เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2566 ภายใต้การไกล่เกลี่ยของจีน ผู้นำของซาอุดีอาระเบียและอิหร่านประกาศว่าพวกเขาได้บรรลุข้อตกลงในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างทั้งสองฝ่าย และจะเปิดสถานทูตและสำนักงานตัวแทนของทั้งสองฝ่ายอีกครั้งภายใน 2 เดือน โดยเน้นย้ำการเคารพในอำนาจอธิปไตยของทุกประเทศและไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น ทั้งสองฝ่ายยินยอมให้จัดการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศ มีการแลกเปลี่ยนเอกอัครราชทูต และสำรวจการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน ตลอดจนการเปิดใช้งานข้อตกลงการร่วมมือด้านความมั่นคงซึ่งลงนามโดยทั้งสองประเทศเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2544 และข้อตกลงทั่วไปที่ครอบคลุมด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม กีฬา และเยาวชน ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2541

ความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านและซาอุดีอาระเบียนั้นมีความซับซ้อนอย่างมาก ทั้งสองประเทศมีความขัดแย้งในประเด็นของภูมิศาสตร์การเมือง รวมถึงความขัดแย้งด้านการตีความในศาสนาอิสลาม ,การแย่งชิงอำนาจผู้นำในโลกอิสลาม ,นโยบายการส่งออกน้ำมัน และความสัมพันธ์ของสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ เป็นต้น วาระทางการเมืองที่แตกต่างและความขัดแย้งด้านความเชื่อที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์เป็นศัตรูและมีเหตุปะทะกันเรื่อยมา

เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2559 ซาอุดีอาระเบียทำการประหารชีวิตนักบวชมุสลิมนิกายชีอะห์รายหนึ่ง จุดชนวนให้เกิดเหตุการณ์โจมตีและปล้นชิงสถานทูตซาอุดีอาระเบียในกรุงเตหะรานและสถานกงสุลในเมืองแมชแฮดโดยผู้ประท้วงชาวอิหร่าน จากนั้นซาอุดิอาระเบียก็ทำการตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่าน นับตั้งแต่นั้นมาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้ก็มีความตึงเครียดมากขึ้น นานาชาติต่างก็พยายามเพื่อให้ความสัมพันธ์หลังเกิดวิกฤตของทั้งสองประเทศนั้นกลับมาปกติ แต่ก็ไม่เห็นผลอย่างชัดเจน กระทั่งเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 สำนักข่าวสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านและสำนักข่าวซาอุดีอาระเบียแถลงข่าวว่า ภายใต้การไกล่เกลี่ยของสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งสองประเทศจะฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างกันในอนาคตอันใกล้

จีนมักนำเสนอตนเองว่าเป็นประเทศที่ “รักความสันติภาพ” การจับมือคืนดีกันของอิหร่านและซาอุดีอาระเบียสามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าจริง นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นก้าวแรกของโครงการความปลอดภัยทั่วโลกที่จีนเสนอเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และที่บังเอิญคือวันที่ 10 มีนาคม 2566 เป็นวันที่ประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งสมัยที่สาม

Ahmed Saeed นักแปลและผู้จัดพิมพ์ชาวอียิปต์ตีพิมพ์บทความที่ชี้ให้เห็นว่าการไกล่เกลี่ยที่ประสบความสำเร็จของจีนในครั้งนี้เป็นการเริ่มต้นที่ดีของโครงการความปลอดภัยทั่วโลกที่เสนอโดยประธานาธิบดีของจีน สี จิ้นผิง กลยุทธ์ทางการทูตของจีนยึดหลัก “สันติภาพเป็นสิ่งสำคัญที่สุด” ซึ่งเป็นแก่นแท้ของวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีน และสร้างผลประโยชน์ภายใต้สถานการณ์ที่ต่างผ่ายต่างได้รับผลประโยชน์ทั้งคู่ (Win-Win)