ซึ่งเหตุครั้งนี้เกิดกับ “เรือเทียบข้าง” ที่ล่ม-จมไปในระหว่างกำลังประคองเรือบรรทุกสินค้าให้ “เรือลากจูง” เข้าพ่วงโยง ซึ่งนี่เป็นอุบัติเหตุเกี่ยวกับเรือลากจูงที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันในช่วงไม่กี่เดือน หลังจากก่อนหน้าก็เพิ่งเกิดอุบัติเหตุเรือลากจูงเสียการทรงตัวจากกระแสน้ำเชี่ยวในบริเวณใกล้ ๆ กันนี้ ซึ่งเหตุดังกล่าวนี้ เรือเกือบพุ่งชนแพบริเวณหน้าวัดแห่งหนึ่ง จนกลายเป็นคลิปไวรัลในโลกโซเชียลที่ชวน “หวาดเสียว!!” …

“เรือลากจูง” ยุคนี้ “ยังมีบทบาทสำคัญ”

และก็มีการ “เกิดอุบัติเหตุอยู่เนือง ๆ”

ลองย้อนดู “อุบัติเหตุเกี่ยวกับเรือลากจูง” ย้อนดูแค่ในปี 2564 เรื่อยมาจนถึงช่วงนี้ในปี 2565 ก็มีเหตุการณ์ที่ “เรือลากจูง” นั้น “ล่ม-อับปาง” เกิดขึ้นแบบต่อเนื่อง โดย ปี 2564 นั้น ใน เดือน ก.ย. มีเหตุ “เรือลากจูงล่ม” ที่บริเวณบรรจบกันของแม่น้ำเจ้าพระยา-แม่น้ำป่าสัก จนทำให้คู่สามีภรรยาที่มีอาชีพขับเรือลากจูงลำดังกล่าว “เสียชีวิต” โดยเหตุการณ์ครั้งนั้นถือเป็น “อุบัติเหตุเรือลากจูง” เหตุการณ์แรก ๆ ที่อื้ออึงในช่วงปีสองปีมานี้…ก่อนที่จะเกิดกรณีอื่น ๆ ตามมาอีก…

เมื่อเข้าสู่ ปี 2565 ในช่วง เดือน พ.ค. ก็เกิดอุบัติเหตุ “เรือลากจูงล่ม” อีกครั้งในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยเรือลากจูงได้ล่มและจมลงในแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้กับบริเวณท่าน้ำของโรงเรียนแห่งหนึ่ง โดยอุบัติเหตุครั้งนี้มีสาเหตุเกิดจาก “มีน้ำรั่วเข้าตัวเรือ” ซึ่งเหตุการณ์นี้ก็มีผู้ “เสียชีวิต” ไป 2 คน โดยเป็นคู่แม่ลูกที่พักอาศัยอยู่บนเรือลากจูงลำดังกล่าว

มาถึง เดือน ก.ย. ก็มีเหตุ “เรือลากจูงพลิกคว่ำ” ในแม่น้ำเจ้าพระยาอีกเช่นกัน โดยเรือลำที่พลิกคว่ำนั้นเป็นหนึ่งในฝูงเรือลากจูงที่มาทำหน้าที่ประคองเรือบรรทุกสินค้าหรือเรือพ่วง ซึ่งสาเหตุเกิดจากการที่มีคลื่นซัดกระแทกเข้าหัวเรือจนทำให้ “เรือเสียหลักไปชนกับเรือลำอื่น” จนพลิกคว่ำ …นี่เป็น “อุบัติเหตุเกี่ยวกับเรือลากจูง” บางส่วนที่ปรากฏเป็นข่าว…

แต่ละครั้งที่เกิดมักมีภาพ “ชวนระทึก!!”

ทั้งนี้ ว่าด้วย “การลากจูงเรือ” นั้น ก็มีข้อมูลที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” นำมาสะท้อนต่อ โดยใน “ตำราการเดินเรือ” ของ กองวิชาการเรือและเดินเรือ โรงเรียนนายเรือ ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า… การพ่วงจูง (Towing) นั้น ส่วนใหญ่วิธีการจูงเรือทั่วไปมิได้กำหนดขึ้นไว้เป็นมาตรฐานแน่นอน การที่เรือลำหนึ่งจะจูงเรืออีกลำจะขึ้นอยู่กับชนิดของเรือที่เกี่ยวข้อง สภาพเรือที่ถูกจูง รวมถึงความเร่งด่วนของสถานการณ์ ดินฟ้าอากาศ เส้นทาง ขณะที่ “นิยาม” ของ “เรือลากจูง” จะหมายถึง เรือที่จูงเรืออื่นไป และสำหรับ  “เรือพ่วง” ก็จะหมายถึง เรือที่ถูกเรืออื่นจูงไป …นี่เป็นข้อมูลคำอธิบายโดยสังเขป…

