สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ว่า ข้อมูลของซีดีซีระบุว่า ผู้เสียชีวิตรายที่ 3 อยู่ที่รัฐเวอร์จิเนีย ทางตะวันออกของประเทศ มีความเชื่อมโยงกับการระบาดทั่วสหรัฐ เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ส่วนผู้เสียชีวิตอีก 2 ราย อาศัยอยู่ที่รัฐนิวเจอร์ซีย์ และรัฐอิลลินอยส์
ส่วนจำนวนผู้ป่วยสะสมจากการติดเชื้อแบคทีเรียดังกล่าว เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 43 คนในสหรัฐ นับตั้งแต่มีการเปิดเผยตัวเลขล่าสุดเมื่อปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่คณะกรรมการอาหารและยา (เอฟดีเอ) เชื่อมโยงการแพร่ระบาดครั้งนี้ กับผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูปของบริษัท “บอร์ส เฮด”
แม้ บอร์ส เฮด ยังปฏิเสธให้ความเห็นอย่างเป็นทางการ แต่ทยอยเรียกคืนเนื้อสัตว์หั่นเป็นชิ้น เมื่อปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา หลังเจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยอาหารของรัฐบาลกลางประกาศว่า ผลิตภัณฑ์ตับบดของ บอร์ส เฮด ซึ่งวางจำหน่ายที่ร้านค้าแห่งหนึ่งในรัฐแมริแลนด์ มีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียสายพันธุ์เดียวกับลิสทีเรีย
เมื่อวันที่ 30 ก.ค. บอร์ส เฮด เรียกคืนเนื้อสัตว์จำนวน 3.175 ล้านกิโลกรัม ซึ่งการเรียกคืนครั้งนี้ ครอบคลุมผลิตภัณฑ์มากกว่า 70 รายการ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแฮม, เนื้อวัว และเนื้อสัตว์ปีก ซึ่งผลิตขึ้นในโรงงานที่รัฐเวอร์จิเนีย
ขณะเดียวกัน บอร์ส เฮด กำลังเผชิญกับคดีความอย่างน้อย 3 คดี เกี่ยวกับการติดเชื้อลิสทีเรีย ในรัฐนิวยอร์ก, รัฐมิสซูรี และรัฐวิสคอนซิน
นอกจากนั้น มีรายงานผู้ป่วยใน 13 รัฐ ได้แก่ จอร์เจีย , อินดีแอนา, แมสซาชูเซตส์ , มินนิโซตา, นอร์ทแคโรไลนา, เวอร์จิเนีย, เพนซิลเวเนีย, วิสคอนซิน, อิลลินอยส์, แมริแลนด์, มิสซูรี, นิวเจอร์ซีย์, และนิวยอร์ก
ตามข้อมูลของซีดีซี มีรายงานผู้ติดเชื้อลิสทีเรียประมาณ 1,600 คน ในแต่ละปี และมีอย่างน้อย 260 ราย มีอาการรุนแรง โดยลิสทีเรียเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ของโรคที่เกิดจากอาหารในสหรัฐ
อนึ่ง แบคทีเรียลิสทีเรียพบได้ในดินตามธรรมชาติ สามารถปนเปื้อนอาหารได้หลายชนิด เช่น ผลิตภัณฑ์นม อาทิ ชีสและไอศกรีม และผักใบเขียวและผลไม้ อาทิ แคนตาลูป โดยปกติแล้ว ผู้ที่บริโภคแบคทีเรียชนิดนี้จะไม่ป่วย ยกเว้นผู้มีความเสี่ยงสูง เช่น สตรีมีครรภ์, ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี หรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง.
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES