และก็ยังตอบคำถามที่มีผู้สงสัยว่า… ทำไมไม่ยอมทำเรื่องเบิกเบี้ยยังชีพ?? ชนิดชวนอึ้งว่า… ไม่ทำเพราะได้เงินน้อย…ขอทานได้เงินเยอะกว่า!! โดยหลังจากได้มีการเปิดเผยเรื่องราวของหญิงชราคนดังกล่าว เรื่องนี้กรณีนี้ได้กลายเป็นกระแสฮือฮา และนี่ก็เป็นอีกครั้งที่…

“กรณีอาชีพขอทาน” ทำให้ “สังคมอึ้ง”

จากที่ในอดีตก็มีกรณีให้อึ้งอยู่เนือง ๆ

ทั้งนี้ กับ “อาชีพขอทานในไทย” นั้น…ในอดีตไทยก็เคยมีปัญหาจากการที่ จำนวนขอทานเพิ่มขึ้นมาก จนนำสู่แนวคิดการ “จัดระเบียบอาชีพขอทาน” ซึ่งหลังจากที่มีการดูแลควบคุมเข้ม ก็ส่งผลทำให้จำนวนขอทานลดลงไปสักพัก ก่อนจะกลับมาเพิ่มขึ้นอีกในภายหลัง ซึ่งก็สะท้อนว่า… อาชีพขอทานไม่เคยหมดไปจากสังคมไทย โดย “ปัจจัย-สาเหตุ” ที่มีส่วนสนับสนุนให้ “วงจรขอทานเป็นอมตะ” ไม่หมดไปนั้น ส่วนหนึ่งมาจาก “ความใจดีของคนไทย-ความขี้สงสารของคนไทย” ที่นอกจากจะมีผู้สิ้นไร้ไม้ตอกหันมา “ทำอาชีพขอทาน” แล้ว ก็มีคนบางกลุ่มที่ใช้ลักษณะนิสัยที่ดีของคนไทยในการทำธุรกิจ…

ก่อกำเนิด “ธุรกิจขายความน่าสงสาร”

และก็ลาม “ยึดโยงแก๊งค้ามนุษย์ด้วย!!”

เกี่ยวกับ “มุมสะท้อนต่อกรณีขอทานในไทย” นั้น…ที่ผ่านมาทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็เคยมีการนำเสนอ เคยมีมุมสะท้อนที่อธิบายและฉายภาพให้คนไทย-สังคมไทย “มองเห็น-เข้าใจ-ตระหนัก” ถึง “ปรากฏการณ์ขอทาน” ที่เกิดขึ้นในไทย และกับเสียงสะท้อนจากทาง อัจฉรา สรวารี ในฐานะเลขาธิการ มูลนิธิอิสรชน ถึงวันนี้ก็ยังคง “น่าสนใจ…อย่างร่วมสมัย” โดยหลักใหญ่ใจความสำคัญที่น่าจะได้พิจารณากันอีก ก็คือ…“อาชีพขอทานเป็นธุรกิจขายความน่าสงสาร” ซึ่งทางอัจฉราระบุไว้ว่า…แม้ว่ามูลนิธิอิสรชนจะไม่ได้ทำประเด็นเรื่องขอทานโดยตรง และก็ไม่เห็นด้วยกับการขอทาน แต่มูลนิธิฯ ก็เคยได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดระเบียบเรื่องคนเร่ร่อนขอทาน เนื่องจากคนไทยมักจะเรียกคนกลุ่มนี้แบบรวม ๆ ว่า… เร่ร่อนขอทาน

อย่างไรก็ตาม ทางเลขาธิการมูลนิธิอิสรชนได้กล่าวถึงความพยายามในการสื่อสารกับสังคมไทยไว้ว่า… สังคมจะต้องมองแบบแยกส่วนด้วยความเข้าใจ โดย “คนเร่ร่อน” ก็ส่วนเร่ร่อน…คนเร่ร่อนส่วนใหญ่มักจะไม่มานั่งขอทาน ขณะที่ “คนขอทาน” นั้น…ก็ “มีส่วนที่เลือกทำอาชีพนี้โดยมองเป็นธุรกิจ” ซึ่งพูดกันในมุมความสงสาร ก็ต้องยอมรับว่า…สังคมไทยเป็นสังคมใจดี เห็นอะไรที่สงสารก็จะเอาเงินให้ ซึ่งได้เคยแลกเปลี่ยนความเห็นกับเพื่อนชาวต่างชาติ ก็มีความเห็นเหมือนกันว่า… “การให้เงินขอทานไม่ใช่การแชร์ริ่ง-แบ่งปัน??” อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงยากที่จะหยุดหรือห้ามไม่ให้มีการให้เงินขอทาน…

