“ล่วงละเมิดทางเพศ” เป็นอีกปัญหาใหญ่ในไทยมานานแล้ว และยิ่งในยุคออนไลน์-โซเชียลมีเดีย ปัญหานี้ก็ดูจะยิ่งลุกลาม ซึ่งกับ “เหยื่อถูกล่วงละเมิด” นั้น นอกจาก “แผลทางกาย” แล้ว… “แผลทางใจ” ก็เป็นสิ่งที่สังคม และโดยเฉพาะคนใกล้ตัวจำเป็น “ต้องใส่ใจ” ให้มากด้วย รวมถึง “ต้องระมัดระวังคำพูด-คำปลอบ…ที่อาจจะกลายเป็นการซ้ำเติมแผลทางใจแบบไม่คาดคิด!!” ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นหลาย ๆ กรณี ที่ “เหยื่อตัดสินใจคิดสั้น” แม้จะได้รับการช่วยเหลือดูแลแล้วก็ตาม…

“เหยื่อถูกล่วงละเมิด” นั้น “เปราะบางมาก ๆ”

“บางคำพูด-บางประโยค” ในมุมของเหยื่อนั้น…

“ผู้ที่ปลอบใจ” ควรจะ “ต้องระมัดระวังให้มาก!!”

ทั้งนี้ การปลอบใจ “เหยื่อถูกล่วงละเมิดทางเพศ” นั้น จะ “มีเส้นของความเปราะบาง” ที่คนรอบข้าง ผู้ใกล้ชิดเหยื่อ จะต้องระมัดระวังให้มาก ซึ่งถึงแม้จะตั้งใจดี มีเจตนาดี แต่ในบางครั้ง “คำพูด-ประโยค” ที่นำมาใช้นั้น ก็ “อาจจะกลายเป็นดาบสองคม” ได้ โดยวันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ขอสะท้อนต่อคำแนะนำเรื่องนี้ ซึ่งมีข้อมูลน่าสนใจเผยแพร่อยู่ใน เว็บไซต์ littlesiscare.com ที่ให้ “แนวทางการปลอบใจเหยื่อ” ไว้ ผ่านบทความ “จะแนะนำคนที่ถูกล่วงละเมิดอย่างไร?”

ในบทความ-ในเว็บไซต์ดังกล่าว ได้ให้แนวทางในเรื่องนี้ไว้ว่า…  สำหรับ “มุมของเหยื่อ” ที่ถูกล่วงละเมิดนั้น สิ่งที่แย่ที่สุดอาจไม่ใช่การถูกล่วงละเมิดแต่คือคำพูดของคนรอบข้างที่ไม่เข้าใจ!! ซึ่งคำพูดบางคำพูดนั้นถึงแม้ผู้พูดจะมีเจตนาต้องการปลอบใจ แต่บางครั้งก็ยังใช้ไม่ถูกต้อง ดังนั้น คำถามที่ตามมาก็คือ เมื่อเกิดเหตุการณ์การล่วงละเมิดทางเพศขึ้นกับคนใกล้ชิดหรือคนที่รู้จัก แล้วเราควร “ทำอย่างไร???” ที่จะเป็นการ “ปลอบใจได้อย่างถูกต้อง” ซึ่งกับเรื่องนี้ จะแบ่งออกเป็น 3 หัวข้อที่ “ไม่ควรทำ-ควรทำ” นั่นก็คือ… 1.สิ่งที่ไม่ควรพูด?, 2.พูดอะไรได้บ้าง?, 3.ควรแนะนำเหยื่อเช่นไร?

“คำแนะนำ” สำหรับผู้ที่ใกล้ชิดเหยื่อ ในแหล่งข้อมูลดังกล่าวระบุไว้ว่า… คำพูด-ประโยคที่ ไม่ควรใช้” โดยเฉพาะถ้าอยู่ในฐานะพ่อแม่ หรือแฟน ก็อย่างเช่น…ทำไมประมาททำไมไม่ระวังตัว, ทำไมไม่รู้จักฟัง, ทำไมไม่ต่อสู้, ทำไมแต่งตัวแบบนี้ หรือที่ขึ้นต้นด้วย “ทำไม” ทั้งหมด และผู้ที่ตกเป็นเหยื่ออาจมีมุมมองที่แตกต่างกับผู้ที่ต้องการปลอบใจ…

“เหยื่อ” มักจะ “มีคำปลอบใจที่ไม่อยากได้ยิน!!”

เนื่องเพราะสถานการณ์ในขณะนั้นไม่ใช่เวลาที่ควรจะพยายามมองโลกในแง่ดี ดังนั้น ผู้ที่ต้องการปลอบใจเหยื่อ การใช้คำพูด-ประโยค ไม่ควรพยายามทำให้เห็นในแง่ดี” อาทิ…ถือเป็นประสบการณ์นะ, เพราะสวยที่สุดก็เลยโดน, ไม่เห็นเป็นไรเลย, โดนแค่คนเดียว ยังดีกว่าถูกรุมโทรม เป็นต้นซึ่งการบังคับให้เหยื่อต้องฟังคำพูด ประโยค ในลักษณะนี้ซ้ำ ๆ นั้น ไม่เพียงจะไม่ช่วยทำให้รู้สึกดีขึ้น แต่ยังทำให้เหยื่อถูกล่วงละเมิดเกิดความรู้สึกว่า…คนรอบข้างไม่เข้าใจอะไรเลย!!

