ซึ่งพอพูดเรื่องนี้ เขาก็มักจะอ้างนิด้าโพล ที่สำรวจพบว่า “นายกฯอิ๊งค์”น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ได้คะแนนเหมาะเป็นนายกฯ สูงกว่าคนของพรรคก้าวไกลครั้งแรก ..แต่คนของพรรคก้าวไกลที่แข่งนายกฯอิ๊งค์ในโพล คือ “เท้ง”ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรค ปชน.

“ต๋อม ชัยธวัช” ผู้ร่วมสร้างพรรคมาตั้งแต่อนาคตใหม่ร่วมกับ “เอก ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ก็ดูเหมือนจะรู้หรือหยั่งกระแสได้พอสมควร จึงตอบแบ่งรับแบ่งสู้ บัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น ว่า “ต้องให้เวลา หลังจากพรรคก้าวไกลถูกยุบ เราสูญเสียบุคลากร ดังนั้นพรรค ปชน.ต้องใช้เวลาในการจัดระบบบุคลากร ระบบการทำงานกันอีกสักพัก ซึ่งยังมีเวลาอยู่ ตนเข้าใจว่าข้อวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหลาย ข้อบกพร่องจากการทำงานที่ผ่านมา ผู้บริหารพรรค รวมถึง สส. และสมาชิกพรรคมีการพูดคุยตลอดเวลาและตระหนักดีว่าจะมีการปรับปรุงอย่างไร”

ชัยธวัชตุลาธน

เมื่อถามว่าปัจจัยสำคัญต่อคะแนนนิยมมาจากอะไร นายชัยธวัช กล่าวว่า คงมีหลายปัจจัย เช่น ความนิยมของนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคคนใหม่ คงต้องให้เวลาเขา เป็นเรื่องปกติที่แกนนำพรรคคนใหม่ขึ้นมาก็ต้องใช้เวลาในการทำให้สังคมรู้จัก และได้สัมผัสถึงความมุ่งมั่นตั้งใจ รวมถึงวิสัยทัศน์ที่จะทำให้ประชาชนฝากความหวังได้หรือไม่ นายณัฐพงษ์ ต้องใช้เวลาพิสูจน์ พรรค ปชน.ยังมีเวลาอยู่”

กระแสนิยมพรรค ปชน.ตกลงหรือไม่ ?มองในมุมคนนอกที่ไม่เชียร์ทั้งรัฐบาลทั้งฝ่ายค้าน ไม่เชียร์ทั้งเพื่อไทยทั้ง ปชน. ก็รู้สึกว่า “กระแสมันดรอปลงไปจริงๆ” ไม่เหมือนครั้งที่ “ทิม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” นำพรรค ซึ่งหลายคนบอกว่า ทิม พิธาเป็นคนที่มี charisma หรือมีเสน่ห์ดึงดูด ทั้งเรื่องประวัติการศึกษา การต่อสู้ทางการเมืองแม้จะถูกศัตรูเล่นงานรอบด้าน ทั้งเรื่องยอมให้กลุ่มทะลุวังขึ้นไปติดสติ๊กเกอร์เรื่องยกเลิก ม.112 บนเวทีหาเสียง จนถูกนำไปผูกโยงกลายเป็นคดีกระทำการขัดรัฐธรรมนูญ ม.49 ให้พวกนักร้องยื่นเรื่องยุบพรรค  ในฐานะหัวหน้าพรรคก็ต้องสู้คดี …ต่อมา ได้รับเลือกเป็นพรรคอันดับหนึ่ง ก็โดน สว.เล่นแง่เล่นกลให้จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ จนเพื่อไทยข้ามไปจับกับขั้วอำนาจเก่า