จัดระเบียบจึงเป็นมิติที่ต้องสู้กับสังคม

เพราะไทยเป็นสังคมใจดีและขี้สงสาร…

เลขาธิการมูลนิธิอิสรชนคนเดิมยังสะท้อนไว้ถึงประเด็น “ปัญหาขอทานที่เพิ่มขึ้น” ว่า…ในภาพรวมต้องถือเป็นความล้มเหลวจากระบบสวัสดิการรัฐที่ผ่านมา เพราะคนที่ขอทาน ไม่มั่นใจในสวัสดิการ หรือเข้าไม่ถึงสวัสดิการรัฐ ขณะเดียวกัน พอคนไปเจอคนขอทาน ก็สงสาร ก็ให้เงิน จึงทำให้ ขอทานขยายวงกว้าง จากการที่ไม่ต้องลุกขึ้นมาทำอะไร แค่ทำตัวให้น่าสงสารคนก็ให้เงิน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะนี้ แต่… ก็มีบางเคสที่ไม่อยากจะทำอาชีพขอทาน แต่ต้องทำเพื่อความอยู่รอด และตอนนี้ไม่ใช่ยุคที่จะมาพูดถึงจิตสำนึกก่อน แต่เป็นยุคที่ต้องพูดถึงเรื่องปากท้องและความอยู่รอดก่อน ซึ่งนี่ก็ยิ่ง…

กระตุ้นให้ขอทานในไทยมีเพิ่มเรื่อย ๆ

ที่ “สังคมก็มีส่วนทำให้เกิดวงจรเช่นนี้”

ส่วน “ปุจฉา” ที่ว่า… “ทำไมคนขอทานยิ่งจับก็ยิ่งมี??” ทาง อัจฉรา สรวารี ได้มีการสะท้อนไว้ว่า… สำหรับกรณีแบบนี้ส่วนใหญ่จะเป็น “ขอทานต่างชาติ” โดยเมื่อถูกทางการไทยจับ และถูกผลักดันกลับประเทศไป ปรากฏประเทศต้นทางก็ไม่ค่อยสนใจประชากรของเขา ทำให้เกิดกรณีที่เมื่อทางการไทยจับแล้วส่งกลับ แต่ยังไม่ทันไรขอทานต่างชาติเหล่านี้ก็เดินทางกลับเข้ามาไทยอีก ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ธุรกิจขอทานในส่วนนี้ยังไงก็ไม่มีวันหมด… และ “ปัจจัยสำคัญ” ก็เป็นเพราะ “คนไทยมักจะทำบุญผิดวิธี”โดยถ้าหากสังคมไทยไม่สนับสนุนด้วยการให้เงิน  “ธุรกิจขายความน่าสงสาร”เช่นนี้ก็ไปต่อไม่ได้…

เลขาธิการ มูลนิธิอิสรชน เสนอแนะทางแก้ปัญหาเพื่อ “หยุดวงจรธุรกิจขอทาน” ไว้ด้วยว่า… ต้องอาศัยพลังของสังคมช่วยผลักดันเรื่องสวัสดิการรัฐ ที่เพียงพอทั่วถึงสำหรับคนยากไร้ และ ร่วมผลักดันการแก้ปัญหาจริงจังต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่าน ๆ มาดูจะยังทำได้ไม่ลึกพอ เมื่อเรื่องเงียบไปก็จบ เมื่อมีเรื่องใหม่เกิดอีกก็ถึงจะมีการออกมาขึงขังอีก แล้วก็เงียบไปอีก…

ทั้งนี้ เหล่านี้เป็นโดยสังเขปจาก “มุมสะท้อนกรณีขอทาน” ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” พลิกแฟ้มชวนพินิจกันอีก ซึ่งในปัจจุบัน “ไทยยังคงเป็นตลาดที่ดีสำหรับธุรกิจขอทาน”ทั้งโดยคนไทยเอง และคนต่างชาติ ที่ “ขายความน่าสงสาร”…

ขายแบบเดิม ๆ ไม่ต้องพึ่งออนไลน์…

ก็ยังคงขายได้ขายดี-ยังมีคนขายอื้อ…

และถึงขั้นหวังขายซื้อบ้าน-ซื้อรถ!!.