เห็นพี่ชายเล่นแล้วอยากเล่นบ้าง จึงไปขอร้องให้พี่ชายช่วยสอน พี่ชายก็สอนเราแค่รอบเดียว แล้วเราก็ลงไปเล่นในทะเลเลย ปรากฏพี่ชายอึ้ง เพราะเราเล่นเหมือนกับเคยเป็นนักวินด์เซิร์ฟมาก่อน ทั้งที่เราเพิ่งได้เล่นวินด์เซิร์ฟเป็นครั้งแรก” เป็น “จุดเริ่มต้น” ของ “แชมป์โลกกีฬาวินด์เซิร์ฟหญิงชาวไทย” ที่ชื่อ “อมรา วิจิตรหงษ์” ที่เจ้าตัวได้ถ่ายทอดเรื่องราวให้ฟัง ซึ่งเส้นทางของเธอนั้นน่าสนใจ จนทำให้ “ทีมวิถีชีวิต” อยากถ่ายทอดเรื่องราวของเธอในวันนี้…

ปัจจุบัน อมรา แชมป์โลกกีฬาวินด์เซิร์ฟหญิง นอกจากจะเป็นนักกีฬาแล้ว เธอยังเป็นเจ้าของโรงเรียนสอนเล่นกีฬาทางน้ำชื่อ Amara Watersports อีกด้วย และนอกจากสองบทบาทนี้ เธอยังมีอีกหนึ่งบทบาทที่เธอรักและทุ่มเทไม่แพ้กัน อย่างการเป็น “นักอนุรักษ์ท้องทะเล” โดยเมื่อว่างจากภารกิจ เธอและครอบครัวก็จะออกไปช่วยกันทำงานจิตอาสาเพื่ออนุรักษ์ทะเลเป็นประจำ ทั้งนี้ อมรา ได้เล่าให้ “ทีมวิถีชีวิต” ฟังถึงประวัติของเธอโดยสังเขปว่า พื้นเพเป็นคนอยุธยา โดยคุณพ่อรับราชการเป็นครู ส่วนคุณแม่เป็นแม่บ้านและทำอาชีพรับจ้างทั่วไป ซึ่งนอกจากอาชีพดังกล่าวแล้วครอบครัวเธอยังมีอาชีพทำอิฐมอญขายอีกด้วย

ครอบครัวเราเป็นครอบครัวใหญ่ คุณพ่อคุณแม่มีลูก ๆ ทั้งหมด 16 คน แต่เสียชีวิตตอนเด็กไป 5 คน ตอนนี้จึงเหลือ 11 คน ส่วนตัวเรานั้นเป็นลูกคนที่ 8 ของครอบครัว ซึ่งคุณพ่อจะเป็นเสาหลักของครอบครัว แต่ด้วยเงินเดือนครูตอนนั้นแค่ 400 บาท ค่าใช้จ่ายจึงตึงมือมาก ๆ ออกไปทางไม่พอ ทำให้พี่น้องทุกคนจึงต้องช่วยกันทำงานเพื่อหารายได้เข้ามาจุนเจือครอบครัวกันตั้งแต่เด็ก ส่วนเราก็เริ่มช่วยที่บ้านทำอิฐมอญขายมาตั้งแต่อายุ 5 ขวบ” อมรากล่าว

และเธอยังเล่าว่า จุดเปลี่ยนชีวิตเกิดขึ้นตอนที่เธออายุ 10 ปี เมื่อคุณพ่อป่วยหนักและเสียชีวิต ซึ่งเมื่อต้องสูญเสียคุณพ่อที่เป็นเสาหลัก ครอบครัวของเธอก็เหมือนเรือไร้หางเสือ เพราะคุณแม่เพียงคนเดียวคงเลี้ยงลูกทุกคนไม่ไหวแน่ ทำให้ลูก ๆ ทุกคนจึงต้องออกไปช่วยกันทำงานหารายได้เข้ามาเพิ่ม อย่างตัวของเธอเองก็มีหน้าที่ไปเก็บใบตอง หาหน่อไม้ หรือเก็บผักสวนครัว นำไปขายเพื่อหาเงินมาจุนเจือครอบครัว โดยเธอใช้ชีวิตแบบนี้อยู่ 3 ปี พออายุ 13 ปี เธอก็ต้องหยุดเรียน แล้วเดินทางมาอยู่กับพี่ชายและพี่สาวที่พัทยา จ.ชลบุรี โดยแชมป์โลกวินด์เซิร์ฟหญิงบอกว่า ไม่อยากออกจากการเรียน อยากเรียนต่อสูง ๆ แต่ด้วยภาวะจำยอมจึงต้องออกจากโรงเรียน แล้วมาอยู่กับพี่ ๆ ที่พัทยา เพื่อมาทำงานหาเงินส่งน้อง ๆ อีก 3 คนให้ได้เรียนต่อแทน …เป็นจุดเปลี่ยนชีวิตที่เธอเล่าไว้

