แต่ล่าสุดกระแสนิยมโหมกระพือถึงขั้น “ปรากฏการณ์”  ดังที่รู้ ๆ กันกับกรณีหนังทำเงินหลักหลายร้อยล้าน เรื่อง “สัปเหร่อ” แล้วก็ตามมาติด ๆ ด้วยเรื่อง “ธี่หยด” จากที่ก่อนหน้านี้ “กระแสฮิตหนังผี” ก็น่าจับตามากจากหนังเรื่อง “ร่างทรง” ซึ่งเรื่องนี้ดังไกลไปถึงต่างประเทศ…

ไม่เฉพาะแค่ในไทยที่มี “กระแสฮิต”

ในต่างประเทศก็ “ฟีเวอร์ผีไทย” ด้วย

จากนี้ “น่าจับตาซอฟต์พาวเวอร์ผีไทย”

ทั้งนี้ กับกระแส “ผีไทยฟีเวอร์” นี่วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็มีข้อมูลมาสะท้อนต่อโดยมีประเด็นน่าสนใจผ่าน “มุมสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา” ที่มีมุมมองมากกว่าจะเป็นเพียงเรื่องของ “ความน่ากลัว-ความเชื่อ” เพราะเรื่อง “ผี” นี่ยังสามารถนำมาใช้อธิบายและสะท้อนให้สังคมเห็น “ปรากฏการณ์ทางสังคม” ได้ใน “หลาย ๆ มิติ” อีกด้วย ซึ่งนับแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้วันนี้จะเป็น “โลกสมัยใหม่” หากแต่ “ความเชื่อ” ในเรื่อง “ผี-วิญญาณ” ก็ยัง “ไม่เลือนหายไปจากสังคมไทย” ทั้งยัง “มีพัฒนาการ-มีการปรับตัว” มีการใช้ความเชื่อนี้เป็นเครื่องมือทางสังคมให้สอดรับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง

เกี่ยวกับ “ความเชื่อเรื่องผีและวิญญาณ” นี้ เรื่องนี้มีการสะท้อนไว้ผ่านบทความ “ผี : มิติความเชื่อกับมุมมองเชิงสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา” โดย เกียรติศักดิ์ บังเพลิง คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งได้ศึกษาและสะท้อนไว้ว่า… การศึกษาเรื่องนี้มีเป้าหมายเพื่อทำความเข้าใจสังคม วัฒนธรรม “ความเชื่อด้านวิญญาณนิยม (animism)” โดยถึงแม้ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นโลกสมัยใหม่ แต่ ความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติได้ปรับตัวอยู่ร่วมกับคุณค่าและอุดมการณ์ใหม่ภายใต้สังคมที่เปลี่ยนไป ด้วย และที่สำคัญ ความเชื่อนี้มีการ “ก่อตัวเป็นสินค้าเชิงวัฒนธรรม”…

กลายเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยว

ในแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับ “ผี-วิญญาณ” ดังที่ระบุข้างต้น ได้มีการอธิบายไว้ว่า.. .หากพิจารณาถึง “นิยาม” ตาม “ความเชื่อวิญญาณนิยม” แล้ว…จะหมายถึงการ นับถือพลังเหนือธรรมชาติที่มีความเชื่อว่าสามารถส่งผลดีหรือผลร้ายต่อมนุษย์และสังคมได้ โดยความเชื่อนี้มีพัฒนาการมาตั้งแต่ยุคบรรพกาลควบคู่กับการเกิดขึ้นของมนุษย์ และดำรงอยู่มากมายในท้องถิ่นต่าง ๆ ตามกลุ่มทางวัฒนธรรม ซึ่งความเชื่อนี้ยังถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ รวมถึงเป็นที่มาของกฎเกณฑ์และระเบียบแบบแผนที่ส่งผลต่อการจัดระเบียบสังคม และกำหนดกรอบให้สมาชิกเกิดสำนึกร่วมกันในความเป็นกลุ่มสังคม…

ตลอดจนใช้เป็นอีก “เครื่องมือสำคัญ”

การ “จัดสร้างลำดับชั้นความสัมพันธ์”

