เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2567 นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจ ในรัฐสภาอาเซียน ได้เข้าร่วมประชุมในการประชุมใหญ่สมัชชารัฐสภาอาเซียน ครั้งที่ 45 หรือ AIPA-45 ที่นครหลวงเวียงจันทร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภานำสมาชิกรัฐสภาไทยเข้าร่วมประชุม
นายอัครเดช เปิดเผยว่า ในฐานะกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจ ของรัฐสภาอาเซียนที่ได้เข้าร่วมประชุมกับ 10 ชาติสมาชิกของสมัชชารัฐสภาอาเซียน ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกัน 8 เรื่อง โดยมีเรื่องที่สำคัญ 4 เรื่อง คือ 1. การเสริมสร้างความร่วมมือและพัฒนาระบบป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ข้ามพรมแดน ซึ่งจะตอบโจทย์ของปัญหาที่ชาติสมาชิกต่างเผชิญร่วมกันคือ การหลอกลวงทางออนไลน์ หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เป็นต้น 2. จากการที่ชาติสมาชิกได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของ Artificial Intelligence หรือ AI ที่มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ดังนั้นชาติสมาชิกจึงตัดสินใจร่วมกันพัฒนา Asian Digital Master Plan เพื่อให้มีการพัฒนา AI ระหว่างชาติสมาชิกอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงริเริ่ม Digital Integration Initiative ที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างชาติสมาชิกของภูมิภาคในด้าน AI ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
3. เป็นการขนส่งระหว่างประเทศในภูมิภาค โดยมีการหยิบกรณีตัวอย่างซึ่งประสบความสำเร็จจากการเชื่อมโยงการขนส่งแบบไร้รอยต่อ (Seamless Transportation) ในอนุภูมิภาค(Sub Religion) ของภูมิภาคอาเซียน คือ กลุ่มประเทศ BIMP อันประกอบด้วย บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ กลุ่มประเทศดังกล่าวนั้นสามารถเชื่อมต่อการขนส่งทั้งการขนส่งคน และการขนส่งของได้อย่างไร้รอยต่อเป็นอันสำเร็จ ซึ่งทาง AIPA จะได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการขนส่ง และกฎหมายร่วมกันเพื่อให้เกิดการขนส่งแบบไร้รอยต่อ(Seamless Transportation) ภายในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งการพัฒนากฎหมายนี้จะต้องมีการพัฒนาในเรื่องมาตรฐานการขนส่ง มาตรการในการลดอุปสรรคในการขนส่งคนและสิ่งของข้ามพรมแดน โดยการพัฒนากฎระเบียบดังกล่าวจะยึดหลักความปลอดภัยและความยั่งยืนต่อไปในอนาคต การพัฒนาการขนส่งแบบไร้รอยต่อนี้ซึ่งจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของภูมิภาคผ่านการระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพ และประเทศไทยจะได้รับผลดีทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก จากข้อได้เปรียบทางยุทธศาสตร์จากการเป็นศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ของภูมิภาคอาเซียน
เรื่องที่ 4 เป็นเรื่องของตลาดการซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Market) ที่เป็นกลไกสำคัญในการรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการเติบโตที่ยั่งยืน ทางที่ประชุมจึงมีมติให้ส่งเสริมให้มียุทธศาสตร์หลักเพื่อจะเปลี่ยนให้เป็นการปฏิบัติจริง ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศของโลก (Climate Changes Goals) โดยยุทธศาสตร์นี้จะอำนวยความสะดวกให้เกิดการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ตลาดคาร์บอนเครดิตที่ยั่งยืน บนพื้นฐานของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงร่วมมือกันลดการใช้เชื้อเพลิงพลังงานจากฟอสซิล
นอกจากนี้ในที่ประชุมกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจ สมัชชารัฐสภาอาเซียน ครั้งที่ 45 หรือ AIPA-45 ยังได้มีการหยิบยกอีกหลายเรื่องขึ้นมาหารือ อาทิ การติดตามความร่วมมือการส่งเสริมการลงทุนทางด้านการเกษตรและอาหาร การติดตามความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเมืองอย่างยั่งยืน การสนับสนุนความร่วมมือด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีตาม ASEAN Connectivity 2025 ซึ่งเป็นแผนแม่บทของชาติสมาชิก และการส่งเสริมทางท่องเที่ยงเชิงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์(Eco and Culture Tourism)