จากวิกฤติปัญหาแพร่ระบาดของโควิด-19 ขยับมากว่า 2 ปี จนส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปหลากหลายสาขาอาชีพ มีทั้งแรงงานในระบบ รวมไปถึง แรงงานนอกระบบ ต่างตกงาน โดยเฉพาะโควิดระลอก 3 ยังทำให้แรงงานนอกระบบจำนวนมากที่ไม่มีงาน หมดเงินต้องออกจากห้องเช่า บ้างก็ตัดสินใจมาใช้ชีวิตเร่ร่อน ตามพื้นที่สาธารณะกรุงเทพมหานคร

จนกลายเป็นกลุ่มคนเร่ร่อนหน้าใหม่เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ!

สิทธิพล ชูประจง

ช่องว่างดูแลคนเร่ร่อนหน้าใหม่

ทีมข่าว 1/4 Special Report ได้คุยกับ นายสิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า ตอนนี้มีคนเร่ร่อนหน้าใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นประมาณ 50% เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาดทำให้ผู้ประกอบการต้องปิดกิจการ จึงทำให้พนักงานในระดับล่างที่ไม่มีสวัสดิการกลายเป็นคนเร่ร่อนมากขึ้น เนื่องจากหลายคนไม่มีเงินจ่ายค่าห้องเช่า หรือไม่มีเงินพอจะกลับบ้านต่างจังหวัด กลุ่มคนเร่ร่อนหน้าใหม่ บางคนมีแววว่าจะต้องเป็นคนเร่ร่อนตลอดไป หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เข้ามาดูแล ในการจัดการช่วยหางานให้บุคคลเหล่านี้ได้ในเวลาที่รวดเร็ว และต้องเป็นงานที่ทำได้ต่อเนื่อง โดยต้องมีการจ่ายค่าแรงที่เหมาะสม เช่นได้ทำงานประมาณ 5 วัน ในค่าแรงวันละ 300 บาท เพราะจะช่วยทำให้ไม่ต้องมาเป็นคนเร่ร่อนอย่างที่เป็นอยู่

แต่ถ้าคนเร่ร่อนหน้าใหม่ ยังไม่ได้ทำงานก็จะทำให้พวกเขาเป็นคนไร้บ้านในระยะยาวต่อไป ซึ่งส่วนใหญ่จะมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นคนเร่ร่อนในระยะยาว เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจตอนนี้ที่ค่อนข้างมีปัญหา เพราะห้างร้านต่าง ๆ หลายแห่งทยอยปิดตัว ทำให้การจ้างงานของแรงงานในระดับล่างลดลง นอกจากนี้คนเร่ร่อนหน้าใหม่ ส่วนใหญ่เป็นคนในวัยพ้นวัยแรงงาน โดยเฉลี่ยจะมีอายุ 50 ปีขึ้นไป แนวโน้มเหล่านี้ทำให้คาดได้ว่า จะเป็นคนเร่ร่อนยาวนานขึ้น

ขณะเดียวกันส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบมาก่อน ทำให้ไม่มีสวัสดิการรองรับเมื่อตกงาน เพราะจากการสำรวจคนเร่ร่อนที่มาใหม่ มีคนที่มีประกันสังคมอยู่น้อยมาก คนเร่ร่อนหน้าใหม่ ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ถนนราชดำเนิน เพราะจะรู้กันในหมู่คนเร่ร่อนว่า จุดนี้เป็นที่รับแจกอาหารจากผู้ที่ใจบุญมาช่วยเหลือ ประกอบกับตอนนี้มีการกันพื้นที่อย่างเข้มงวดในพื้นที่หัวลำโพง จึงทำให้คนเร่ร่อนส่วนใหญ่ ต้องหันมาปักหลักกันบนถนนราช ดำเนิน

ตอนนี้หลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ ค่อนข้างลำบากในการที่คนเร่ร่อนจะไปพักอาศัย เพราะเขาต้องไปนอนในพื้นที่ที่มีแสงสว่างเพื่อป้องกันคนที่ไม่หวังดีจะมาทำร้าย หรือการใช้ชีวิตพื้นที่อื่น ๆ จะมีการแจกอาหารน้อยกว่าบนถนนราชดำเนิน โดยเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ที่สมัครใจออกมาเป็นคนเร่ร่อน ส่วนใหญ่เป็นคนปกติ มีสติสมประกอบ เพียงแต่ว่าต้นทุนของชีวิตพวกเขามีน้อย เลยทำให้หลายคนไม่สามารถขยับขยายตัวเองไปอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสมได้ เพราะหลายคนเมื่อชีวิตดิ่งถึงที่สุดก็เป็นเรื่องยากที่จะพยุงตัวเองกลับขึ้นมาได้