ต่อมาคือ “ไม่ควรถามเพราะความอยากรู้อยากเห็น” เช่น… เหตุการณ์เป็นยังไง เพราะอะไร ใครทำ ถูกทำที่ไหน ถูกทำเมื่อไหร่ เป็นต้น ซึ่งแม้ข้อมูลจะมีประโยชน์ต่อการแจ้งความ แต่การถามเรื่องเหล่านี้ก็จำเป็นต้องระมัดระวัง และควรถามในจังหวะที่เหยื่อพร้อมจะเล่า ไม่ใช่ถามในขณะที่เหยื่อกำลังขวัญเสีย …นี่เป็น “สิ่งที่ไม่ควรทำ-คำที่ไม่ควรใช้” ที่…

ผู้จะปลอบใจเหยื่อต้องใช้ความระมัดระวังให้มาก

“แล้วเราจะพูดปลอบใจอะไรได้บ้าง??” ในบทความ-ในเว็บไซต์ littlesiscare.com แนะนำไว้ว่า… สิ่งที่ผู้ต้องการปลอบเหยื่อควรทำคือ “ตั้งสติ เงียบ แล้วฟัง” เพื่อแสดงออกให้รู้ว่าเรากำลังรับฟังอย่างตั้งใจ จากนั้นจึงค่อย ๆ ปลอบใจ โดย เริ่มจากบทสนทนาที่ ชี้ว่าไม่ใช่ความผิดของเหยื่อ” ซึ่งบางคนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศอาจจะมีคำตำหนิตัวเองขึ้นมาในหัว ดังนั้น ผู้ที่ปลอบใจเหยื่อจึงควรชี้ให้เห็นว่า…ไม่ใช่ความผิดของเหยื่อ แม้จะแต่งตัวแบบไหน แม้จะเมา หรือแม้จะไปอยู่ในห้องใครก็ตาม การล่วงละเมิดทางเพศก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้น คนที่ผิดคือคนที่กระทำล่วงละเมิดต่างหาก…ไม่ใช่เหยื่อ

นี่คือ “สิ่งควรทำ” เพื่อ “ปลอบเหยื่อถูกล่วงละเมิด”

ทั้งนี้ กับ “คำแนะนำที่ควรให้กับเหยื่อ” ก็มีการให้แนวทางไว้เช่นกัน กล่าวคือ… หากมีคนรู้จักถูกล่วงละเมิดทางเพศ สิ่งที่ควรจะแนะนำให้เหยื่อทำ จะมีดังนี้คือ… อย่าเพิ่งอาบน้ำหรือเปลี่ยนเสื้อผ้า เพื่อจะได้เก็บหลักฐานบนร่างกายให้ได้มากที่สุด โดยที่ต้องแนะนำเช่นนี้ก็เนื่องจากเหยื่อที่ผ่านเหตุการณ์มาจะรู้สึกสกปรกและอยากชำระล้างออกให้เร็วที่สุด, รีบไปโรงพยาบาล เพื่อรับการดูแลและเก็บหลักฐาน เพื่อให้แพทย์ให้ยาป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์และป้องกันการตั้งท้อง และเพื่อให้แพทย์เก็บหลักฐานสำหรับใช้ดำเนินคดี แม้ว่าในขณะนั้นจะยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะดำเนินคดีหรือไม่ก็ตาม

คำแนะนำถัดมา…ไปสถานีตำรวจ ในพื้นที่ที่เกิดเหตุ หรือถ้าไม่รู้ก็ให้ไปสถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุด เพื่อแจ้งความ หรือลงบันทึกประจำวัน แล้วแต่รายละเอียดในแต่ละราย และสุดท้าย… หากยังสับสนไม่รู้จะทำยังไงดี จะไปหาหมอก็ยังไม่พร้อม หรือจะไปหาตำรวจก็ยังไม่กล้า ถ้าเกิดกรณีนี้ สิ่งที่ควรแนะนำให้เหยื่อทำก็คือ ให้ลอง ติดต่อศูนย์ช่วยเหลือสังคม OSCC สายด่วน 1300 …เหล่านี้คือ “สิ่งที่ควรแนะนำเหยื่อ” ที่ถูก “ล่วงละเมิดทางเพศ” ที่ปัจจุบันปัญหานี้ดูจะยิ่งลุกลาม…

จะ ปลอบเหยื่อ” มี สิ่งที่ไม่ควรทำคำที่ไม่ควรใช้”

การ ดูแลเหยื่อ” มี สิ่งที่ควรแนะนำคำที่ควรพูด”

เพื่อ ช่วยได้ถูกต้องมิใช่ช่วยแล้วกลับยิ่งแย่!!!” .