เรื่องนี้ “สุพันธุ์ มงคลสุธี” ประธานกิตติมศักดิ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ฉายภาพให้เห็นว่า เอสเอ็มอีกว่า 3 ล้านรายในประเทศไทย มีเพียงส่วนน้อยที่เข้าใจและเริ่มปรับตัวมุ่งสู่การผลิตสินค้าแบบมีมูลค่าเพิ่ม (High value-added product) ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต การคำนึงถึงการผลิตที่ตอบโจทย์ของชุมชนและสังคม รวมถึงการบริหารจัดการที่โปร่งใส คำนึงถึงผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือการผลิตที่เป็นไปตามแนวคิด ESG หรือ Environmental (สิ่งแวดล้อม) Social (สังคม) และ Governance (ธรรมาภิบาล)
“เอสเอ็มอีไทยต้องปรับตัว หรือ ปรับเปลี่ยนการผลิตใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับกระแส ESG ที่เป็นกระแสโลกในเวลานี้ ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่างพุ่งเป้าไปที่ความยั่งยืน เพราะเชื่อว่า ESG จะส่งผลดีต่อธุรกิจในระยะยาว จึงเห็นตัวอย่างธุรกิจกิจหลาย ๆ แห่งปรับเปลี่ยนกระบวนการแปรรูปสินค้าใหม่ เป็นการสร้างโอกาสในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น เพราะเป็นเรื่องของการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเหลือใช้ที่ตรงกับแนวคิดดังกล่าวพอดี” สุพันธุ์ กล่าว
สินค้าเอสเอ็มอีร่วงไม่ตอบโจทย์
นับตั้งแต่ปี 2566 ที่ผ่านมา สถานการณ์การผลิตสินค้าของไทยโดยเฉพาะเอสเอ็มอี ได้ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ผลิตสินค้าออกมาจำหน่ายไม่ค่อยได้ เพราะหลาย ๆ ผลิตภัณฑ์ไม่ตรงกับความต้องการของตลาดทั้งในไทยและตลาดโลก เพราะสินค้าที่เป็นความต้องการของตลาดส่วนใหญ่ต้องการสินค้าประเภทที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
นอกจากนี้ความเข้มข้นของกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าอย่างเช่น มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ซึ่งเป็นการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาในสหภาพยุโรป ที่เป็นภูมิภาคที่ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง
รวมไปถึงมาตรการกำหนดกลไกราคาคาร์บอน หรือ Clean Competition Act (CCA) ของสหรัฐอเมริกา ที่ตั้งเป้าเก็บภาษีคาร์บอนกับสินค้าที่กระบวนการผลิตมีการปล่อยคาร์บอนปริมาณสูง โดยเสนอให้ผู้ผลิตของสหรัฐ และผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ จะต้องเสียภาษีคาร์บอน 55 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อการปล่อยคาร์บอน 1 ตัน หากกระบวนการผลิตสินค้ามีการปล่อยคาร์บอนเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งเริ่มบังคับใช้ในปี 2567 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สารพัดเหตุยังไม่เข้าถึง ESG
“เหตุผลหลัก ๆ ของเอสเอ็มอี คือ การขาดแหล่งเงินทุนสนับสนุนที่จะนำมาใช้ปรับปรุงกระบวนการผลิต เรื่องเงินทุน เป็นข้อจำกัดอันดับต้น ๆ ของเอสเอ็มอี ดังนั้นภาครัฐเอง หรือรัฐบาลใหม่ก็ดี จะต้องมีแนวทางหรือช่องทางให้เอสเอ็มอีเข้าถึงเงินทุนเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตได้ง่ายขึ้น แม้ภาครัฐจะบอกว่ามีกองทุน หรือแหล่งเงินกู้ช่วยเหลือ และมาตรการภาษี ที่จะสนับสนุนให้เอสเอ็มอีสามารถเข้ามาปรับปรุงประสิทธิภาพ แต่ในความเป็นจริงเอสเอ็มอีไม่สามารถเข้าถึงการบริการเหล่านั้นได้”
ขณะเดียวกันจากรายงานฉบับดังกล่าวก็พบว่า เอสเอ็มอีกว่า 22% กลับไม่แน่ใจว่า ESG จะส่งผลดีจริงต่อธุรกิจ และอีกกว่า 4% มองว่าจะส่งผลกระทบเชิงลบ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเอสเอ็มอียังขาดความรู้ความเข้าใจอีกมากเกี่ยวกับ ESG และความเปลี่ยนแปลงของโลกกระทบต่อการทำธุรกิจ
เอสเอ็มอีไทยกว่า 45% ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิด ESG ส่วนอุปสรรคอื่นประมาณ 32% กังวลว่า การปรับตัวสู่ ESG จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น อีก 30% มองว่าธุรกิจตัวเองจะเผชิญกับปัญหาด้านเงินทุนและสภาพคล่อง และอีก 17% ยังไม่เห็นความสำคัญหรือผลกระทบที่ชัดเจนของ ESG ต่อธุรกิจของตน มีเพียง 3% ที่ระบุว่า ไม่มีปัญหาหรืออุปสรรคในการปรับตัวสู่ ESG