กับ “การลากจูง-เรือลากจูง-เรือพ่วง”

สำหรับ “หลักการนำเรือเข้าพ่วงจูง” กรณีเป็นเรือมาตรฐานที่มีปืนส่งเชือก ในตำราดังกล่าวข้างต้นแจกแจง สิ่งที่ผู้นำเรือจูงจะต้องพิจารณาก่อนเข้าพ่วงจูง ไว้ว่า… มีหลักปฏิบัติคือ…เรือลากจูงต้องเข้าหาให้ห่างจากเรือพ่วงไม่ให้เกินระยะของปืนส่งเชือก ซึ่งถ้าห่างเกิน 100 ฟุต จะเกิดความยุ่งยากในการปฏิบัติงาน โดย เรือที่จะเป็นเรือจูงต้องเป็นเรือที่มีสภาพดี และการพ่วงจูงให้เริ่มจากนำเรือเข้าใกล้ด้านเหนือลมของเรือพ่วง จัดตำแหน่งเรือให้ขนานกันในระยะห่างประมาณ 100 ฟุต เมื่อท้ายเรือจูงผ่านหัวเรือลำที่จะพ่วงจูงในระยะที่ส่งเชือกได้ ก็ให้นำส่งด้วยปืนส่งเชือกให้เรือลำที่จะพ่วงจูง

จากนั้น เรือลากจูงต้องรักษาทิศทางเรือให้อยู่ในแนวตรงไป จนเลยหัวเรือพ่วงประมาณ 100 ฟุต และพยายามรักษาตำแหน่งให้เรือจูงอยู่ในลักษณะนี้ในขณะที่ทำการส่งอุปกรณ์พ่วงจูง เมื่อส่งอุปกรณ์พ่วงจูงและต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ กันได้แล้ว เรือลากจูงต้องเริ่มใช้ความเร็วต่ำเพื่อเริ่มพ่วงจูงเรือ และขณะที่เดินทาง ถ้ามีคลื่นใต้น้ำ เรือลากจูงต้องปรับแต่งความยาวของเชือกพ่วงให้เรือลากจูงเรือพ่วงอยู่บนส่วนของคลื่นเดียวกันตลอดเวลา ถ้าสภาพอากาศหรือกระแสน้ำเลวร้าย ต้องลดความเร็วลงเพื่อลดกำลังตึงในเชือกพ่วง …นี่เป็นคำอธิบาย “หลักการพ่วงจูงเรือ” ในตำราดังกล่าว

“ลากจูงเรือ” ก็ “เป็นศาสตร์แขนงหนึ่ง”

ขณะที่ข้อมูลจากอีกแหล่งนี่ก็น่าพินิจ… โดย กรมเจ้าท่า ได้ระบุ “สาเหตุ” ของ “อุบัติเหตุการจราจรทางน้ำ” ไว้ว่า… มักมีสาเหตุสำคัญ 2 ประการคือ… “จากตัวบุคคล” ได้แก่ 1.ขาดความรู้ความสามารถความเชี่ยวชาญ ทำให้คาดการณ์สถานการณ์ผิดพลาด 2.ขาดความระมัดระวัง หรือจากความคึกคะนอง 3.ฝ่าฝืนกฎหมาย เช่น ขับเรือด้วยความเร็วเกินกำหนด 4.ผู้ขับเรือมีสุขภาพร่างกายไม่สมบูรณ์ หรือ 5.เมา-เสพสิ่งเสพติด หรือ 6.สภาพจิตใจไม่เป็นปกติ

อีกสาเหตุคือ… “จากสภาพแวดล้อม” ได้แก่ 1.สภาพตัวเรือ ที่อยู่ในสภาพใช้งานไม่ได้ หรือชำรุดทรุดโทรม ไม่ได้มีการตรวจสอบสภาพก่อนใช้งาน 2.สภาพดินฟ้าอากาศ อาทิ ฝนตกหนัก หมอกลงจัด มีพายุ 3.สภาพของแม่น้ำลำคลอง ที่ไม่เอื้อต่อการเดินเรือ 4.การบรรทุกเกินอัตราที่กำหนดไว้ หรือบรรทุกไม่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ เป็นต้น …เหล่านี้เป็นข้อมูลที่มีการระบุไว้ในเอกสารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับสาเหตุการเกิด “อุบัติเหตุจราจรทางน้ำ” ในภาพรวม…

ก็มิใช่ว่าจะชี้ไปที่ “อุบัติเหตุเรือลากจูง”

แต่อุบัติเหตุเรือลากจูงนั้น “เกิดบ่อย”

และก็ “น่าคิด-น่าแก้ไข-น่าป้องกัน”.