ต้องยอมรับว่า โลกยุคปัจจุบัน โทรศัพท์มือถือ แทบจะกลายเป็นปัจจัยที่ 5 แทบจะขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวันเลยก็ว่าได้!!
จากอดีต โทรศัพท์มือถือเคยเป็นเพียงเครื่องมือสื่อสารที่ใช้พกประจำตัว สร้างความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้งาน แต่เมื่อเทคโนโลยีก้าวล้ำยุคของการสื่อสารที่ไร้พรมแดน ทำให้ค่อย ๆ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องขึ้นทุกปี จากเพียงแค่ได้ยินแต่เสียงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ปัจจุบันเหมือน ย่อโลกมาอยู่ในมือ เอาไว้เรียบร้อย
การพัฒนาจากสื่อสารได้ยินแค่ เสียง มาเป็นส่ง ข้อความ หรือ SMS ขยับมาเป็นได้ยินทั้ง เสียง-ภาพ-วิดีโอ กระทั่งเทคโนโลยีอินเทรนด์ทุกอย่างถูกป้อนลงมาอยู่ในมือถือ ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม ถ่ายรูป สั่งซื้อสินค้า ทำธุรกรรมการเงิน ใช้ทำงาน หรือในช่วงโควิด มือถือยังมีบทบาททำงานหรือประชุมผ่าน ระบบซูม ได้แบบสะดวกง่ายดาย
บรรดามิจฉาชีพ 18 มงกุฎ ก็ปรับตัวตามเทคโนโลยี กลายเป็น อาชญากรไซเบอร์ เข้าไปอาละวาดอาศัยช่องโหว่เล่นงานเหยื่อในโทรศัพท์มือถือ มีหลากหลายรูปแบบ เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์ สุ่มเบอร์โทรศัพท์เข้าไปแอบอ้างเป็นหน่วยงานรัฐ หลอกลวงต้มตุ๋นให้เหยื่อไปโอนเงิน ล่าสุด แก๊งแฮกเกอร์ ขโมยเจาะข้อมูล ดูดเงินจากบัญชีเหยื่อนับไม่ถ้วนกำลังเป็นข่าวใหญ่ และกำลังหาทางแก้ไขปัญหาให้กับผู้ได้รับความเสียหาย
นอกจากนี้ ช่วงระยะหลังที่กำลังกลายเป็นปัญหาไม่ควรมองข้าม เกือบทุกคนที่ใช้โทรศัพท์มือถือ ต่างคงพบเจอกันมาแล้วแทบทั้งสิ้น ปัญหาการส่ง ข้อความ SMS เข้ามาสร้างความปั่นป่วนให้กับผู้ใช้บริการ หากเป็นคนหนุ่มคนสาวยังพอไหวตัวทันไม่หลงกลไปกับสารพัดข้อความ ที่เข้ามาในโทรศัพท์ ส่วนใหญ่จะมองข้ามไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าไรนัก
แต่ถ้าเป็น ผู้สูงวัย หรือบรรดา เยาวชน เด็ก ๆ บางทีก็ตามเล่ห์เหลี่ยมของพวกมิจฉาชีพนี้ไม่ทัน ต่างหลงกลตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก
ข้อความหลอกลวง มีทั้งปลอมแปลงเป็นผู้อื่นเพื่อให้ผู้รับหลงเชื่อ หรือ Phishing เช่น อ้างจะให้สินเชื่อ คุณถูกรางวัลได้รับเงิน ถือเป็นข้อความสุ่มเสี่ยง หลอกลวงเชิญชวนให้ผู้ใช้บริการหลงเชื่อและทำให้เสียทรัพย์ได้, ข้อความเชิญชวนเล่นพนันออนไลน์ หลากหลายรูปแบบ ทั้งกาสิโน ไพ่ หรือกำลังนิยมสุด คือ เชิญชวนเล่น หวยอาเซียน อธิบายการเล่นและราคาให้ครบ แถมมีให้เลือกเล่นทุกวัน จนนึกว่าเปิดให้เล่นเสรีไปแล้ว อีกทั้งยังมีข้อความประชาสัมพันธ์คอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสม เกี่ยวกับเรื่องลามก อนาจาร ฯลฯ
เรียกว่ารูปแบบ SMS ที่โผล่เข้ามาในโทรศัพท์มือถือนั้น นอกจากจะสร้างความก่อกวนแล้ว เสี่ยงเข้าถึงข้อมูลบุคคลแล้ว บางครั้งยังสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้บริการ ที่ตามเล่ห์เหลี่ยมไม่ทันต้องตกเป็นเหยื่อด้วย!!
แม้ก่อนหน้านี้เดือน ก.ย. 64 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรียกบรรดาค่ายโทรศัพท์มือถือ ผู้ให้บริการ หรือโอปเรเตอร์ทุกราย มาหารือถึง “แนวทางการแก้ไขปัญหา SMS หลอกลวง” โดยให้โอปเรเตอร์ทุกราย บล็อก SMS ทันที ที่พบว่ามีเนื้อหาชัดเจนว่าเป็นการ หลอกลวง, เว็บพนันออนไลน์ หรือ ลามกอนาจาร
ที่สำคัญให้มีมาตรการเพิ่มเติมร่วมกันระหว่างโอเปอเรเตอร์ โดยจะแชร์ข้อมูลระหว่างกันให้ทราบถึง SMS ที่มีปัญหาที่กำหนดเป็น Blacklist เพื่อให้ทุกค่ายดำเนินการบล็อก SMS จากผู้ส่งรายเดียวกัน เพื่อปกป้องลูกค้าและสร้างมาตรฐานการให้บริการโทรคมนาคม อีกทั้งจะสื่อสารให้ข้อมูลลูกค้ารู้เท่าทันกลุ่มมิจฉาชีพด้วยเช่นกัน
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ!! แม้ทาง กสทช. และค่ายมือถือ จะพยายามล้อมคอกปัญหา SMS หลอกลวงไว้ในระดับหนึ่ง แต่ช่วง ก.ย.-
ต.ค. 64 ยังมีผู้ร้องเรียน เฉลี่ยวันละ 100 ราย รวม 2,039 ราย จนทำให้ “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” เรียกร้องให้ กสทช. บังคับใช้กฎหมายกับค่ายมือถือและลงโทษปรับด้วย หากยังไม่สามารถระงับการส่ง SMS หรือโทรศัพท์รบกวนได้
ล่าสุดเห็นทาง กสทช. ขยับออกโรงอีกครั้ง รอบนี้ประกาศเสียงดังฟังชัด จะออกคำสั่งทางปกครองกับ “ผู้ให้บริการ” ก็คือบรรดาค่ายมือถือที่ไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหา และถ้ายังปล่อยให้มี SMS หลอกลวงส่งไปยังประชาชน โดยจะมีคำสั่ง ตักเตือน ปรับ พักใบอนุญาต จนถึงเพิกถอนใบอนุญาต ตามข้อเท็จจริง
ตอนนี้ กสทช. ยังจับมือร่วมกับ ตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) กระทรวงดีอีเอส และ ค่ายมือถือ ลุยแก้ไขปัญหาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ถ้าใครยังประสบปัญหา หรือมีเบาะแสเกี่ยวกับ SMS หลอกลวง โทรฯ แจ้ง สายด่วน 1200 ของ กสทช. ส่วนจะปราบปรามสำเร็จหรือไม่นั้น? เชิงผา จะนำมารายงานให้ทราบกันต่อไป.
———————
เชิงผา