แนะรัฐเร่งวางยุทธศาสตร์ใหม่
“สุพันธุ์” มองว่า รัฐบาลจะต้องเร่งวางยุทธศาสตร์ใหม่ในการพัฒนาเอสเอ็มอีไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ให้สอดคล้องวิถีและแนวคิด ESG ของโลก ต้องมีมาตรการพัฒนาเอสเอ็มอี หรือการให้ความรู้แก่เอสเอ็มอีไทยถึงการปรับตัวท่ามกลางกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลง เช่น การสนับสนุนส่งเสริมให้เอสเอ็มอีเลือกใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแทนการใช้พลังงานที่ก่อให้เกิดมลพิษ เช่น ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ หรือปรับการเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีสามารถขายไฟคืนภาครัฐได้
ปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตหรือบริการ เพื่อใช้พลังงานหรือทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การนำส่วนเหลือจากการผลิตที่เคยทิ้งเป็นขยะมาเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ การบริหารจัดการนํ้าอย่างยั่งยืน เช่น รณรงค์การประหยัดนํ้าในองค์กร หรือบำบัดนํ้าเสียเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นต้น การลดของเสียจากกระบวนการผลิตหรือบริการ โดยใช้หลักการ 3R คือ Reduce (ลดการใช้) – Reuse (นำกลับมาใช้ซ้ำ)- Recycle (นำกลับมาใช้ใหม่)
พี่ใหญ่ต้องช่วยเอสเอ็มอี
นอกจากนี้ทั้งภาครัฐและกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ ๆ จะต้องร่วมมือกันในการช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอี อย่างเช่นการบริหารจัดการต้นทุนที่เป็นประโยชน์ ที่ส่งเสริมเอสเอ็มอีในการทำ ESG เพราะปัจจุบันบริษัทขนาดใหญ่อยู่บนระดับสูงสุดของห่วงโซ่อุปทาน เป็นต้นนํ้าของอุตสาหกรรมทั้งหมดที่ดูแลเรื่องวัตถุดิบที่ป้อนให้ตลาดโดยเฉพาะผู้รับซื้อวัตถุดิบอย่างเอสเอ็มอี ในราคานี้สามารถแข่งขันได้ โดยเฉพาะการผลิตเพื่อการส่งออก
“บริษัทขนาดใหญ่ ๆ ต้องมาช่วยเหลือบริษัทขนาดเล็ก เพราะถนัดในเรื่อง ESG อยู่แล้วและผลิตภัณฑ์ของบริษัทขนาดใหญ่ ๆ ก็คือ วัตถุดิบต้นนํ้า ภาครัฐอาจจะมีมาตรการด้านภาษีหรือสิทธิประโยชน์ช่วยเหลือกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่ช่วยเหลือเอสเอ็มอี”
ขณะเดียวกันสิ่งที่ภาครัฐต้องลงมือทำอย่างจริงจังคือ การสร้างตลาดเพื่อสร้างโอกาสให้เอสเอ็มอีไทย มีพื้นที่ในการกระจายสินค้า จำหน่ายสินค้าภายใต้กระบวนการ ESG
การวางรูปแบบการพัฒนาแพลตฟอร์มการขับเคลื่อนธุรกิจให้ยั่งยืนโดยเฉพาะ Carbon Credit Trade platform เป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลต้องจัดทำร่วมกับภาคเอกชนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีหน่วยงานรองรับอยู่แล้ว จะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการให้สามารถซื้อขาย Carbon Credit เพื่อเป็นประโยชน์กับภาคการเกษตร และเอสเอ็มอี โดยมีการจัดอบรมอย่างเป็นรูปธรรมให้ประกอบการเข้าถึง และใช้จุดแข็งของแต่ละฝ่ายร่วมกันเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด อีกทั้งเอสเอ็มอีสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมและมีบทบาทมากขึ้น
ชูไทยผู้นำ ESG ภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม เอสเอ็มอียังมีศักยภาพในการพัฒนาและขับเคลื่อนธุรกิจให้ยั่งยืนสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สังคมและมีความโปร่งใส แต่บางส่วนก็ต้องการการสนับสนุนหลาย ๆ ด้านจากภาครัฐ ซึ่งจะทำให้เอสเอ็มอีสามารถเริ่มต้นพัฒนาธุรกิจตามแนวทาง ESG ได้อย่างยั่งยืนในอนาคต
“ผมหวังว่า ผู้ประกอบการเราจะไม่ตกขบวน การเปลี่ยน แปลงในครั้งนี้ และเราควรเป็นผู้นำขบวนในภูมิภาคนี้ จะทำให้เราเป็นผู้นำทางด้าน ESG ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก” สุพันธุ์ มงคลสุธี กล่าวทิ้งท้าย.