อย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็เกิดเหตุระบบปั๊มน้ำเรือบริการท่องเที่ยวที่พัทยาขัดข้องและถูกคลื่นซัดจนเรือพลิกคว่ำ โชคดีที่เหตุการณ์นี้ไม่มีความสูญเสียทางชีวิตเกิดขึ้น ไม่เหมือนกับอีกหลาย ๆ เหตุการณ์ที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุ “เรือล่ม-เรือคว่ำ” ทั้งนี้ เรื่อง “อุบัติภัยทางน้ำ-อุบัติเหตุทางเรือ” นี้ ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ขอร่วมสะท้อนเตือนว่า…เมื่อสถานการณ์การท่องเที่ยวไทยเริ่มจะฟื้นคืน ตาม “แหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ-ทางทะเล” ต่าง ๆ ก็ “ต้องระวัง” ซึ่งถ้าผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง “ประมาท” หาก “ละเลยความปลอดภัย”…

“ภัยเรือล่ม-ภัยเรือคว่ำ” ก็ “อาจเกิดขึ้น”

“อาจจะไม่โชคดีเหมือนที่พัทยาล่าสุด!!”

ทั้งนี้ นอกจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพาหนะทางน้ำทางเรือจะต้องกวดขันดูแลรักษามาตรฐานด้านความปลอดภัยแล้ว ในส่วน “ผู้โดยสารพาหนะทางน้ำทางเรือ” ก็ควรที่จะ “เรียนรู้วิธีเอาชีวิตรอด” หากเกิดเหตุ “เรือคว่ำ-เรือล่ม” เอาไว้บ้าง เพื่อลดโอกาสความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางน้ำ หรือรู้ไว้เพื่อช่วยผู้อื่นโดยที่ตนเองก็ไม่ประสบอันตราย โดยข้อมูลในเรื่องนี้ก็มีคำแนะนำ-มีหลายแหล่งข้อมูลที่ได้ให้แนวทางไว้ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีข้อมูลน่าสนใจใน วิกิฮาว (Wikihow) ที่ได้แนะนำ “วิธีเอาตัวรอดเมื่อเรือล่ม” ไว้ โดย “คำแนะนำการปฏิบัติตัวขณะที่เกิดเหตุการณ์เรือล่ม-เรืออับปาง” โดยสังเขปมีดังนี้…

“ตั้งสติ” ถือเป็นสิ่งแรกที่ควรต้องทำเมื่อเรือกำลังจะล่ม โดยเฉพาะในยามที่ทุกคนต่างก็แตกตื่น ซึ่งหากรู้ตัวว่ากำลังสติแตก ให้พยายามผ่อนคลาย หายใจเข้า-ออกลึก ๆ และอย่าวิ่งพล่านหาเรือชูชีพหรือกระโดดลงน้ำทันทีที่เกิดเหตุ แต่ให้หยุดพิจารณาถึงทางรอดไว้หลาย ๆ ทาง และลำดับถัดมาคือ… พยายาม “หาอะไรที่ลอยน้ำได้” ระหว่างที่เรือกำลังจม เช่น เสื้อชูชีพ ห่วงยาง เรือบด แพยาง หรืออาจมีแค่เศษวัสดุที่ใช้เกาะลอยตัวในน้ำได้ก็ยังดีมิฉะนั้นเมื่อลงน้ำแล้วอาจรอดชีวิตได้ไม่นาน

ต่อมาคือ… “รู้หลักในการกระโดดออกจากเรือ” เมื่อพิจารณาแล้วว่าหากอยู่ในเรือต่อไปจะเป็นอันตรายได้ ก็มีคำแนะนำในกรณีที่ต้องกระโดดหนีออกจากเรือไว้ว่า… อย่าถอดรองเท้า และก่อนกระโดด ดูลาดเลาให้ดีก่อน เพื่อที่จะได้ไม่ลงไปโดนวัตถุหรือทับคนอื่น ซึ่งเมื่อต้องกระโดด ให้ใช้แขนกอดที่หน้าท้องไว้ข้างหนึ่ง ขณะที่มือให้จับศอกของแขนอีกข้างที่มือบีบจมูกไว้ แล้วกระโดดลงน้ำด้วยการไขว้ขา พยายามให้ส่วนขาลงถึงน้ำก่อน โดยควร กระโดดให้ไกลจากเรือมากที่สุด

นอกจากนั้น ถ้าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเรือลำใหญ่ ๆ เมื่อกระโดดลงน้ำแล้ว ก็ควรต้องรีบออกห่างจากเรือด้วย เพราะเรือลำใหญ่นั้นเวลาจมจะมีแรงดึงดูดทุกสิ่งรอบ ๆ เรือให้ดิ่งตามลงไปด้วย!! นี่ถือว่าสำคัญมาก เพราะแรงดูดจากเรือลำใหญ่ ๆ นั้น…อาจจะดึงให้คนที่อยู่ในน้ำจมดิ่งลงไปด้วย…แม้ว่าจะใส่เสื้อชูชีพหรืออยู่บนแพก็ตาม!!