อมรา เล่าอีกว่า หลังมาพักอยู่กับพี่ที่พัทยาเธอต้องทำงานช่วยพี่สาวที่มีอาชีพรับจ้างตัดเสื้อผ้า โดยเธอรับหน้าที่ซ่อมแซมเสื้อผ้า นอกจากนั้นยังไปรับจ้างทุกอย่างที่ได้เงินไม่เว้นแม้แต่การ “เก็บขยะขาย” เพื่อนำเงินมาเลี้ยงปากท้อง และไว้ส่งตัวเองเรียนหนังสือต่อ โดยเธอบอกว่า ช่วงที่มาอยู่พัทยาใหม่ ๆ เงินไม่ค่อยมี ก็อาศัยไปเดินชายหาด แถวแหลมบาลีไฮ เพื่อหาหอย หาปู ไม่ก็เก็บผักบุ้งมาทำเป็นอาหาร และก็หาเงินด้วยการไปเก็บขยะขาย โดยจะเข้าไปเก็บขยะในแคมป์ของทหาร จี.ไอ. จะไปเก็บพวกขวดกับกระป๋องไปขาย ส่วนหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษก็เก็บมาเพื่อฝึกภาษา พออ่านเสร็จก็จะนำไปพับถุงขาย

“อายุ 14 ปี เราก็ไปสมัครงานเป็นแม่บ้านที่โรงแรมแห่งหนึ่ง เพราะคิดว่างานแม่บ้านคงไม่ต้องใช้ความรู้อะไร แต่กลายเป็นว่าพอไปสมัครคนรับสมัครเขาถามเราว่า ที่เขี่ยบุหรี่ภาษาอังกฤษเรียกว่าอะไร เราไม่รู้ เขาก็เลยบอกให้เรากลับไปเรียนมาก่อน แล้วค่อยมาสมัครใหม่ ซึ่งเหตุการณ์นี้เองทำให้เราเกิดความมุ่งมั่นที่จะเรียนภาษาอังกฤษให้ได้ จึงพยายามเก็บหนังสือพิมพ์มาพับถุงกระดาษขายเพื่อเก็บเงิน แล้วเอาไปลงเรียนภาษาอังกฤษ จากนั้นก็ไปตื๊อขอสมัครเข้าเรียน กศน. ที่โรงเรียนวัดโพธิ์ เพราะตอนนั้นเราอายุยังไม่ถึง 15 ปี เขาจึงไม่รับ แต่เราก็ตื๊อจนครูใหญ่ยอมให้โอกาสให้เราเข้าเรียน” เธอเล่าถึงความมุ่งมั่นของเธอขณะนั้น

ไปแข่งที่ญี่ปุ่นตอนอายุ 16 ปี

ส่วน “จุดเปลี่ยน” ที่ทำให้จาก “เด็กน้อยที่เก็บขยะขายส่งตัวเองเรียน” กลายเป็น “แชมป์โลกวินด์เซิร์ฟหญิงคนแรกของประเทศไทย” นั้น อมรา เล่าว่า ช่วงอายุ 15 ปี มีอยู่วันหนึ่ง เธอนั่งรถสองแถวเพื่อจะไปโรงเรียนช่วงเย็นตามปกติ แต่วันนั้นเธอได้เห็นพี่ชายที่ทำงานอยู่ร้านให้เช่าวินด์เซิร์ฟกำลังเล่นวินด์เซิร์ฟอยู่ เมื่อได้เห็นก็รู้สึกชอบและอยากเล่นบ้าง จึงไปขอพี่ชายเล่น พี่ก็ยอมสอนวิธีเล่นให้ สอนเสร็จเธอก็ลงไปเล่นในทะเลจริงเลย ปรากฏเธอสามารถเล่นได้เหมือนคนที่มีประสบการณ์ จนทำให้พี่ชายรู้สึกทึ่ง หลังจากนั้นเธอก็เล่นวินด์เซิร์ฟมาตลอด โดยเธอได้บอกกับตัวเองว่า…“วินด์เซิร์ฟคือสิ่งที่ใช่”สำหรับเธอ

