นอกจากแวดวงอนุรักษ์ที่ให้ความสำคัญกับการปกป้องคุ้มครองเต่า ก็เป็นเรื่องดีที่ผู้คนทั่วไป ก็เริ่มตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์เต่าเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม “เต่ายังคงเผชิญกับภัยคุกคาม” อยู่… ซึ่งรวมถึงกรณีที่เป็นผลจากความเชื่อโดยที่มี “ความไม่รู้-ไม่เข้าใจ” จนส่งผลทำให้เต่าหลายชนิดต้อง “เสี่ยงอันตราย!!” หรือ “เสียชีวิต!!”…

“ปล่อยเต่าสะเดาะเคราะห์” ก็อยู่ในข่าย

ปัจจัยนั้นคือ “ความไม่รู้-ความไม่เข้าใจ”

แล้วก็ “ปล่อยเต่าบางชนิดผิดสถานที่!!”

ทั้งนี้ การ “ปล่อยเต่าสะเดาะเคราะห์” นั้น ที่ผ่าน ๆ มา เคยมี “ปุจฉาอื้ออึง” เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ เนื่องจากพบว่า เต่าจำนวนไม่น้อยเสียชีวิตหลังจากมีผู้นำไปปล่อย!! โดยวันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ จากชุดข้อมูล “การปล่อยเต่าทำบุญ” ที่เผยแพร่อยู่ใน วารสารการประมง ปีที่ 66 ฉบับที่ 3 จากชุดข้อมูลที่จัดทำโดยคณะนักวิชาการกรมประมง ประกอบด้วย สุวรรณดี ขวัญเมือง, สุชาติ ไกรสุรสีห์, ณัฐชพงศ์ เพชรฤทธิ์, วิฑารณ์ เจียมตน นักวิชาการ สำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง ที่ได้มีการแจกแจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้น่าสนใจ

ในชุดข้อมูลหรือบทความดังกล่าว ทางคณะนักวิชาการได้มีการระบุถึงเรื่องนี้ไว้ว่า… คนไทยเรามีความเชื่อว่าเมื่อมีความทุกข์ หรือมีเรื่องเดือดร้อนต่าง ๆ เป็นผลมาจากเคราะห์กรรมที่ได้เคยกระทำมาตั้งแต่อดีตชาติหรือในชาตินี้ โดยวิธีหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาสิ่งเลวร้ายต่าง ๆ ให้ทุเลาเบาบางลงไปได้บ้างก็คือ การทำบุญ และการสะเดาะเคราะห์ ซึ่งสำหรับการสะเดาะเคราะห์นั้นก็มีมากมายหลายวิธีที่ใช้ และหนึ่งในวิธีที่คนไทยนิยมมากก็คือ “ปล่อยเต่าสะเดาะเคราะห์” จากการที่เชื่อว่า…หากเจ็บป่วยอยู่ ถ้าปล่อยเต่าจะช่วยให้บรรเทาเบาบางลง เชื่อว่า…ปล่อยเต่าจะช่วยให้อายุยืนยาว โดยอาจไม่ทันได้คิดว่า…

“สถานที่ปล่อย” นั้น “เหมาะกับเต่ามั้ย?”

“เต่าที่ถูกปล่อย” นั้น “จะรอดชีวิตมั้ย?”

และการ “ปล่อยเต่าสะเดาะเคราะห์โดยไม่เหมาะสม” นี้เอง ที่กลายเป็น “ภัยคุกคามชีวิตเต่า” เพราะเต่าที่ถูกนำไปปล่อยอาจจะมีอาการเจ็บป่วย หรือถึงขั้นเสียชีวิต หลังจากที่ถูกนำไปปล่อยไม่นาน เนื่องจากเต่าที่ถูกนำมาขายให้คนซื้อไปปล่อยนั้น มักมีการคละเคล้าเอาเต่าหลาย ๆ ชนิดมารวมกัน ซึ่งเต่าบางชนิดไม่สามารถใช้ชีวิตในสถานที่ที่ถูกนำไปปล่อยได้ เพราะไม่ใช่สายพันธุ์ที่เติบโตและดำเนินชีวิตในสภาพแวดล้อมแบบนั้น จึงทำให้พบ “เต่าเสียชีวิตจำนวนมาก!!” ตามสถานที่ฮิต ที่คนนิยมนำเต่าไปปล่อย อาทิ สระบริเวณวัด ท่าน้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่สังคมไทยนั้น….

“ต้องเข้าใจ” ถึง “ชนิดเต่าที่จะปล่อย”

ต้อง “เลือกสถานที่ปล่อยให้เหมาะสม”

สำหรับ “ชนิดเต่า-สถานที่ปล่อยเต่า” แต่ละชนิดนั้น ในบทความจากแหล่งข้างต้นได้ให้ความเข้าใจไว้ โดยสังเขปมีว่า… เต่ากระอาน เป็นเต่าที่ชอบอาศัยในคลอง ไม่ชอบอยู่บนบก การปล่อยจึงควรปล่อยลงคลองธรรมชาติที่มีน้ำไหล, เต่าหวาย สามารถอาศัยได้ทั้งบนบกและในน้ำ โดยสถานที่ปล่อยควรเป็นแหล่งน้ำปิด ที่ไม่มีกระแสน้ำไหลแรง, เต่าห้วยคอลาย อาศัยอยู่ได้ทั้งบนบกและในน้ำ สถานที่ปล่อยควรจะมีทั้งส่วนที่เป็นน้ำและพื้นดิน ไม่ควรปล่อยลงคลองหรือบริเวณที่กระแสน้ำไหลแรง, เต่าจัน ไม่ชอบอยู่ในน้ำ แต่สถานที่ปล่อยก็ควรมีทั้งที่เป็นน้ำและพื้นดิน ไม่ควรปล่อยลงคลองหรือที่มีกระแสน้ำแรง

เต่าดำ อยู่ได้ทั้งบนบกและในน้ำ แต่สถานที่ปล่อยก็ควรมีทั้งที่เป็นน้ำและพื้นดิน ไม่ควรปล่อยลงคลองหรือบริเวณที่กระแสน้ำไหลแรง, เต่าหับ ที่มีจุดสังเกตได้ง่าย คือเมื่อตกใจจะหดหัวและขาเข้าไปในกระดอง นี่ก็อยู่ได้ทั้งบนบกและในน้ำ โดยสถานที่ปล่อย ควรมีทั้งที่เป็นน้ำและพื้นดิน ไม่ควรปล่อยลงคลองที่กระแสน้ำไหลแรง, เต่านา ที่ส่วนหัวมีลายเส้นสีเหลืองหรือขาว แหล่งอาศัยคือในแหล่งน้ำที่มีพืชปกคลุมหนาแน่น หรือแหล่งน้ำจืดไหลช้า หรือน้ำนิ่ง ๆ เช่น หนองน้ำ ทุ่งที่มีน้ำท่วมขัง

เหล่านี้เป็น “ชนิดเต่าที่มีการปล่อย”…

ปล่อย “ในสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม”

ดังนั้น จะปล่อยเต่าก็ควรต้องศึกษาชนิดเต่าให้เข้าใจ ซึ่งในบทความโดยนักวิชาการกรมประมง ยังได้ให้คำแนะนำไว้ว่า… ควรปล่อยให้ถูกที่ ควรปล่อยลงแหล่งน้ำที่มีพื้นดินให้เต่าขึ้นมาพักได้ ควรปล่อยลงบนบกและให้เต่าคลานลงน้ำเอง เพื่อที่เต่าจะได้ปรับตัว ทั้งนี้ ถ้าไม่รู้ว่าเป็น “เต่าบก” หรือ “เต่าน้ำจืด” ให้สังเกตที่เท้าเต่า ถ้าเป็นเต่าบกเท้าจะมีเกล็ด ไม่มีพังผืด ส่วนเต่าน้ำจืดเท้าจะแบน มีพังผืด นอกจากนี้ ต้องคำนึงถึง “แหล่งน้ำที่จะปล่อยเต่า” ด้วยว่า “มีสภาพเน่าเสียหรือไม่” ซึ่งถ้าน้ำเป็นกรด เต่าจะติดเชื้อโรค เป็นแผล หรือตาบอดได้ …นี่เป็น “ความรู้-ความเข้าใจ” ที่น่าสนใจ

“จะปล่อยเต่า” ก็ “จะต้องมิใช่แค่ปล่อย”

“ต้องเข้าใจ” ถึง “เต่าที่จะนำไปปล่อย”

“ไม่เช่นนั้นก็จะได้บาปแทนได้บุญ!!”.