เพื่อ “จัดองค์กรทางสังคมให้เหมาะสม”

นอกจาก “ความเชื่อผีและวิญญาณ” จะเป็นเครื่องมือในการสร้างองค์กร-จัดลำดับชั้นความสัมพันธ์ทางสังคมแล้ว ก็ยังเป็นเสมือน “กลไกควบคุมสังคม” ที่ทำให้เกิดกฎเกณฑ์ จารีต ประเพณี วิธีปฏิบัติของสังคม โดย “ผี” ในทัศนคติของชาวบ้านมีการมองว่า… “ผีมีความสำคัญต่อวิถีดำเนินชีวิต” เพราะผีเป็น ผู้ให้ความหมาย หรือผู้วางกฎเกณฑ์การดำเนินชีวิต ที่ช่วยให้เกิดดุลยภาพในสังคม โดยผีและวิญญาณยัง มีบทบาทสำคัญช่วยให้สังคมชุมชนได้มีโอกาสทบทวนตรวจสอบความผิดพลาดที่เกิดขึ้น…เพื่อแก้ไขความผิดพลาด …นี่เป็นความสำคัญของ “สิ่งเหนือธรรมชาติ” ผ่าน“ผี-วิญญาณ”

ส่วน “ประเภทผี” ที่ปรากฏใน“ความเชื่อวิญญาณนิยมในคนไทย” ในบทความดังกล่าวได้แจกแจงไว้ว่า… พอจะแบ่งออกเป็นชั้น ๆ ได้ดังนี้… “ผีฟ้า” เป็นความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับกำเนิดโลกและมนุษย์, “ผีเมือง” ที่เป็นเรื่องของผีที่ปกปักรักษาเมือง, “ผีบรรพบุรุษ” เป็นสัญลักษณ์เพื่อสะท้อนถึงการยอมรับอำนาจของพุทธศาสนาของระบบความเชื่อดั้งเดิม, “ผีบ้าน” ที่ถือเป็นผีบรรพบุรุษอีกประเภทหนึ่งซึ่งมักจะถูกเคารพโดยสมาชิกในครอบครัว หรือในชุมชนนั้น ๆ ร่วมกัน, “ผีเรือน” มีบทบาทเกี่ยวกับการดูแลปกป้องคุ้มครองลูกหลานและสมาชิกเครือญาติครอบครัว …นี่เป็น “ประเภทชั้นผีต่าง ๆ กับความเชื่อ” ที่…

แต่ละประเภทมีบทบาทหน้าที่ต่างกัน

ทั้งนี้ เกียรติศักดิ์ บังเพลิง ระบุไว้ในบทความ “ผี : มิติความเชื่อกับมุมมองเชิงสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา” ด้วยว่า… “ความเชื่อวิญญาณนิยม” ที่เป็นการนับถือพลังเหนือธรรมชาติ มีการพัฒนามาตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงปัจจุบันนี้ โดยมีการปรับตัวตามเงื่อนไขและสถานการณ์ต่าง ๆ ในหลายมิติ ทำให้ความเชื่อนี้ยังคงมีอิทธิพลต่อมนุษย์ และก็ส่งผลทำให้ “ผีและวิญญาณ” รวมถึง “สิ่งเหนือธรรมชาติต่าง ๆ” นั้น…แม้บริบทสังคมจะเปลี่ยนแปลงไป แต่ “ความเชื่อยังคงดำรงอยู่ได้” ซึ่งนี่เป็นเพราะความเชื่อนี้ได้เกิดการผสมผสานอย่างยืดหยุ่นกับสภาพสังคมใหม่ ที่เดิมที “ความเชื่อ” นี้มักถูกนำมาใช้เป็นพลังอำนาจต่อต้านของชุมชนจากการเปลี่ยนแปลงภายนอก แต่ในยุคปัจจุบันนี้ได้ “ถูกนำมาใช้ในมิติใหม่ ๆ” เพิ่มเติม

“สังคมยุคใหม่” การ “เชื่อผีก็มีมิติใหม่”

นี่ “เป็นคนละเรื่องเดียวกันกับหนังผี”…

ที่ “2 เรื่องล่าสุดโกยมุ่งพันล้านแล้ว!!”.