อย่างไรก็ตาม แรก ๆ นั้น ด้วยความที่พี่ชายไม่ชอบให้เธอที่เป็นผู้หญิงมาเล่นที่ชายหาดร่วมกับพวกผู้ชาย พี่ชายก็เลยสั่งห้ามไม่ให้เธอมาเล่น แต่เธอก็ดื้อเพราะอยากเล่น จนรู้ว่าเจ้านายพี่ชายมีร้านเช่าวินด์เซิร์ฟอยู่อีกที่หนึ่ง อยู่ไกลจากบ้านที่เธออยู่ไปราว 5 กิโลเมตร ด้วยใจที่มุ่งมั่น แม้จะไม่มีเงิน เธอจึงใช้วิธีเดินไปที่ร้านเพื่อไปขอช่วยงาน เพื่อแลกกับการได้เล่นวินด์เซิร์ฟ

“ตอนนั้นเดินไปร้านนี้คนเดียวแทบทุกวัน รวมระยะทางไป 5 กลับ 5 ก็วันละ 10 กิโลเมตร เพื่อที่จะได้เล่นวินด์เซิร์ฟ ก็แอบไปฝึกเล่นได้ 3 เดือน พอดีช่วงเดือน ธ.ค. ปี 2521 ไทยมีการจัดแข่งวินด์เซิร์ฟ เราก็ลงสมัครแข่งด้วย ตอนนั้นในไทยยังไม่มีใครรู้จักกีฬาชนิดนี้ จึงมีผู้หญิงไทยเล่นกีฬานี้กันอยู่แค่ 2 คน คือเราและอีกคนหนึ่ง นอกจากนั้นก็จะเป็นนักแข่งผู้หญิงชาวต่างชาติหมด ทั้งเยอรมนี แคนาดา อเมริกัน ซึ่งการแข่งครั้งนั้นมีการแข่ง 2 แบบ คือแข่งรอบทุ่นกับแข่งมาราธอน โดยเราลงแข่งทั้ง 2 แบบ ซึ่งแข่งรอบทุ่นเราได้ที่ 2 แต่แข่งแบบมาราธอนนั้นเราได้ที่ 1 ซึ่งตอนที่แข่งแบบมาราธอนนี้เอง ถือเป็นครั้งแรกที่เราได้เห็นโลมา โดยขณะแข่งมีโลมาได้ว่ายน้ำตีคู่ไปกับเรา ตอนนั้นยอมรับว่าการที่มีปลาตัวใหญ่ ๆ มาว่ายน้ำตีคู่ ทำให้เราตกใจและกลัวอยู่เหมือนกัน เพราะตอนนั้นไม่รู้จักโลมา (หัวเราะ) แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ต้องฝืนไปต่อ จนที่สุดก็ได้เข้าเส้นชัยเป็นที่ 1” อมราเล่าย้อนเหตุการณ์นี้ให้ฟังอย่างขำ ๆ

คว้าแชมป์ ฟรีไสตล์ที่อิสราเอล ปี 2523

ทั้งนี้ หลังการแข่งครั้งนั้นเองที่ทำให้ชื่อเสียงของ อมรา คนนี้เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น จนมีเจ้าของบริษัทผลิตบอร์ดวินด์เซิร์ฟในไทยมาติดต่อให้เธอเป็น Brand Ambassador โดยได้ส่งเธอให้ไปแข่งวินด์เซิร์ฟที่เมืองนอก ซึ่งตอนนั้นเธออายุ 16 ปี แถมภาษาก็ยังไม่คล่อง แต่เธอก็ตอบตกลงโดยไม่ได้คิดมาก เพราะเธอคิดว่าไม่มีอะไรที่จะต้องเสีย อีกอย่างเธอคิดว่าถ้ามัวมานั่งกลัวก็จะกลัวไปทั้งชาติ และนี่อาจจะเป็นโอกาสดี ๆ ที่มีเข้ามาแค่ครั้งเดียวในชีวิต ดังนั้น เธอต้องคว้าไว้

