“ทีมข่าวอาชญากรรม” สอบถามข้อกฎหมายควรรู้–หลีกเลี่ยง สำหรับการประกอบธุรกิจที่กลายเป็นกระแส ขณะเดียวกันก็เป็น“ตำนาน”สร้างความเสียหายมานักต่อนัก นับแต่อดีต โดย ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ยกเหตุผลการประกาศใช้พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 ระบุด้วยการประกอบธุรกิจจำหน่ายสินค้าหรือบริการในปัจจุบันได้ใช้วิธีการทำตลาดในลักษณะที่เข้าถึง โดยการเสนอขายสินค้าหรือบริการแก่ผู้บริโภคโดยตรง ณ ที่อยู่อาศัย หรือสถานที่ทำงาน หรือสถานที่อื่นที่ไม่ใช่สถานที่ประกอบการค้าเป็นปกติธุระ โดยการอธิบาย หรือการสาธิต ผ่านผู้จำหน่ายอิสระ หรือตัวแทนขายตรง
การเสนอขายลักษณะดังกล่าว ทำให้ผู้บริโภคอยู่ในสภาวการณ์ไม่อาจตัดสินใจตกลงซื้อสินค้าหรือรับบริการได้อย่างอิสระและรอบคอบ
นอกจากนี้ ยังมีการประกอบธุรกิจจำหน่ายสินค้าหรือบริการในลักษณะการสื่อสารข้อมูล เพื่อเสนอขายโดยตรงต่อผู้บริโภค เช่น โดยอาศัยสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ มุ่งหวังให้ผู้บริโภคซึ่งอยู่ห่างโดยระยะทาง แสดงเจตนาตอบกลับ
ในกรณีนี้สินค้าหรือบริการดังกล่าวอาจไม่ตรงกับคำกล่าวอ้าง ตามโฆษณา อีกทั้งการทำตลาดขายตรง และตลาดแบบตรงปัจจุบันมีการใช้วิธีชักชวน และจัดให้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายในธุรกิจ โดยตกลงจะให้“ผลประโยชน์ตอบแทน”จากการหาผู้เข้าร่วม
จำนวนผู้เข้าร่วมที่เพิ่มขึ้น อันมีลักษณะเป็นการหลอกลวงประชาชน การทำตลาดสินค้า หรือบริการในลักษณะของการขายแบบเชิงรุกดังกล่าว ทำให้ประชาชนทั่วไปในฐานะผู้บริโภคตกอยู่ในฐานะ“เสียเปรียบ” ก่อให้เกิดความ“ไม่เป็นธรรม” ซึ่งที่ผ่านมาบทบัญญัติกฎหมายที่ใช้บังคับยังไม่สามารถให้ความคุ้มครองได้เพียงพอ จึงต้องตรากฎหมายดังกล่าว
ทั้งนี้ การประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง กำหนดห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินกิจการลักษณะเป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่าย โดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนการหาผู้เข้าร่วม ซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้ร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น (มาตรา 19) หากฝ่าฝืนโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีและปรับ 500,000บาท
นอกจากนี้ ยังห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจขายตรง เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการสมัครสมาชิก ค่าฝึกอบรม ค่าวัสดุอุปกรณ์ส่งเสริมการขาย หรือค่าธรรมเนียมอื่นๆ อันเกี่ยวเนื่องกับการร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจจากผู้จำหน่ายอิสระ หรือตัวแทนขายตรงที่ไม่ใช่ลูกค้า ในอัตราที่สูงกว่ากำหนด(มาตรา 22) ฝ่าฝืนโทษจำคุกไม่เกิน6เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
นายกสภาทนายความ ระบุ เมื่อพิจารณาตามข้อกฎหมายดังกล่าว หากมีผู้เสียหายแจ้งความดำเนินคดี และข้อเท็จจริงเป็นอันยุติเข้าองค์ประกอบความผิด ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงไม่อาจที่จะปฏิเสธความรับผิดได้ และตามพ.ร.บ.ขายตรงฯหากมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างเครือข่าย กฎหมายกำหนดให้นำบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค ในส่วนการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการโฆษณามาใช้บังคับด้วย
ดังนั้น หนีไม่พ้นที่ผู้ประกอบธุรกิจแบบขายตรงต้องรับผิดตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 และอาจเชื่อมโยงความผิดตามพ.ร.ก.การกู้ยืมเงินฯ ด้วย
สำหรับยาม“กู้ยืมเงิน”หมายถึง รับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าลักษณะรับฝาก การกู้ การจำหน่ายบัตรหรือสิ่งอื่นใด การรับเข้าเป็น การรับเข้าร่วมลงทุน การรับเข้าร่วมกระทำการอย่างใดอย่าง หรือลักษณะ โดยผู้กู้ยืมเงินหรือบุคคลอื่นจ่ายผลประโยชน์ตอบแทน หรือตกลงว่าจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ให้กู้ยืม
ไม่ว่าจะเป็นการรับเพื่อตนเอง หรือรับในฐานะตัวแทน หรือลูกจ้างของผู้กู้ยืมเงิน หรือของผู้ให้กู้ยืมเงิน หรือในฐานะอื่นใด และไม่ว่าการรับหรือ ทรัพย์สิน ผลประโยชน์อื่นใด หรือผลประโยชน์ตอบแทนนั้นจะกระทำด้วยวิธีการใดๆ
โดยเฉพาะมาตรา 4 มีหลักกฏหมายว่า ผู้ใดโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชน หรือกระทำการด้วยประการใดๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ว่าการกู้ยืมเงินตนหรือบุคคลใด จะจ่ายหรืออาจจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ ตามพฤติการณ์แห่งการกู้ยืมในอัตราสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินพึงจ่าย
โดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าตนหรือบุคคลนั้น จะนำเงินจากผู้ให้กู้ยืมเงินนั้น หรือรายอื่น มาจ่ายหมุนเวียนให้ผู้ให้กู้ยืมเงิน หรือโดยตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถประกอบกิจการใดๆ โดยชอบที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงนำมาจ่ายในอัตรานั้น
ผู้นั้นกระทำความผิด ฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน โทษจำคุกตั้งแต่ 5-10 ปี และปรับตั้งแต่ 500,000-1,000,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่
นอกจากนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ยังมีหลักกฏหมายที่สำคัญ คือ ผู้ใดโดยทุจริตหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนหรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน และได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง ผู้กระทำย่อมมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน โทษจำคุกไม่เกิน5ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กรณีมีบุคคลที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าว เช่น การไปร่วมโฆษณาประชาสัมพันธ์ ให้คนสนใจสมัครเป็นเครือข่ายอาจมีความผิดในฐานะเป็นผู้สนับสนุน หรือ หากมีการไปร่วมทุนกับผู้ประกอบธุรกิจขายตรง อาจถือว่าเป็น“ตัวการร่วม”ในการกระทำความผิดก็ได้ด้วย.
ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน