เรียกว่ากระแสฮอตปรอทแตกหลังเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เมื่อ“นายกฯอิ๊งค์” เข้ามาปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ หลังแถลงนโยบายไปเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 ก็ต้องมาเจองานเข้ารัวๆ โดยเฉพาะภัยพิบัติ อุทกภัย นิติสงครามไม่เว้นแต่ละวัน
ขณะที่นโยบายเรือธงที่ต้องจับตาดู ทั้งโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1หมื่นบาท ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ที่กำหนดเริ่มดีเดย์ในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ทั้งหมดยังเป็นลูกผีลูกคน แต่อ่วมที่สุด คือ ความเดือดร้อน อย่างแสนสาหัสของประชาชน ที่ต้องเจอกับวิกฤตอุทกภัย โดยเฉพาะ “เรนบอม” ที่ฝนตกกระหน่ำในหลายจังหวัดและยังไม่รวมพายุลูกใหม่ที่รอถล่มซ้ำ
แม้จะตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย เพื่อเตรียมจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) คณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม และจัดตั้งศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและบริหารสถานการณ์ โดยให้ทุกภาคส่วนบูรณาการเข้ามาบริหารจัดการวิกฤตอุทกภัยครั้งนี้อย่างคล่องตัวรวดเร็วมากขึ้น นอกจากนี้เพื่อให้มีการเตรียมการรับมือและเผชิญเหตุให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
อีกทั้งยังได้มีมาตรการเยียวยาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ แบบด่วนๆ ทุ่มงบ 3,000 ล้านบาท ซับน้ำตาผู้ประสบอุทกภัย ถือว่าเป็นแค่น้ำจิ้ม ซึ่ง“บิ๊กอ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.กลาโหม บอกว่า จะมีการทบทวนมาตรการให้เงินเยียวยาให้ตรงกับสภาพปัจจุบัน ซึ่งมาตรการเยียวยาที่มีอยู่ ก็ใช้มา 10 กว่าปีแล้ว และต้องพยายามไม่ให้มีขั้นตอนทางกฎหมายมากมาย ซึ่งหัวใจสำคัญที่สุด คือการทำให้ประชาชนได้รับการดูแลเยียวยาเร็วที่สุดและสอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน
พร้อมกันนี้“บิ๊กอ้วน” จึงตั้งคณะทำงานขึ้นมาทันที ประกอบด้วยผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อทบทวนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือเยียวยา และศึกษารูปแบบการเยียวยา รวมถึงการกำหนดจำนวนปริมาณ และต้องทำให้จบภายใน 1 สัปดาห์ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้มีมติเห็นชอบต่อไป(24 ก.ย.)
ทั้งนี้ต้องดูว่าหลังจากที่รัฐบาล “แพทองธาร” มีการบูรณาการเยียวยาน้ำท่วมแล้ว ยังมีแผนที่จะรองรับวิกฤตภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นอย่างไร และจะมีประสิทธิภาพหรือไม่ เพราะด้วยสภาวะโลกร้อน อาจทำให้เจอวิกฤติหนักกว่าเดิม
อย่างไรก็ตามในการลงพื้นที่ นายกฯ“แพทองธาร” ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งในการเติมกำลังใจให้กับผู้ประสบภัย แต่กลับถูกวิจารณ์สนั่น ถึงวุฒิภาวะของนายกฯ“อิ๊งค์” จากกรณีการโบกมือทักทายประชาชน ซึ่งอยู่ระหว่างการฟังสรุปสถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดเชียงราย
รวมถึง กรณีน.ส.แพทองธาร ใส่ชุดขาวชูนิ้วทำมินิฮาร์ททั้งสองมือ ขณะถ่ายรูปหมู่คณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล รวมทั้งชักชวนรัฐมนตรีในคณะทำตามด้วย ซึ่งเรื่องนี้นักร้องก็ได้นำไปร้องต่อองค์กรอิสระแล้ว
กลายเป็นประเด็นปลุกให้พวกฝ่ายแค้นออกมาวิจารณ์รุมถล่ม แถมยังเจอ นักร้องหยิบเอาเรื่องเล็กๆ ไปร้องให้เป็นคดีความเผื่อฟลุค ที่เรื่องเล็กก็อาจจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ ซึ่งนับรวมคดีที่ร้องไปแล้วกว่า 10 คดีที่อยู่ในองค์กรอิสระโดยเฉพาะประเด็นจริยธรรมที่เคยทำ “เศรษฐา ทวีสิน” ตกเก้าอี้นายกรัฐมนตรีมาแล้ว