พิธาลิ้มเจริญรัตน์

แถมพอจะเป็น สส.ก็โดนเรื่องถือหุ้นไอทีวี ทั้งที่ถืออยู่น้อยมาก และไอทีวีไม่ได้ทำสื่อแล้ว แต่ก็ยังต้องโดนพักงานไปยาว กลับมาอยู่สภาได้แป๊บเดียวพรรคโดนยุบอีก ในโลกการทำงานก็ยุ่งยาก ในโลกโซเชี่ยลฯ ก็มีคนมุ่งจะโจมตี ด้อยค่าไม่เว้นแต่ละวัน  …ภาพของ ทิม พิธาที่ถูกประกอบสร้างขึ้นผ่านสื่อ คือภาพของนักสู้ที่ไม่ยอมจำนน และยังเข้าถึงประชาชนง่าย เก่ง เคยถามแฟนคลับพรรคส้ม เขาว่า ทิม พิธาภาพดีมาแต่ไหนแต่ไร เพราะเหมือนเป็นคน“กอบกู้พรรค” ในครั้งที่อนาคตใหม่โดนยุบ ก็จะเห็นได้ว่า มี สส.หลายคนย้ายไปอยู่พรรคอื่น จะย้ายเพราะอะไรก็ตาม อุดมการณ์ไม่ตรงกันหรือโมโหที่ไม่ได้ซีน ก็แล้วแต่ เหตุผล ฯลฯ แต่ในครั้งนั้นเหมือนกับว่า ทิม พิธา รวบรวม “เลือดส้มแท้” กลับมา

ประกอบกับช่วงที่ทิม พิธาขึ้นนำพรรค เป็นช่วงเลือกตั้งพอดีด้วย ทำให้กระแสเชียร์จากแฟนคลับ กับฝั่งที่เกลียด คสช. ยิ่งช่วยกันโหมประโคม content สร้างภาพลักษณ์ดีๆ ให้ทิม พิธา ทั้งในด้านการต่อสู้ทางการเมือง  มุมส่วนตัวเป็นพ่อรักลูก หรือด้านตลกๆใสๆ ระหว่างหาเสียง ..ทิม พิธาถูกชูขึ้นเป็นคู่ต่อสู้ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่พรรครวมไทยสร้างชาติ ( รทสช.) ลงแข่งขันอย่างชัดเจน กองเชียร์หรือแม่ยกต้องถึงไหนถึงกัน

พรรคประชาชน” ตั้งเป้า 2570 ชนะเลือกตั้ง รัฐบาลพรรคเดียว

ต่อมา เมื่อยุบพรรคก้าวไกล เปลี่ยนเป็นพรรคประชาชน ..คราวนี้ทางพรรคเดินนโยบายไม่ดราม่า ..ไม่มีโศกเศร้าฟูมฟายปลุกความแค้น “อำมาตย์” หรือปลุกกระแสนิติสงครามอะไรอยู่เบื้องหลังยุบพรรค ไม่ทันสร้างอารมณ์ให้กองเชียร์ ประกอบกับมันแค่ช่วงต้นๆ ของรัฐบาล สร้างไปก็คงอาจยังไม่มีผลเท่าไร .. และพรรคก็คงสกัดงูเห่า สส.นกแลที่คิดว่า “ได้เป็นแค่สมัยเดียว” แปรพักตร์ด้วย เลยรีบเดินหน้าต่อเป็นพรรคประชาชน ( ปชน.) เดิมข่าวว่า วางแม่ทัพไว้คือ “ไหม ศิริกัญญา ตันสกุล” หัวหมู่ทะลวงฟันเงินดิจิทัลของพรรค ( ที่วันนี้กองแช่งพรรคกับกองเชียร์พรรคก็ยังเถียงกันไม่จบว่า เรื่องเงินดิจิทัล ไหม ศิริกัญญา พูดได้ถูกต้อง 100% หรือไม่ ) ไหม ศิริกัญญาเป็นที่รู้จัก ขวัญใจคนรุ่นใหม่ แต่ไม่ได้รับตำแหน่ง

คนที่พลิกโผมาคือ “เท้ง ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” ซึ่งว่ากันว่า เป็น “หลังบ้าน” ดูแลระบบไอทีของพรรค เจ้าตัวเป็นคนมาดค่อนข้างนุ่มนิ่ม ไม่ดุดันเหมือนวิโรจน์ ลักขณาอดิศร รังสิมันต์ โรม หรือแบงค์ ศุภณัฐ มีนชัยนันทน์ ..แม้แฟนคลับพรรคจะแก้ว่า เป็นคน“มาดนุบนิบ” ( ไม่รู้หมายความว่ากระไร ) คือยิ้มๆ นิ่มๆ แต่เก็บข้อมูลเชือดได้เยอะ ..อย่างนั้นก็ตาม แต่กระแสของเท้ง ณัฐพงษ์ ก็ยังไม่กระเตื้อง ไม่มีจุดขายที่แข็งแรง ชัดเจน ..ประเดิมงานพบประชาชนงานแรกที่ไปดูน้ำท่วม ก็กลายเป็นถูกเย้ยหยันไยไพว่า “เอาไปแต่รอยยิ้ม” เจ้าตัวไม่กล้าบริจาคของอะไรเกรงว่าจะผิดกฎหมาย เนื่องจากขณะนั้นอยู่ภายใต้กฤษฎีกาเลือกตั้ง สส.พิษณุโลก เขต 1 แทน “หมออ๋อง ปดิพัทธ์ สันติภาดา” ที่พรรค ปชน.ก็ส่งคนลง

กลายเป็นว่า สนามพิษณุโลก เขต 1 ปชน.แพ้ ผู้สมัครจากเพื่อไทยชนะ เป็นการชนะครั้งแรกตั้งแต่มีพรรคไทยรักไทยมา ..หลายคนก็พยายามวิเคราะห์สาเหตุทั้งที่เชื่อว่าฐานเสียงของหมออ๋องแข็ง แต่เอาจริงถ้ามองไม่ให้ยาก “ก็เพราะคนชนะเป็นพรรครัฐบาล แถมอยู่ในภาวะน้ำท่วม ประชาชนก็คงคิดว่าเลือกรัฐบาลจะช่วยอะไรได้มากกว่า” นี่ก็เป็นแนวคิดหนึ่งที่คิดง่ายสบายใจดี ไม่ต้องไปวิเคราะห์หาตัวแปรที่พรรค ปชน.แพ้กันเยอะ

ปรับภาพผู้นำปชน.ดึงคะแนนสู้ | เดลินิวส์

ตัวแม่บ้านพรรค “เลขาติ่ง ศรายุทธิ์ ใจหลัก” เองก็ดูไม่ใช่คนมีอิทธิพลต่อลูกพรรค จนมีเสียงวิจารณ์ว่า “มาจากโควตาธนาธร” ซึ่งตำแหน่งเลขาธิการพรรคเป็นตำแหน่งบริหารจัดการที่สำคัญ เป็นมือประสาน พรรคการเมืองใหญ่ๆ เลขาธิการนี่แทบจะเป็นตัวกำหนดทิศทางในการรวมเสียง ของพรรคเพื่อไทย  บอย สรวงศ์ เทียนทอง ก็ลูกชายนายเสนาะ เทียนทอง มือตั้งรัฐบาลในสมัยก่อน หรือประชาธิปัตย์ นายกชาย นายเดชอิศม์ ขาวทอง ก็เป็นผู้มีอิทธิพลในกลุ่ม สส.ใต้ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ของพรรค ภูมิใจไทย เลขาธิการก็ต้องเป็น “บ้านครูใหญ่” จากตระกูลชิดชอบ

ไม่ทราบเพราะหัวหน้าพรรคเป็นคนนิ่มๆ แถมเลขาพรรคก็ดูไม่ออกมีฝีมือแค่ไหน..หรือไม่ ทำให้ระยะหลังๆ คือ “เริ่มคุมให้พรรค ปชน. อยู่ในทิศทางที่ดูเป็นทางเลือกที่ดีไม่ได้” บางเรื่องพรรคปล่อยให้กองแช่งตีกระแสเสียบานปลาย โดยที่พรรคไม่ได้เทคแอคชั่นอะไรชัดๆ อย่างเรื่อง สส.แก้วตา ธิษะณา ชุณหะวัณ สส.กรุงเทพ อภิปรายในสภาเกี่ยวกับเรื่องการจัดการแรงงานเมียนมา ..กลายเป็นว่า สารโดนเปลี่ยนเป็นพรรคสนับสนุนให้ชาวเมียนมาได้สิทธิเท่าเทียมคนไทย ในขณะที่คนไทยเองก็เข้าถึงสิทธิบางอย่างไม่ทั่วถึง ..กองแช่งเติมคำเป็น “พรรคประชาชนพม่า” เรียบร้อย

อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน, กำลังอ่านหนังสือ, ห้องข่าว และ ข้อความ

ต่อมา เกิดเหตุสลดใจรถบัสทัศนศึกษาเกิดระเบิด สส.ที่มีบทบาทมากในพรรค อย่าง น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ หรือทนายแจม สส. กรุงเทพ เขตสายไหม และนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงษ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ ก็ออกมาแชร์ข่าวภาพนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ยืนยิ้มอยู่กับกลุ่มเด็กรถคันที่ไม่เกิดอุบัติเหตุแล้วรอกลับบ้าน .. โดยสองคนโพสต์ไปในทำนองว่า เด็กควรอยู่กับผู้ปกครองหรือจิตแพทย์ ..ซึ่งหลายคนเห็นแล้วก็รู้สึกว่า ว่า จะเหน็บ ทำนองว่า ทำไมต้องให้เด็กไปพบรัฐมนตรีในภาวะฉุกเฉิน และกำลังเสียขวัญเช่นนั้น

ซึ่งถ้าเหน็บ ก็เป็นการตัดสินกันด้วยภาพๆ เดียว!! และทำให้ สส.พรรคดูเป็นนักแซะแบบไม่รู้เวลา ทั้งที่ตัวทนายแจม ศศินันท์วางตัวดีมาตลอด  แต่มาตกม้าตายกะเรื่องแค่นี้ คือภาพรวมมันมีรถ 3 คัน ประสบอุบัติเหตุ 1 คัน เด็กที่เหลือก็ต้องรอกลับบ้าน ระหว่างนั้น รมว.คมนาคมมาพบ ..และคนรู้จักนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ก็คงทราบว่า “เขาเป็นคนยิ้มง่าย” ก็แค่ยิ้มให้กำลังใจเด็กๆ ..พวกกองเชียร์ผสมโรงก็มาแนว..ตายไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้..ซะอีก ยังหาช่องโต้กลับว่า “ทำไมไม่ให้เด็กนั่งเก้าอี้”  คือจริงๆ แล้วหน้างานมันมีหลายมุม แต่ถ้ามีอคติกันอะไรก็ผิด

อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน และ ข้อความ

และที่ทนายแจมกับสุรเชษฐ์ว่า ไม่มีผู้ปกครองหรือจิตแพทย์นั้น ไม่ทราบลืมไปหรือไม่ ว่า “เด็กพวกนี้บ้านอยู่อุทัยธานี” ซึ่งกรมสุขภาพจิตจัดจิตแพทย์ให้ทั้งที่โรงพยาบาลที่กรุงเทพ และเอาจากนครสวรรค์ไปช่วยลงพื้นที่ที่อุทัยธานีแล้ว รัฐบาลเทคแอคชั่นได้รวดเร็ว การไปเหน็บ จิก กัด ก็เหมือนเล็กๆน้อยๆก็จะจิก จะตอด ไม่ทราบให้มันได้อะไร…ยังดีที่น้ำท่วมเหนือเที่ยวนี้ไม่ทำตัวแบบลูกอีช่างค้าน แซะรัฐบาลไปทุกเรื่องอีก เพราะดูๆ เหมือนรัฐบาลก็ทำดีที่สุดแล้วในการเตือนภัย การช่วยเหลือ เพียงแต่ปัญหารุนแรงเพราะการตัดไม้ทำลายป่ามาเป็นตัวแปรให้น้ำป่ามันแรง

ย้อนกลับไปที่ต๋อม ชัยธวัช พูดคือ “ก็พอจะเห็นได้ว่า กระแสพรรคไม่ดีเหมือนเมื่อตอนเป็นพรรคก้าวไกล ซึ่งคิดว่า สส., ผู้บริหารพรรค ก็ยังพูดคุยกันอยู่” ดังนั้น ก็หวังว่า ในการประชุมพรรค จะเห็นเรื่องที่เป็นปัญหาให้กองแช่งไปขยายความ และจัดการว่า “อย่าเปิดประเด็นมาอีก ถ้าเปิดต้องปิดให้ได้” เดี๋ยวนี้คนเราชอบขุด หรือเก็บ digital footprint กันเสียด้วย พูดอะไรไม่เข้าท่าไปกด google จึ๊กเดียวก็เจอ แล้วถ้ามีมาเรื่อยๆ ระวังจะเกิดเหตุอดีตไล่ล่า

