หลักเกณฑ์-เงื่อนไขใหม่กรณีนี้…จะอย่างไรก็ถือเป็นการ “จัดระเบียบหาบเร่แผงลอย”ที่ในไทย ในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ก็ได้ยินได้ฟังกันมาเนิ่นนานหลายยุคหลายสมัยแล้ว…

ส่วนล่าสุด “จะได้เห็นผลลัพธ์เช่นไร?”

กับคนทำอาชีพนี้ “จะดีไม่ดีอย่างไร?”

เรา ๆ ท่าน ๆ “ก็ต้องรอดูกันต่อไป”

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะดูกันเลยใน “มิติทางวิชาการ” กับคนทำ “อาชีพหาบเร่แผงลอย” ก็มีผลศึกษาวิจัยที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูล เป็นข้อมูลจากการวิเคราะห์ สถานการณ์ ความเสี่ยง ความเปราะบาง ของผู้ที่ทำอาชีพนี้ ในฐานะส่วนหนึ่งของ “แรงงานนอกระบบ” ที่ “ทำงานอิสระบนพื้นที่สาธารณะ” จากรายงาน “สถานการณ์แรงงานนอกระบบ : สถานะ องค์ความรู้ ความเสี่ยง และแนวปฏิบัติ” ของ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ผู้วิจัยเรื่องนี้คือ รศ.ดร.นฤมล อรุโณทัย ดร.บวร ทรัพย์สิงห์ และคณะ ซึ่งได้สำรวจสถานการณ์แรงงานนอกระบบและคนทำอาชีพอิสระกลุ่มนี้…

เพื่อใช้เป็นข้อมูลจัดทำ “ข้อเสนอแนะ”

ใช้ในการ “พัฒนาคุณภาพชีวิตอาชีพ”

จากข้อมูลในรายงานฉบับดังกล่าว ทางผู้วิจัยได้สะท้อนไว้ โดยสังเขปมีดังนี้คือ… กลุ่มคนทำงานอิสระในเมือง” ที่นอกเหนือจากภาคขนส่งแล้ว มี 2 อาชีพที่น่าสนใจ คือ อาชีพเก็บและคัดแยกขยะ กับ “อาชีพหาบเร่แผงลอย”โดยสำหรับหาบเร่แผงลอยนั้น ปัจจุบันยิ่ง “มีข้อพิพาทเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ” อันเป็นผลจาก “พื้นที่สาธารณะสำหรับค้าขายนั้นลดลงมีจำกัด” กว่าในอดีต โดยเฉพาะทางสาธารณะที่เป็นจุดผ่อนผัน ให้จำหน่ายสินค้าได้ ซึ่งตัวเลขของปี 2564 จากข้อมูลของกรุงเทพมหานคร มีผู้ค้าอยู่ที่ 7,947 ราย แต่มีจุดผ่อนผันให้เพียง 171 จุดเท่านั้น และด้วยเหตุนี้ก็จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้…

มี “ข้อพิพาทเรื่องพื้นที่” อยู่เรื่อย ๆ

ทั้ง “ผู้ค้ากับผู้ค้า” “ผู้ค้ากับเจ้าหน้าที่”

ในรายงานฉบับเดิมยังได้ฉายภาพเกี่ยวกับมิติด้านต่าง ๆ ของ“ผู้ที่ประกอบอาชีพหาบเร่แผงลอย”เอาไว้ว่า… โดยด้าน “คุณลักษณะพื้นฐานทางประชากร” พบว่า… การที่มีคนเลือกทำอาชีพนี้ อาชีพหาบเร่แผงลอยนี้ ช่วยลดค่าครองชีพให้กับกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย ซึ่งหาบเร่แผงลอยเป็นอาชีพที่ เชื่อมโยงประชากรกลุ่มอื่น ๆ ด้วย เช่น กลุ่มแรงงาน และชนชั้นกลางในเมือง รวมถึงยังเป็นอาชีพที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจรากหญ้ากับเศรษฐกิจกระแสหลัก อีกด้วย ที่ ช่วยสร้างการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ช่วยลดปัญหาการว่างงาน ปัญหาความยากจน และนอกจากนี้ ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า…