กรณีที่ต้องลงไปลอยคออยู่ในน้ำ กรณีนี้ก็มี “คำแนะนำเพื่อเอาชีวิตรอดเมื่ออยู่ในน้ำ” โดยมีหลักปฏิบัติดังนี้คือ… ถ้าว่ายน้ำไม่ค่อยแข็ง ให้พยายามลอยตัว แล้วค่อย ๆ ว่ายท่าลูกหมาตกน้ำ เพื่อพาตัวเองให้ออกห่างจากเรือ กับ หาอะไรที่ลอยน้ำได้นำมาเกาะไว้ ซึ่งถ้าไม่มีห่วงยาง แพยาง เสื้อชูชีพ ให้มองหาวัตถุที่ลอยน้ำได้จากเศษซากของเรือ ที่เกาะแล้วสามารถลอยคอในน้ำได้ เช่น บานประตู หรือชิ้นส่วนเรือที่ลอยน้ำมา เป็นต้น จากนั้น สำรวจหาร่องรอยการบาดเจ็บ โดยเมื่อออกห่างเรือมาอยู่ในระยะปลอดภัยแล้วให้รีบสำรวจว่าบาดเจ็บตรงไหนหรือเปล่า ซึ่งจุดที่ควรสังเกตคือ มีเลือดไหลไหม แผลเล็กหรือใหญ่ มีแขนขาหักหรือไม่ เป็นต้น และ ถ้าหากบาดเจ็บ…ให้รีบพยายามปฐมพยาบาลด่วน…

เพราะจะเป็นอุปสรรคต่อการว่ายน้ำ

สำหรับกรณีที่พบว่าตนเองบาดเจ็บ และมีเลือดไหล ก็มีวิธีปฏิบัติคือ ให้หาวิธีห้ามเลือด เพราะถ้าเสียเลือดมาก จะยิ่งทำให้เสี่ยงที่จะเกิดภาวะตัวเย็นเกิน (hypothermia) หรือถ้าแขนขาหัก ต้องรีบขอความช่วยเหลือจากผู้รอดชีวิตคนอื่นให้ช่วยปฐมพยาบาลเร่งด่วน เพราะจะทำให้ว่ายน้ำได้ยากลำบากมากขึ้น และถ้าสำรวจร่างกายแล้วไม่พบสิ่งผิดปกติ ก็ ควรไปช่วยคนอื่น โดยเฉพาะผู้ที่บาดเจ็บสาหัส หรือต้องการความช่วยเหลือด่วน เช่น คนที่กำลังช็อค คนที่ได้รับการกระทบกระเทือน

ทั้งนี้ ยังมีคำแนะนำเพิ่มเติมกรณีที่อาจต้องลอยคออยู่ในน้ำนาน ๆ หลังเหตุเรือล่ม คือ… ถ้าเป็น ในทะเล ผู้รอดชีวิตทุกคน ควรรวมกลุ่มกัน เพราะยิ่งเกาะกลุ่มกันก็ยิ่งเพิ่มโอกาสรอดมากขึ้น, มองหาเสบียง ยิ่งหาได้เยอะยิ่งเพิ่มโอกาสรอดชีวิตได้นานขึ้น ซึ่งเสบียงที่สำคัญก็คือน้ำจืด, อย่าให้เกิดภาวะตัวเย็นเกิน เพราะนอกจากจมน้ำตายแล้ว ภาวะตัวเย็นเกินก็ถือเป็นอันตรายสำหรับคนที่เพิ่งรอดชีวิตจากเรือล่ม เพราะ แช่อยู่ในน้ำนาน ๆ อุณหภูมิจะลดต่ำลง จนช็อกแล้วตายได้!!

กับกรณี เรือล่มในทะเล นี่ก็ยังมีคำแนะนำเฉพาะอีก เช่น… ให้ระวังฉลาม ซึ่งหากพบฉลาม อย่าตีน้ำหรือสาดน้ำไล่ แต่ควรทำตัวนิ่ง ๆ ไม่ดึงดูดความสนใจ, มองหาฝั่ง โดยมองไปที่เส้นขอบฟ้า, พยายาม ทำน้ำจืดดื่ม เช่น ใช้แผ่นพลาสติกขนาดใหญ่กางปูบนแพยางหรือเรือชูชีพเพื่อรองน้ำ ซึ่งถ้าฝนตกก็จะช่วยรองน้ำไว้ได้ หรือฝนไม่ตกก็อาจจะมีหยดน้ำที่กลั่นตัวจากน้ำค้างบ้าง ทั้งนี้ ห้ามดื่มน้ำทะเลเด็ดขาด เพราะจะยิ่งทำให้ร่างกายขาดน้ำ …เหล่านี้เป็นข้อมูลคำแนะนำโดยสังเขป…

“วิธีรอดชีวิต” จาก “ภัยเรือคว่ำ-เรือล่ม!!”

เรื่องนี้ก็ “รู้ไว้ใช่ว่า” น่าพินิจพิจารณาไว้

ย้ำกันไว้ “ภัยรูปแบบนี้อาจไม่ไกลตัว!!”.