ในส่วนเท้ง ณัฐพงษ์ ต้องใช้เวลาพิสูจน์ตัวเองอย่างไร ? อันนี้ตอบยาก คือบางเรื่องมันอาจต้องรอให้ถึงเวลา “สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ” เพราะเท้ง ณัฐพงษ์ ไม่ใช่คนที่เป็นหัวหมู่ทะลวงฟันมาแต่แรก ไม่ได้สะสมชื่อเสียงมาตั้งแต่คราวพรรคอนาคตใหม่ .. ทางพรรคก็จะจัดกิจกรรม “เท้งทั่วไทย” ให้หัวหน้าพรรคลงพื้นที่ทั้งแนะนำตัว ทั้งเก็บข้อมูลทำนโยบาย ก็ยังไม่ทราบว่า จะดึงกระแสได้แค่ไหน น่าจะต้องมีพี่เลี้ยงตัวจี๊ดๆ คนรู้จักดีๆ ประกบ ..และสิ่งที่อาจดึงคะแนนได้อีกคือ “ต้องเป็นตัวตึงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรืออภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ” สส.บางคนแจ้งเกิด หรือมีออร่าได้ทันทีถ้าได้เรื่องเข้าปาก อย่างนายรังสิมันต์ โรม ก็เป็นตัวจี๊ดทันทีเมื่ออภิปรายเรื่องตั๋วช้าง ขบวนการค้ามนุษย์โรฮิงญา และเสริมภาพลักษณ์ต่อด้วยการอภิปรายทุนสีเทามินอ่องหล่าย

อาจเป็นรูปภาพของ 5 คน, ห้องข่าว และ ข้อความ

หัวหน้าเท้งอาจไม่ต้องใช้ลีลาดุดัน ที่ดูไม่ใช่สไตล์ของเขาเอง  แต่ดูการใช้คำแบบกรีดลึกของนายชวน หลีกภัย อดีตนายกฯ ก็เป็นแบบอย่างได้   

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สื่อสารแบบ..บทจะง่ายก็ง่าย จะยากก็ยาก.. คือกองเชียร์พรรค ถ้าประเมินว่า สภาพพรรค ปชน.ไม่พร้อมจะโดดเดี่ยวตัวเอง ก็ควรหาวิธีดูกองเชียร์พรรคให้เบาๆ หน่อย ไม่ใช่ประเภท “มีฉันไม่มีมัน” ไปเรื่อยจนเสียรังวัด พรรคยอมกองเชียร์ตั้งแต่ครั้งตั้งรัฐบาลที่จะเอาพรรคชาติพัฒนากล้าเข้ามา เกิดกระแส “มีกรณ์ ( นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคขณะนั้น ) ไม่มีกู” พรรคก็ต้องถอย จนดูเหมือนจับมือกับใครไม่ได้ ยิ่งตอนนี้อยู่คนละขั้วกับเพื่อไทย เห็นกองเชียร์พรรคส้มไฝว้กับ “นางแบก” กองเชียร์พรรคเพื่อไทยบ่อย …ก็ไม่รู้ว่า “จะมีอะไรที่ตกลงกันได้บ้าง” โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นประโยชน์กับประชาชน ที่ต้องอาศัยความร่วมมือในสภา.. ที่เห็นคุยกันได้ก็กฎหมายสมรสเท่าเทียม

สิ่งที่จะทำให้พรรค ปชน.เดินหน้าได้ ( จนอาจถึงขั้นที่เป็นพรรคเกิน 200 เสียง ) มันมีทั้งปัจจัยภายในภายนอกที่ต้องบริหารจัดการ ที่สำคัญคือ อย่าด่วนโดดเดี่ยวตัวเอง เอาใจแต่กองเชียร์  เราไม่รู้หรอกว่า หลังเลือกตั้งอะไรจะเกิด.

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่