“มีผู้กระทำที่เป็นกลุ่มที่มีปมด้อย ที่ต้องการแสดงออกถึงความมีอำนาจ ทำให้มีผู้หญิงหรือเด็กหญิงตกเป็นเหยื่อคนกลุ่มนี้อยู่เป็นประจำ…“…เป็นส่วนหนึ่งจากการระบุไว้โดยนักวิชาการภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผศ.ดร.อรพิน สถิรมน กับกรณีภัย “ลวนลาม-ล่วงละเมิดทางเพศ-ข่มขืน” ที่มีเหตุเกิดขึ้นอื้ออึงสังคมไทยไม่หยุดหย่อน!!… ซึ่งทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้พลิกย้อน “ปัจจัยการก่อเหตุ-เกิดเหตุ” มานำเสนอไปแล้วตอนหนึ่ง โดยทิ้งท้ายไว้ที่ประเด็น…

“มายาคติร้ายเชิงอำนาจ” นี่ก็ “ปัจจัยก่อภัยทางเพศ”

เป็น “อีกประเด็นน่าคิด” กรณี “ภัยอันเลวร้าย” ภัยนี้

ทางนักวิชาการท่านดังกล่าวยังได้สะท้อนประเด็นนี้ไว้อีก บางช่วงบางตอนว่า… คนที่กระทำความผิดคดี ข่มขืน ใช้ความรุนแรงทางเพศกับเพศหญิง ทั้งกับเหยื่อที่เป็นคนที่ไม่รู้จักมาก่อนและที่รู้จักนั้น… ผู้ก่อเหตุไม่ได้มีเพียงคนที่ป่วยทางจิต ซึ่งยังพบในคนที่ไม่ได้ป่วยทางจิต แต่ต้องการแสดงออกแบบเลวร้ายเช่นนี้ โดยจะ มีความสุขทางเพศเมื่อได้ใช้ความรุนแรงกับคนอื่น!! ยังพบในคนที่ไม่ได้ป่วยทางจิต แต่ทำเพราะ “ต้องการแสดงออกถึงความมีอำนาจ” ที่จริง ๆ คือ “มีปมด้อย!!”

ทั้งนี้ ประเด็น “อำนาจ” กับกรณี “ลวนลาม-ล่วงละเมิดทางเพศ-ข่มขืน” นั้น ก็อย่างที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้ทิ้งท้ายไว้ในตอนที่แล้ว…ว่า “แวดวงสิทธิหญิงชายก็มีการชี้ให้เห็น”โดย จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ก็สะท้อนถึงกรณีนี้ประเด็นนี้ หลักใหญ่ใจความมีว่า…แม้โลกจะก้าวไปไกล แต่ในสังคมไทยยังมีคน “หลงยุค” โดย “หลงอำนาจต่าง ๆ คุกคามทางเพศผู้ที่อ่อนแอ” ซึ่งเป็นการ “หลงยุคเรื่องชายเป็นใหญ่-อำนาจนิยม” และโยงกับอีกประการคือ…ก่อเหตุโดย “คิดว่ามีอำนาจอุปถัมภ์” ซึ่งที่คิดว่าตนมีอำนาจเพราะเป็นครูอาจารย์ เป็นพระ หรือเป็นพ่อ แล้วก่อเหตุ ในยุคนี้มีเยอะมาก รวมถึงที่ คิดว่าตนมีอำนาจอุปถัมภ์ เพราะมีพ่อเป็นคนใหญ่คนโต เป็นข้าราชการ เป็นนักการเมือง!!

“ความคิดเรื่องอำนาจชายเป็นใหญ่ เรื่องอำนาจต่าง ๆ ที่เหนือกว่า เรื่องมีอำนาจอุปถัมภ์ ยังคงฝังลึกในสังคมไทย จึงทำให้รากเหง้าปัญหากรณีนี้ยังคงดำรงอยู่ และไม่เปลี่ยนแปลงไปเลย!!” …ทาง จะเด็จ เชาวน์วิไล ชี้ไว้

พร้อมกันนี้ ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ก็ยังได้สะท้อนเพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าวนี้ผ่านทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มาอีกว่า… “มายาคติหลงยุค” ต่าง ๆ อย่างมายาคติเรื่อง “อำนาจนิยม” คิดว่าตนเองมีอำนาจที่เหนือกว่าคนอื่น คิดว่าเป็นคนมีเงิน คิดว่าเป็นนักการเมือง ฯลฯ แล้วจะทำอะไรก็ได้ จะ “คุกคามทางเพศผู้ที่อ่อนแอ” ก็ทำได้ มายาคติเชิงอำนาจเหล่านี้…  

ทำให้ “สังคมไทยต้องหลงยุคไปด้วย” จากปัญหานี้!!

