ทั้งนี้ กับวิวาทะหรือดราม่ากรณีนี้…ที่มักอื้ออึงมากก็คือ “ศรัทธาตามหลักศาสนา VS ความเชื่อที่ไม่ใช่หลักศาสนา” ซึ่งกับกรณีนี้ก็มีแง่มุมวิชาการที่น่าพิจารณา ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูล…

เรื่อง “ความเชื่อ” เรื่อง “ความศรัทธา”

เป็น “เครื่องมือทางสังคมของมนุษย์”

ที่ “มีประโยชน์แต่ก็สร้างปัญหาได้”

เกี่ยวกับแง่มุมเชิงวิชาการกรณีนี้…ก็มีบทความชื่อ “ศรัทธา : ความเชื่อและความขัดแย้งในศาสนาปัจจุบัน” โดย พระทวีผล อินทวโส นักวิชาการอิสระ ที่มีการเผยแพร่ไว้ทาง www.tci-thaijo.org ซึ่งน่าพิจารณา โดยหลักใหญ่ใจความมีการระบุไว้ว่า… ศรัทธาก็คือความเชื่อถือหรือความเลื่อมใส ซึ่ง… ความเชื่อนั้นก็คือการยอมรับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นความจริงหรือมีการดำรงอยู่จริง โดยอาจเกิดจากการอาศัยประสบการณ์ การไตร่ตรอง หรือการกระทำที่สืบกันมาจากรุ่นสู่รุ่นก็ได้

นี่เป็นการระบุไว้ถึงคำว่า “ศรัทธา”

ที่โยง “ความเชื่อ” และ “ความเลื่อมใส”

ทั้งนี้ พระทวีผล ได้ขยายความเพิ่มเติมไว้ผ่านบทความว่า… ก่อนที่มนุษย์จะมีสิ่งที่ยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจได้นั้น มนุษย์จะต้องมี “ความเชื่อ” ในเรื่องนั้นเสียก่อน ซึ่งความเชื่อส่วนใหญ่จะเป็นไปในทำนองคลองธรรมแห่งคุณงามความดี ที่ประกอบด้วยกุศลเป็นที่ตั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องและเป็นสะพานให้บุคคลดำเนินชีวิตไปสู่จุดหมายปลายทางแห่งความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม แต่ถ้าหากในกรณีที่เป็น “ความเชื่อที่ไร้เหตุผลเป็นความงมงาย” กรณีนี้ก็จะทำให้ชีวิตของบุคคลนั้นอาจจะดำเนินไปสู่หนทางแห่ง “ความหายนะ” ได้ …นี่เป็นหลักใหญ่ใจความโดยสังเขปเกี่ยวกับ “ความเชื่อ” ที่มีการระบุไว้ โดยที่…

โดยปกติความเชื่อควรเป็นเรื่องความดี

ที่ต้องมีเหตุมีผล และช่วยนำไปสู่ชีวิตที่ดี

ข้อมูลในบทความดังกล่าวยังอธิบายไว้อีกว่า… ความเชื่อ” ในภาษาไทย ตรงกับคำว่า “ศรัทธา” ในภาษาสันสกฤต และยังตรงกับภาษาบาลีคำว่า “สัทธา” ด้วย อย่างไรก็ตาม “ความขัดแย้ง” ระหว่าง “ความเชื่อความศรัทธา” ของผู้คนนั้น เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว ส่วนปัญหาที่เกิดมากในปัจจุบันจากความศรัทธาและความเชื่อ โดยเฉพาะที่เกี่ยวโยงกับคำสอน-ศาสนา ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่บางคนมีความเชื่อที่ผิดไปจากหลักศาสนา โดยสิ้นเชิง และ…

มีการนำไป “ใช้แอบแฝงหาประโยชน์”

บางคนเป็น “เหยื่อจากความเชื่อที่ผิด”

ขณะที่ “วิธีป้องกัน” ไม่ให้ “เป็นเหยื่อความเชื่อเป็นเหยื่อความศรัทธา” โดยเฉพาะความเชื่อผิด ๆ ไร้เหตุผล หรือการจะพ้นความขัดแย้งจากความเชื่อนั้น ทาง พระทวีผล ก็ได้ระบุไว้ในบทความดังกล่าวว่า…สามารถ “ปรับใช้หลักพุทธวิธี” ได้ โดยเริ่มจากการต้องมี คุณสมบัติ 5 ประการ ดังนี้… 1.ไม่ลำเอียงเพราะชอบ 2.ไม่ลำเอียงเพราะชัง 3.ไม่ลำเอียงเพราะหลง 4.ไม่ลำเอียงเพราะกลัวและ 5.ต้องรู้ในสิ่งที่คิด ซึ่งประการสุดท้ายนี้จากหลักคำสอนก็ได้มีการอุปมาอุปไมยไว้ว่า…คือการที่ต้องรู้ว่าสลากใดที่จับแล้ว และสลากใดที่ยังไม่ได้จับ …นี่เป็น 5 คุณสมบัติ” อ้างอิงตาม “หลักพุทธวิธี”

เป็นหลักพื้นฐานซึ่ง“ควรจะต้องมี”

ใช้ “ขจัดปัญหาขัดแย้งจากความเชื่อ”

ทาง พระทวีผล ยังได้ระบุไว้ถึงเรื่องราวในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ที่ได้มีการบันทึกไว้ว่า… ในสมัยพุทธกาลนั้นพระพุทธเจ้าทรงใช้วิธีการจัดการและบริหารความขัดแย้งในรูปแบบที่แตกต่างกันไป ซึ่งนับว่ามีความน่าสนใจสำหรับการศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับแนวคิดเรื่องความขัดแย้งและการจัดการความขัดแย้ง เพราะ ปัญหาที่เกิดในปัจจุบันนี้มักเกิดจาก “ความศรัทธา และความเชื่อ” จนทำให้ “เกิดความขัดแย้ง” ในสังคม อีกทั้งหลายคนยังมีความศรัทธาแบบผิดที่ผิดทาง…

มีความศรัทธาผิดที่ผิดทางอย่างสิ้นเชิง…

นี่ก็ยิ่งเป็นปัจจัยทำให้เกิดปัญหาได้ง่าย ๆ

ทั้งนี้ กับเรื่องความขัดแย้งและ “วิธีจัดการ” ความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางชนชั้น ความขัดแย้งทางสังคม หรือ “ความขัดแย้ง” เกี่ยวกับ “ความเชื่อความศรัทธา”นั้น ทาง พระทวีผล อินทวโส ได้ระบุย้ำไว้ในช่วงท้ายบทความว่า… เรื่องนี้พระพุทธเจ้าทรงใช้วิธีการจัดการและบริหารความขัดแย้งในรูปแบบที่แตกต่างกันไป โดยสำหรับปัญหาความขัดแย้งจากศรัทธาและความเชื่อในสังคมปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีความเชื่อที่ผิดไปจากหลักทางศาสนาโดยสิ้นเชิง ซึ่งวิธีที่จะป้องกัน-ขจัดความแย้งจากความศรัทธาและความเชื่อ วิธีที่ง่ายที่สุดคือการมีคุณสมบัติ 5 ประการ ดังที่ระบุข้างต้น…

ไม่ลำเอียง 4 ประการ + รู้ในสิ่งที่คิด”

น่าคิด “ป้องกันขัดแย้งขจัดขัดแย้ง”

และก็รวมถึง “ไม่เป็นเหยื่อ” ด้วย!!.

ทีมสกู๊ปเดลินิวส์