ประเด็นร้อนที่ถาโถมเข้ามาสู่ “นายกฯอิงค์” ปลุกให้พลพรรคเพื่อไทยต้องเดินเกมตั้งกำแพง ลดอำนาจองค์กรอิสระ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยการเสนอแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา มีประเด็นร้อนที่น่าจับตา คือ เรื่อง จริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต โดยเสนอว่า มาตรฐานจริยธรรมควรเริ่มตั้งแต่ศาลฎีการับฟ้องคดีจริยธรรม ถึงจะเข้าข่ายขัดจริยธรรมอย่างร้ายแรง ห้ามเป็นรัฐมนตรี หากศาลรัฐธรรมนูญจะสอย สส.หรือรัฐมนตรี ต้องใช้มติ 2 ใน 3 ถึงจะชอบธรรม
ถ้ามีการเสนอเข้าสู่การพิจารณาสภาผู้แทนราษฎร โอกาสผ่านฉลุยเป็นไปได้ง่าย เนื่องจากเป็นแนวทางการปลดโซ่ตรวนบรรดานักการเมือง ซึ่งงานนี้พรรคประชาชนก็เล่นด้วย และโอกาสผ่านวุฒิสภาสีน้ำเงินก็ไม่ใช่เรื่องยากเช่นกัน แต่ถึงอย่างไรก็ขอให้มองถึงความรู้สึกประชาชนด้วย
เรื่องของจริยธรรม ถ้าเทียบจริยธรรม ความรู้ผิด รู้ชอบ สำนึกของนักการเมืองไทย ต่างจากกับต่างประเทศ หากเทียบกับประเทศญี่ปุ่น ก็เทียบไม่ได้เพราะถ้าเขาเจอเรื่องที่ทุจริต หรือส่งกลิ่นส่อแววทุจริตว่าเข้าไปเกี่ยวข้อง ก็มีการแสดงสปิริตลาออกกันแล้ว
สำหรับสงครามระหว่างบ้านป่ารอยต่อที่มี “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)เป็นเจ้าของบ้าน กับ “นายใหญ่”บ้านจันทร์สองหล้า ที่มีทักษิณ ชินวัตร เป็นเจ้าของบ้าน เพิ่มดีกรีร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ
ต่างฝ่ายเล่นกันหนัก ส่งนักร้องเดินเกม ร้ององค์กรอิสระแบบตีระนาด เรื่องเล็กเรื่องน้อยเหวี่ยงแห่ ร้องตอบโต้กันไปมารายวัน ระหว่างนักร้องของทั้ง 2 ฝั่ง แลกหมัดกันนัว ต้องจับตาว่าใครจะสะดุดขาตัวเอง
ขณะที่รัฐบาล “แพทองธาร” จะดีเดย์แจกเงินหมื่นในวันที่ 25 กันยายนนี้ ให้กลุ่มเปราะบางในโค้งสุดท้าย ซึ่งเป็นไฟต์บังคับให้รัฐบาลต้องแจกเงิน โดยเปลี่ยนรูปแบบจากการแจกเงินดิจิทัลมาเป็นเงินสด 1 หมื่นบาท ให้กับกลุ่มเปราะบาง ผู้ถือบัตรคนจน และคนพิการ จำนวน 14.55 ล้านคน วงเงินที่อนุมัติ145,552 ล้านบาท เชื่อจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 0.35%
แต่งานนี้เจอ “ไหม”น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ออกมาถามว่า โครงการแจกเงินสดให้กลุ่มเปราะบาง ผ่านบัญชีธนาคารระหว่างวันที่ 25-30 ก.ย. ทำไมต้องรีบจ่ายไม่เกินวันที่ 30 ก.ย.ทำกันแบบรีบร้อน เป็นเพราะติดปัญหาข้อกฎหมายหรือไม่ และผู้ไม่มีสมาร์ทโฟนจะสามารถลงทะเบียนเมื่อใด
งานนี้ “เสี่ยหนิม” จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ออกมายอมรับว่ากลัวนักร้อง ที่ขณะนี้มีการร้องเรียนบ่อยครั้ง มุมมองด้านกฎหมายคนละเหลี่ยม จึงต้องจำกัดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น การเลื่อนลงทะเบียนกลุ่มคนไม่มีสมาร์ทโฟน ไม่ใช่เพราะมีปัญหาระบบ ทุกอย่างพร้อมแต่เกรงจะสับสน ภายในเดือน ต.ค.จะดำเนินการต่อให้เรียบร้อย
กลายเป็นการโยนเผือกร้อนออกจากตัว แต่กลับได้เสียงจากกลุ่มเปราะบางไปแล้ว ด้วยการบริหารงานแบบลุกลี้ลุกลน ต้องจับตาเฟส 2 ที่ยังสรุปรูปแบบไม่ได้ ซึ่งตอนนี้บรรดาคนไทยต่างพากันถามกันแล้วว่าจะได้เงินหมื่นกี่โมง
ที่สำคัญโครงการนี้เป็นการเพิ่มการก่อหนี้สาธารณะที่คนไทย ต้องแบกรับหนี้กันบานเบอะ ต้องมาเจอวิกฤตเศรษฐกิจโลกเฟดลดดอกเบี้ย ส่งผลให้ค่าเงินบาทไทยแข็ง เพิ่มเติมด้วยสงครามการสู้รบในตะวันออกกลาง ที่ล่าสุดเกิดเหตุระเบิดระลอกใหม่เกิดขึ้นกับวิทยุสื่อสารระยะสั้น Walkie Talkie ที่ประเทศเลบานอนมองว่าเป็นฝีมือของอิสลาเอล มีคนเจ็บตายจำนวนมากเรื่องนี้อาจเป็นสัญญาณยกระดับสงคราม มีการแก้แค้นกันเกิดขึ้นระหว่าง “เลบานอล”และ “อิสลาเอล”
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยปัญหาสุมไฟท้าพิสูจน์กึ๋นของนายกฯ“แพทองธาร” ว่าจะสามารถเอาอยู่หรือไม่.