นอกจากนี้ ทางแหล่งข่าวซึ่งได้ติดตามกรณีปัญหากรณีนี้มาตลอดยังได้เผยเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “ปัจจัยก่อภัยทางเพศ” ต่อไปว่า… จากประสบการณ์ที่ทำงานด้านนี้มานาน ยังเจอเคสที่ผู้ก่อเหตุไม่ได้ใช้การคิดเรื่องอำนาจโดยตรง แต่ก็… “น่าห่วงมากที่สุดอีกแบบ คือเจอเคสที่ใช้ความรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนดี ซึ่งภายนอกดูดี ทำให้คนอื่นรู้สึกชอบรู้สึกดี แล้วก็ใช้เรื่องนี้ ใช้ความสัมพันธ์ตรงนี้ เป็นจุดเริ่มในการคุกคามทางเพศผู้หญิง” อีกทั้งยังมี “มายาคติร้ายเสริมซ้ำ!!” ด้วย…

มายาคติที่เสริมซ้ำนี้ จะเด็จ ระบุว่า… “สังคมก็ไม่เข้าใจ บอกว่าผู้หญิง หรือเด็กผู้หญิง ชอบแล้วก็ไปกับเขาเอง จะเรียกข่มขืนได้ยังไง เป็นการสมยอม แบบนี้ทำให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไม่ได้ หลายกรณีอาจถูกยกฟ้อง”

ทั้งนี้ ในส่วนของ “กระบวนการยุติธรรม” กับกรณี “ภัยทางเพศ” นั้น ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ยังได้สะท้อนผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มาว่า… ก็ยังมี “มายาคติที่กดทับ-ตีตรา” ซึ่งยิ่งทำให้ปัญหานี้ยังดำรงอยู่ กล่าวคือ… ปัจจัยที่สำคัญเช่นกันคือมายาคติที่ตีตราคนที่ถูกกระทำหรือคนที่ถูกข่มขืนว่า…ก็เป็นคนไม่ดี หลายกรณีที่ผ่านมาคนที่ถูกข่มขืน ถูกคุกคามทางเพศ จึงไม่กล้าบอกใคร ไม่กล้าบอกพ่อแม่ กลัวพ่อแม่มองว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี ทำให้นามสกุลเสียหาย …นี่เป็นมายาคติที่กดทับ ที่ในแง่สังคมก็ยังมีการมองแบบตีตรา เช่น มองว่าก็เพราะทำตัวไม่ดี กลับบ้านมืด ๆ ค่ำ ๆ ชอบแต่งตัวโป๊ จึงถูกข่มขืน

“และมูลนิธิฯ ยังเจอมาหลายเคส ที่เมื่อเกิดเรื่อง ไปโรงพักแจ้งความก็ถูกตำรวจตั้งคำถามประมาณว่า… แต่งตัวยังไงล่ะวันนั้น? แล้วคุณร้องให้คนช่วยเหลือมั้ย? ซึ่งมันเป็นคำถามที่กดทับยิ่งขึ้นไปอีก” …ทาง จะเด็จ กล่าว

พร้อมชี้ว่า… “ปัญหาที่ทับซ้อน ทำให้ปัญหาคุกคามทางเพศวนเวียนไม่ไปไหน” เหล่านี้คือมายาคติที่ใหญ่มาก และต้องต่อสู้กันไปอีกระยะใหญ่ ๆ ซึ่งกรณีนี้สังคมไทยก็ต้องปกป้องผู้หญิงให้มากขึ้น ซึ่งต่อให้ผู้หญิงไปที่บ้านหรือห้องพักของผู้ก่อเหตุ ต่อให้เป็นแฟนกัน หรือสามีภรรยากันผู้ชายก็ไม่มีสิทธิข่มขืน ซึ่งทางออกของปัญหานี้คือ ต้องบังคับใช้กฎหมายจริงจัง ไม่มองเป็นเรื่องส่วนตัวหรือเน้นให้ไกล่เกลี่ย พ่อแม่ผู้ปกครองต้องสอนเด็ก สอนเด็กชายให้เคารพสิทธิของเพศอื่น ๆ และสอนเด็กหญิงให้รู้และป้องกันตัวเองจากกรณีนี้ได้ ขณะที่ สื่อบันเทิงก็ต้องปฏิรูปไม่ให้มีฉากข่มขืน ที่สร้าง “มายาคติ”

“ประการสำคัญที่อยากฝากไว้ด้วยคือ ต้องมีหลักสูตรสอนเรื่องเพศวิถี ตั้งแต่ประถม มัธยม มหาวิทยาลัย เพื่อให้คนเคารพกันระหว่างเพศ ไม่คิดว่าใครมีอำนาจเหนือใคร” …ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าว พร้อมทั้งยังระบุด้วยว่า… ทางออกต่าง ๆ ของปัญหากรณีนี้ หากปรับเปลี่ยนและทำได้ดีพอ การ “หลงยุคเรื่องเพศ” ในสังคมไทยก็จะลดลง

สรุปคือจะแก้ “ภัยทางเพศ” ต้องใส่ใจร่วมกันจริงจัง

ต้องใส่ใจขจัดรากเหง้า “มายาคติร้ายเชิงอำนาจ” …

มายาคติที่เป็น “ตัวการโคลนนิ่งหื่นหลงยุค!!”.