

ปัจจุบันแม้จะมีอุปกรณ์ มีเครื่องมือสื่อเทคโนโลยีที่นำมาจัดการการเรียนรู้ แต่สื่อมือก็ยังคงมีความจำเป็น ขณะที่บอร์ดเกมสามารถนำมาสร้างสรรค์สร้างการเรียนรู้ได้หลากหลายมิติและทุกเนื้อหา แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นการเรียนการสอนด้วยบอร์ดเกมไปตลอด คงต้องมีเนื้อหาอื่น ๆ สอดแทรกร่วมกัน แต่ในเบื้องต้นสิ่งนี้เป็นสื่อที่จะนำพาให้ได้รับการเรียนรู้ร่วมกัน

สำหรับการออกแบบเกมชวนเรียนรู้เข้าถึงประวัติศาสตร์ศิลปะครั้งนี้ วิทยากรแต่ละท่านดีไซน์เกมชวนเรียนรู้ศิลปะในหลายแง่มุม สำหรับอาจารย์จากที่กล่าวได้รับโจทย์สำหรับเด็กเล็กวัยปฐมเกมจะไม่ซับซ้อนมาก แต่มีความสนุก นำพาไปเรียนรู้คุณค่างานศิลปะ แทรกกติกาการดูแลงานศิลปะ รักษางานศิลปะ ฯลฯ  ขณะที่อีกท่านสร้างสรรค์ดีไซน์บอร์ดเกมในแง่มุม การประมูลงานศิลปะ ได้รู้จักเข้าใจในแง่มุมนี้ และอีกท่านหนึ่งออกแบบไว้สองเกมโดยกล่าวถึงการจัดการพื้นที่งานศิลปะ

“บอร์ดเกมจากที่กล่าวมีมายาวนาน สิ่งที่นำมาทำเป็นตัวอย่างเพื่อให้เห็นว่าข้อมูล องค์ความรู้ที่มีอยู่ในพิพิธภัณฑ์ หรือหอศิลป์สามารถเชื่อมโยงการศึกษาการเรียนรู้ในโรงเรียนได้ ทั้งแสดงให้เห็นว่าแหล่งเรียนรู้ มีทรัพยากรที่สามารถนำมาประยุกต์สร้างสรรค์สร้างการเรียนรู้ บอกเล่าผ่านบอร์ดเกม ดังเช่น ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นในชุมชน อาหาร เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย หรือเรื่องใด ๆ ที่ต้องการสร้างการเรียนรู้ นำมาออกแบบสร้างสรรค์เป็นเกม สร้างการเรียนรู้ไปพร้อมกับการเล่น เชื่อมโยงองค์ความรู้เหล่านั้นได้”

ส่วนเรื่องการดีไซน์ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะสร้างแรงจูงใจดึงดูด ถ้าดีไซน์เกมสวยน่าสนใจก็ทำให้อยากเล่น ดังนั้นนอกจากความสวยงาม ความเหมาะสมกับวัยของผู้เล่น ตัวอักษรพิจารณาอย่างเหมาะสม ไม่เล็กจนอ่านไม่ได้ หรือใหญ่จนเกิดพอดี ฯลฯ หลักดีไซน์ทั่วไปเหล่านี้ก็ต้องให้ความสำคัญ

อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาอาจารย์อนิวัฒน์ให้มุมมองทิ้งท้ายอีกว่า การพัฒนาเกมขึ้นมาหนึ่งครั้งก็ไม่ได้หมายความว่าจะประสบความสำเร็จเลย ยังต้องพัฒนา ปรับแก้ไขกระทั่งเป็นเกมที่เหมาะกับการเล่นสำหรับเรื่องนั้น ๆ และจากที่กล่าวเรื่องทุกเรื่องสามารถนำมาเป็นบอร์ดเกมได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกเรื่องจะต้องเรียนรู้ด้วยบอร์ดเกม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจังหวะและเวลาที่เหมาะสมในการนำบอร์ดเกมไปใช้ เป็นอีกส่วนหนึ่งบอกเล่าผ่านบอร์ดเกม สื่อการเรียนรู้ ส่งเสริมการเรียนรู้.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