“ตอนนั้นเราเดินทางไปคนเดียว เดินทางไปพร้อมดิกชันนารี 1 เล่ม (หัวเราะ) เพื่อไปเจอทีมที่เยอรมนี ก็ไปอยู่3-5 เดือน และตระเวนไปแข่งทั่วยุโรป จำไม่ได้ว่ากี่แมตซ์ แต่ได้แชมป์มาหลายสนามอยู่เหมือนกัน” อมราบอก

หลังจากที่กลับมาไทย ก็มีอีกบริษัทหนึ่งติดต่อมาเพื่อให้เธอไปแข่งที่ยุโรปอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เธอไปพร้อมกับพี่ชาย ซึ่งครั้งนี้เธอสามารถคว้า แชมป์โลกวินด์เซิร์ฟ ประเภทฟรีสไตล์” มาครองได้ จากนั้นก็มีบริษัทผู้ผลิตวินด์เซิร์ฟจากประเทศสวีเดนมาจ้างให้ไปแข่งแถบสแกนดิเนเวีย ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจการแข่งขัน เธอก็กลับมาเปิดโรงเรียนสอนกีฬาทางน้ำ Amara Watersports พร้อมกับทำธุรกิจร้านเช่าวินด์เซิร์ฟและเรือใบ จากนั้นก็ไปอบรมหลักสูตรผู้สอนวินด์เซิร์ฟจนสำเร็จหลักสูตร ทำให้เธอเป็นครูสอนวินด์เซิร์ฟได้ในวัยแค่เพียง 18 ปีเท่านั้น …อมรา แชมป์โลกหญิงวินด์เซิร์ฟ เล่าถึงเส้นทางนี้ให้เราฟัง

แล้วจาก “นักกีฬาวินด์เซิร์ฟ” สู่การเป็น “นักอนุรักษ์ทะเลตัวยง” ได้อย่างไร??

กับเรื่องนี้ อมรา เล่าว่า การที่มีโอกาสได้ไปต่างประเทศ ได้เห็นทะเลประเทศอื่น ๆ ดูสะอาดใส แต่พอกลับมาพัทยากลับเจอภาพตรงข้าม ซึ่งเธอจำได้ว่าสมัยก่อนน้ำทะเลพัทยาใสกว่านี้ แล้วพอเมืองโต คนเริ่มเยอะขึ้น แต่ตอนนั้นยังไม่มีการจัดการขยะที่ดี ทำให้มีขยะในทะเลเยอะ ทำให้เธอคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่างกับเรื่องนี้

พาลูกสาว-อริยา ไปเก็บขยะ

“ปัญหาเรื่องขยะทะเลนี้ เมื่อ 20 ปีก่อนมีชาวต่างชาติมาแข่งวินด์เซิร์ฟ แต่ไปเจอกับถุงดำใบใหญ่ลอยมาชนอย่างจัง จนทำให้นักแข่งบาดเจ็บ เราเลยรู้สึกแย่ ที่นักแข่งต่างชาติต้องมาเจอทะเลไทยที่เต็มไปด้วยขยะของมนุษย์ เราก็เลยเริ่มรณรงค์การเก็บขยะมาตลอด โดยเริ่มจากลงมือทำเอง และก็ชักชวนเพื่อน ๆ ที่รู้จักให้มาช่วยกันเก็บขยะในทะเล ทำกันเกือบทุกเดือน ลงพื้นที่เก็บขยะแต่ละครั้ง เราจะได้ขยะเป็นตัน ๆ ที่เก็บได้จากทะเล ซึ่งช่วงนั้นพอดีกับที่ทางศูนย์วิจัยจุฬาภรณ์กับกองทัพเรือได้เปิดอบรมเกี่ยวกับการดำน้ำเพื่ออนุรักษ์ใต้ทะเล เราก็เลยไปสมัครเข้าอบรม ก็ยิ่งทำให้เรายิ่งอยากจะทำงานอนุรักษ์มากขึ้น”อมรากล่าว พร้อมกับบอกว่า “แม้หนทางในเรื่องของการอนุรักษ์ทะเลยังอีกยาวไกล แต่เราก็ไม่ท้อ และจะพยายามต่อไป เพราะถ้าไม่ทำอะไรกันเลย ทะเลบ้านเราไม่เหลือแน่”