หาบเร่แผงลอย” ที่เป็น“สตรีทฟู้ด”

ช่วย “เพิ่มเสน่ห์ให้การท่องเที่ยวไทย”

อย่างไรตาม แม้จะมีส่วนช่วยให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ช่วยให้เกิดการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจ และช่วยลดปัญหาการว่างงานกับความยากจน แต่…ผู้ที่ทำ “อาชีพหาบเร่แผงลอย” นั้น กลับต้อง “เผชิญความเสี่ยงมากมาย” หลายอย่าง ทั้งสุขภาพ ทั้งปัญหาความไม่แน่นอนต่าง ๆ ในอาชีพที่ทำ โดยพบว่า… ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยส่วนใหญ่จะต้องทำงานทุกวัน และแต่ละวันจะต้องทำงานเฉลี่ยตั้งแต่ 8-10 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งนับเป็นระยะเวลาการทำงานที่ยาวนาน นอกจากนั้น พื้นที่ค้าขายที่มีจำกัด ทำให้มีการแข่งขันกันสูง จนต้องยอมจ่ายค่าเช่าในราคาสูง อีกทั้งการที่ เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน นั้น…

ก็กระตุ้นทำให้หาบเร่แผงลอย “เป็นหนี้”

จากการต้องกู้ยืม “แหล่งทุนนอกระบบ”

ทั้งนี้ “อาชีพหาบเร่แผงลอย” ที่ผ่านมาต้อง “เผชิญความเสี่ยงจากนโยบายที่ไม่ชัดเจน” ส่งผลให้ “ไม่มีความมั่นคงทางอาชีพ” ผู้วิจัยจึงมี “ข้อเสนอแนะ” ไว้ว่า… จัดระเบียบหาบเร่แผงลอยเชิงบวก” จะช่วยให้ “เกิดประโยชน์มากกว่าจัดระเบียบเชิงลบอย่างการสั่งห้ามไม่ให้มีหาบเร่แผงลอยเลย” โดยจัดระเบียบเชิงบวกจะ ช่วยทำให้เพิ่มความปลอดภัยแก่ประชาชนมากขึ้น ในการสัญจรทางเท้าและการใช้พื้นที่สาธารณะ พร้อมกับ ช่วยลดปัญหาความไม่มั่นคงในอาชีพให้กับหาบเร่แผงลอย ให้ไม่ต้องเสี่ยงผลกระทบทางรายได้ เช่น ต้องเปลี่ยนที่ขายหรือสินค้าบ่อย ซึ่งกระทบต่อรายได้

ที่สำคัญ… จัดระเบียบหาบเร่แผงลอยเชิงบวกจะเป็นอีกกลไกสำคัญที่จะช่วยลดปัญหาการหาผลประโยชน์นอกระบบที่ผิดกฎหมาย หรือลดระบบส่วย ได้ด้วย แต่การออกนโยบายจำเป็นต้องก้าวข้าม “วาทกรรมเชิงลบ” ที่มีต่ออาชีพนี้ อาทิ “ไม่สะอาด” “ไม่เรียบร้อย” เพื่อไม่ทำให้เกิดมุมมองเชิงลบ การจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยนั้นจึงจะสัมฤทธิ์ผลโดยเกิดความเป็นธรรม และโปร่งใส ซึ่งย่อมจะส่งผลดีทั้งต่อผู้ที่ทำอาชีพหาบเร่แผงลอย ประชาชน และสังคม

ก็รอดูกัน “จัดระเบียบหาบเร่แผงลอย”

ในเมืองกรุง “รอบล่าสุดจะอย่างไร??”

จะ “อัปมุมดีต่าง ๆ ขึ้นได้แค่ไหน??”.

ทีมสกู๊ปเดลินิวส์