สร้างระบบการแก้ปัญหาอย่างเข้าใจ

หัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนน กล่าวต่อว่า สิ่งที่รัฐควรทำในการแก้ปัญหาคนเร่ร่อนในพื้นที่กรุงเทพฯ คือจะต้องสร้างพื้นที่สวัสดิการ ที่รองรับให้คนเหล่านี้สามารถเข้าไปใช้ได้ เพื่อให้การใช้ชีวิตประจำวันของพวกเขามีคุณภาพดีกว่าเดิม เช่น รัฐเปิดศูนย์ที่พวกเขาจะสามารถเดินไปทานอาหารฟรีได้ หรือเปิดพื้นที่ที่ให้คนเร่ร่อนไปอาบน้ำได้ฟรีและต้องมีพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนพูดคุย เพื่อให้รู้สึกว่า พื้นที่นี้ช่วยบรรเทาปัญหาต่าง ๆ ของเขาได้ด้วย ดังนั้นรัฐจะต้องทำพื้นที่สวัสดิการที่สามารถรองรับคนเร่ร่อนได้จริง เพราะรัฐทำในพื้นที่ที่พวกเขาไม่ไป เพราะเดินทางลำบากและมีเงื่อนไขค่อนข้างมาก เช่นเปิดพื้นที่ในย่านดินแดง แต่ถ้าเปิดศูนย์ในพื้นที่อนุสาวรีย์ชัยฯ จะช่วยทำให้คนเร่ร่อนเดินทางมาได้ง่ายขึ้น

ที่ผ่านมารัฐมักคิดการแก้ปัญหาคนเร่ร่อนแบบมีแพ็กเกจ เช่น ต้องมาลงทะเบียนเพื่อที่จะนอน ถึงจะได้อาบน้ำและซักเสื้อผ้า กินข้าว แต่จริง ๆ แล้วคนไร้บ้านไม่ต้องการการดูแลขนาดนั้นในบางคน ซึ่งหลายคนต้องการกินข้าว และอาบน้ำ แต่ไม่ต้องการนอน เพราะมีที่นอนข้างนอกที่สบายใจกว่า ขณะเดียวกันรัฐควรส่งเสริมให้มีรายได้ที่มั่นคง และให้พวกเขาเข้าถึงที่อยู่อาศัยในราคาถูกได้ เช่น มีเงินตั้งต้น 3 เดือน เพื่อให้พวกเขาไปเช่าห้องหลังจากได้ทำงาน สิ่งนี้จะทำให้พวกเขาเชื่อมั่นได้ว่าจะมีชีวิตใหม่ที่ยั่งยืนได้ ไม่ใช่ว่าพอจบ 3 เดือนแล้วไม่มีงาน สุดท้ายห้องเช่าก็ต้องคืน และต้องกลับมาเร่ร่อนเหมือนเดิมอีก

คนเร่ร่อนส่วนใหญ่ที่ตัดสินใจว่าจะเลิกเร่ร่อน ก่อนอื่นเขาต้องเห็นภาพอนาคตของตัวเองก่อนว่า มีงานมั่นคง ซึ่งสิ่งนี้ภาครัฐควรจะเข้ามาดูแล เพื่อเป็นการแก้ปัญหาคนเร่ร่อนอย่างเป็นระบบ การแก้ปัญหาของหน่วยงานรัฐที่ผ่านมามักจะไล่คนเร่ร่อนจากจุดนึงไปอีกจุดนึง แต่สิ่งที่รัฐต้องทำความเข้าใจคือ การมีอยู่ของพวกเขา และพื้นที่ที่พวกเขาอยู่เป็นพื้นที่ที่เหมาะต่อการใช้ชีวิต ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าพวกเขาเป็นส่วนที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจและปัญหาแรงงาน

รัฐจะต้องค่อย ๆ เข้าไปปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนเร่ร่อน แม้ทุกคนจะไม่สามารถออกจากวงจรคนไร้บ้านได้ทั้งหมด แต่มีส่วนหนึ่ง เช่น คนไร้บ้านหน้าใหม่ ที่รัฐต้องเร่งเข้าไปช่วยเหลือ เพราะพวกเขายังสามารถฟื้นตัวเพื่อผลักดันตัวเองได้ดีกว่าคนไร้บ้านที่เร่ร่อนมายาวนานจากการทำ โครงการไร้บ้าน-ไม่ไร้งาน จ้างวานข้า ของมูลนิธิกระจกเงา พบว่า คนที่สามารถกลับไปเป็นคนที่มีที่อยู่หลักแหล่งได้ ส่วนใหญ่จะเป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่ ต่างจากคนไร้บ้านหน้าเก่า ที่ส่วนใหญ่มักจะเร่ร่อนอยู่เหมือนเดิม เนื่องจากเขารู้สึกว่าตัวเองปรับเปลี่ยนชีวิตได้แล้ว ดังนั้นถ้าหน่วยงานภาครัฐเข้าใจมิติของคนไร้บ้านให้มากขึ้น จะช่วยทำให้คิดค้นกลไกต่าง ๆ เพื่อมาแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้น จะช่วยทำให้คิดค้นกลไกต่าง ๆ เพื่อมาแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้น เพราะที่ผ่านมายังแก้ปัญหาแบบเหมารวม เช่น การสร้างที่อยู่ เพราะนึกว่าสิ่งนี้จะเป็นการตอบโจทย์คนเร่ร่อน แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่.

โครงการ ‘จ้างวานข้า’

สำหรับโครงการจ้างวานข้า มูลนิธิกระจกเงา ได้ดำเนินการมากว่า 1 ปีเศษ วัตถุประสงค์เพื่อให้ กลุ่มคนไร้บ้าน กลุ่มคนจนเมือง ได้เข้าสู่การทำงาน และมีรายได้ในการเลี้ยงชีพ รวมถึงสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น จากคนไร้บ้าน ไปสู่คนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงขึ้น,โดยเงินที่    จ่ายให้คนที่เข้ามาทำงาน จ้างวานข้า เป็นเงินที่ได้จากการบริจาค ส่วนงานที่ทำเป็นงานทำความสะอาดในพื้นที่สาธารณะเป็นหลัก ซึ่งร่วมกับสำนักงานเขตของกรุงเทพมหานคร,แบ่งกลุ่มทำงานออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มคนทำงาน 1 วันต่อสัปดาห์, กลุ่มทำงาน 2 วันต่อสัปดาห์ และกลุ่มทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งกลุ่มนี้ส่วนมากเป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่, ค่าจ้างรายวัน   ที่คนทำงานจ้างวานข้าได้จะอยู่ที่ 400 บาท ต่อการทำงานไม่เกิน 5 ชั่วโมง เหมาะสมกับสภาพอายุ และสภาพร่างกายของคนทำงานจ้างวานข้า ซึ่งส่วนมากเป็นผู้สูงอายุ และร่างกายไม่แข็งแรง (จึงทำให้เขาไม่สามารถเข้าสู่ระบบการจ้างงานปกติได้)

ทั้งนี้มีคนไร้บ้านหลายคนที่ได้มาทำงานในจ้างวานข้าในระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงที่เขาตกงาน และหลายคนตอนนี้ได้ไปทำงานที่ใหม่ที่รายได้ และสวัสดิการมั่นคงขึ้น ซึ่งปรากฏการณ์นี้ ตรงกับสิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้น มันคือวัตถุประสงค์หนึ่ง ของเราที่จะเป็นตาข่ายรองรับผู้ร่วงหล่นทางเศรษฐกิจ สังคม เป็นที่พักฟื้น ยืนได้มั่นคง และก้าวต่อไปได้และ ภารกิจในอนาคตของจ้างวานข้านั้น คือเรื่องที่ทำให้คนที่ไม่มีรายได้ หรือรายได้ต่ำอย่าง กลุ่มคนไร้บ้าน สามารถเข้าถึงรายได้ที่ทำให้ชีวิตพวกเขามีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น อีกเรื่องคือการสร้างการเปลี่ยนผ่านให้เกิดขึ้นสำหรับคนไร้บ้าน ให้มีความมั่นคงในคุณภาพชีวิตมากขึ้น สามารถสนับสนุนโครงการจ้างวานข้าได้ที่ มูลนิธิกระจกเงา ซอยวิภาวดีฯ 62 (แยก 4-7) เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