นอกจากนี้เธอยังเล่าด้วยว่า ตอนนี้ในชุมชนมีการสร้างโรงงานทำอิฐตัวหนอนปูพื้นจากขวดพลาสติกที่เก็บจากทะเล และยังมีการนำฝาขวดน้ำพลาสติกไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ด้วย ซึ่งในอนาคตนั้น อมราบอกว่าได้วางโครงการที่จะนำกีฬามาเปลี่ยนความประพฤติเยาวชน ด้วยการสอนให้เด็ก ๆ ได้เล่นกีฬา ซึ่งถ้าเด็กคนไหนเก่ง มีความสามารถ เธอก็จะช่วยผลักดันให้ติดทีมชาติ ส่วนกรณีของเด็กผู้หญิงที่ไม่ชอบเล่นกีฬา เธอก็จะสอนอาชีพ โดยจะนำใบวินเซิร์ฟเก่า ๆ มาเย็บเพื่อทำเป็นกระเป๋า แล้วส่งขายตามโรงแรม ซึ่งตอนนี้หลาย ๆ โรงแรมที่รู้ข่าวก็พร้อมสนับสนุนโครงการนี้ของเธอกันเต็มที่ “นี่เป็นโครงการในอนาคตที่เราวางเอาไว้ว่าจะเป็นสิ่งที่เราจะทำ” ทาง “แชมป์โลกวินด์เซิร์ฟหญิง” คนนี้บอกเราด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่น

ก่อนจบบทสนทนากัน “ทีมวิถีชีวิต” ถามเพิ่มเติมถึง “เป้าหมาย” ของเธอ โดย อมรา บอกว่า… ตอนนี้ก็จะยังคงเล่นวินด์เซิร์ฟแบบนี้ต่อไป โดยตั้งใจจะทำพร้อมกับการเป็นนักอนุรักษ์ทะเลควบคู่กันไป ถึงแม้ช่วงนี้อาจจะเน้นทำงานด้านอนุรักษ์มากขึ้น โดยไม่ได้เล่นวินด์เซิร์ฟมานานถึง 6 เดือน แต่ก็ยืนยันว่า ยังไม่ทิ้งกีฬาวินด์เซิร์ฟอย่างแน่นอน แม้วันนี้เธอจะเข้าสู่วัย 59 ปีแล้วก็ตาม โดยเธอย้ำหนักแน่นกับเราว่า เธอคงเล่น “วินด์เซิร์ฟ” นี้ต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเล่นไม่ไหว เพราะนี่เป็นกีฬาที่เธอนั้น…

“หลงรักตั้งแต่แรกพบ”.

ปั้น ‘นักกีฬาหัวใจนักอนุรักษ์’

“อมรา วิจิตรหงษ์” ยังบอกด้วยว่า “ภารกิจสำคัญ” ตอนนี้ของเธอก็คือ “สร้างนักกีฬาที่มีจิตใจของการเป็นนักอนุรักษ์ทะเล” โดยการที่เธอเปิดโรงเรียนสอนกีฬาทางน้ำ หรือโรงเรียนสอนวินด์เซิร์ฟนั้น ส่วนหนึ่งก็เพราะอยากจะปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องนี้ให้กับเด็ก ๆ ที่มาเรียนกับเธอ เพื่อให้ทุกคนเกิดความรู้สึกรักและหวงแหนทะเล โดยทุกครั้งที่พาเด็ก ๆ ลงไปเล่นวินด์เซิร์ฟในทะเล เธอจะให้เด็ก ๆ ช่วยกันเก็บขยะก่อนเสมอ โดยเธอย้ำเหตุผลเรื่องนี้ว่า ต้องการสร้างนักกีฬาไปพร้อม ๆ กับการสร้างนักอนุรักษ์

“ตอนนี้เด็ก ๆ ทุกคน เวลาที่จะลงไปซ้อมไปฝึกวินด์เซิร์ฟในทะเล ทุกคนก็จะต้องเก็บขยะกันก่อน จนตอนนี้กลายเป็นนิสัยติดตัวของนักกีฬาเราทุกคนไปแล้ว” เธอบอกเรื่องนี้พร้อมรอยยิ้มภูมิใจ.

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน