ยังต้องรับมือกับอุทกภัยอย่างหนักหน่วงสำหรับภาคเหนือที่เจอ “เรนบอม”ฝนตกหนักต่อเนื่องตามด้วยพายุ น้ำป่าไหลหลาก อุทกภัย เกิดภัยพิบัติ แม้ 27 ก.ย. “นายกฯอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ไปกดปุ่มจ่ายเงินก้อนแรกครอบครัวละ 5,000 บาท ให้กับชาวอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย แต่สถานการณ์การฟื้นฟูบ้านเรือนที่จมไปด้วยโคลนยังต้องใช้เวลาอีกยาวนาน ชาวบ้านเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องเร่งมือซับน้ำตา ฟื้นฟูให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ถือเป็นการบ้านโจทย์ใหญ่ เป็นบทพิสูจน์วัดกึ๋นผู้นำประเทศถึงการบริหารจัดการประเทศที่เกิดขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าอุทกภัยครั้งนี้สร้างความเสียหายให้กลับเศรษฐกิจของประเทศ มีความเสียหายรวม 4.65 หมื่นล้านบาท
ประเด็นร้อนโจทย์ใหญ่ของ “รัฐบาลแพทองธาร” คือ การเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ ให้ประชาชนกินอิ่มนอนอุ่น ซึ่งเงินก้อนใหญ่ที่เพิ่งเติมลงไปตามนโยบายเรือธงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตหนึ่งหมื่นบาท ที่ “นายกฯอิ๊งค์” ได้ไปกดปุ่มแจกเงินไปยังกลุ่มเปราะบางจำนวน 14.5 ล้านคน วงเงินที่อนุมัติ145,552 ล้านบาท
ภาพที่เห็นอยู่เต็มตา คือ กลุ่มเปราะบางแห่ต่อแถวกดเงินหมื่น ด้วยความดีอกดีใจ บางคนร้องไห้ ขอบคุณ “รัฐบาลแพทองธาร” ขอบคุณไปถึง “นายทักษิณ ชินวัตร” ที่แจกเงินหมื่นต่อชีวิตให้กับกลุ่มเปราะบาง ซึ่ง“นายกฯอิ๊งค์” ยังให้ความมั่นใจด้วยว่า จะเริ่มดำเนินการโครงการโอนเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ “เฟสสอง”และ “เฟสสาม” ต่อแต่ตอนนี้กำลังวางเรื่องระบบอยู่
ขณะที่อีกฟากก็ตั้งคำถามเช่นกันว่า คนที่ไม่ได้อยู่ในข่ายรับเงินหมื่น แต่กลับต้องมาแบกรับหนี้ที่เกิดขึ้น อีกทั้งโครงการแจงเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ก็มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ่าย โครงการ แบบไม่ตรงปกกับที่เคยหาเสียงเอาไว้
สถานการณ์ตอนนี้ การแจกเงิน 1 หมื่นบาท ให้กับกลุ่มเปราะบางเป็นเหมือน “ขอนไม้” ที่รัฐบาลใช้เกาะลอยคอ เพื่อต่ออายุรัฐบาล กู้ศรัทธาให้กับ “รัฐบาลแพทองธาร” ในระยะสั้น ๆ แต่ต้องลุ้นว่าจะรอดปากเหยี่ยวปากกา อยู่ไปจนครบวาระหรือไม่
เพราะระหว่างนี้ต้องเจอมรสุม “วาระร้อน” โหมเข้าใส่อย่างรัวๆ เริ่มตั้งแต่ “นายกฯอิ๊งค์” เองที่โชว์บทบาทสะท้อนถึง “วุฒิภาวะ” ที่ยังไม่ท็อปฟอร์มความเป็นผู้นำโดยเฉพาะการตอบคำถามกับสื่อยังไม่มีความสุขุม ไม่รอบด้าน พูดก่อนคิด
ล่าสุดกรณีเจอเรื่องค่าเงินบาทแข็งค่า ก็ต้องมีการมาแก้ในภายหลัง จนเกิดคำถามว่า เข้าใจเรื่องเศรษฐกิจไม่ถ่องแท้ ถือเป็นจุดใหญ่ที่ “นายกฯอิ๊งค์” ต้องปรับปรุงด่วน เพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้กับตัวเองเพราะจะส่งผลถึงประเทศด้วย
ขณะเดียวกันยังมีวาระร้อน มรสุมนิติสงคราม กองทัพนักร้องรุมร้ององค์กรอิสระแบบตีลูกระนาด โดยเฉพาะประเด็นเรื่องจริยธรรม หวังสอย “นายกฯอิ๊งค์” หลุดบัลลังก์ งานนี้ พรรคเพื่อไทยอยู่เฉยไม่ได้ เดินหน้าเล่นกับไฟ แต่เจอไฟเล่นกับ ด้วยการเสนอแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา รวมถึงปมร้อนจริยธรรม ลดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อป้อง“นายกฯน้อย” ไม่ให้ซ้ำรอย “เศรษฐา”
แต่กลับกลายเป็นวางกับดักให้กับตัวเอง เพราะล่าสุด กลุ่มนักร้องจ้องเดินเกมยื่นยุบพรรคเพื่อไทย และสอย 100 สส.เพื่อไทย ที่เข้าชื่อยื่นแก้รัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ฐานจงใจกระทำผิดรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของตนเอง และขัดกับผลประโยชน์ของชาติ
กระตุกให้บรรดาพรรคร่วมรัฐบาลออกอาการเลิกลั่กใส่เกียร์ถอย ทั้ง“พรรคภูมิใจไทย” “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ต่างมีมติพรรคไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ทำเอาพรรคเพื่อไทยต้องติดเบรกตัวโก่ง ใส่เกียร์ถอยล้มแผนแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราเอาไว้ก่อน และขอเดินหน้าช่วยประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมก่อน
หลังประเมินแล้วว่า โอกาสผ่านสภาเป็นหนทางที่ยากลำบาก เพราะต้องอาศัยเสียง สว. 1 ใน 3 หรือ 67 คนขึ้นไปให้ความเห็นชอบ และยิ่งโฟกัสไปที่ “สว. สายสีน้ำเงิน” มีแนวโน้มไม่เอาด้วย
เท่ากับว่าเสียงคนคุมเกมตอนนี้เป็น “พรรคภูมิใจไทย” ที่เป็นพี่ใหญ่ มีไม่ได้มีเฉพาะเสียงสส.ที่อยู่ในมือแค่ 70 เสียง แต่ยังมี 150 สว.สายสีน้ำเงินเป็นแต้มต่ออีกต่างหาก
ล่าสุด สว.สายสีน้ำเงิน ก็เปิดเกมแผลงฤทธิ์ให้เห็นว่าชัดๆ จากการประชุม นัดสุดท้าย ของ “กมธ.ประชามติ วุฒิสภา” ที่มีการ“กลับลำ”ของมติที่ประชุม ในประเด็นสำคัญ คือ “เกณฑ์การผ่านประชามติที่ สภาฯ แก้ไขให้ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว” โดยมติข้างมาก 17 ต่อ 1 เห็นชอบให้เติมวรรคใหม่ กำหนดเงื่อนไข ฟื้นเสียงข้างมาก 2 ชั้น คือนอกจากจะใช้เสียงข้างมากของผู้มาลงคะแนนแล้ว จำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งด้วย ซึ่งเค้าลางความผิดปกติเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญผ่านทางการทำประชามติ จะเป็นเกมยื้อเวลาหรือไม่ ต้องจับตาวันการประชุมวุฒิสภาในวันจันทร์ที่ 30 กันยายน นี้
เพราะตามไทม์ไลน์การทำประชามติ ได้วางไว้เดือนกุมภาพันธุ์ 2568 พร้อมไปกับการเลือกตั้งนายกอบจ.ทั่วประเทศ ถ้ามีการยื้อเวลาเรื่องกติกาการออกเสียงประชามติออกไป ผู้เกี่ยวข้องนั่งกุมขมับอยู่ว่า กติกาจะออกมาทันตามกำหนดไว้หรือไม่
เท่ากับว่า “แพทองธาร” และ “พรรคเพื่อไทย” ยังต้องขวัญผวาอยู่กับในวงล้อมนิติสงคราม ดังนั้นการทำหน้าที่ของ “รัฐบาลแพทองธาร” จึงต้องระมัดระวังทุกฝีก้าว ห้ามพลาด เพราะเป็นเดิมพันอนาคตการเมือง “ตระกูลชิน”
จึงถือเป็นอีกโจทย์ใหญ่ที่ “นายกฯอิงค์” ต้องเร่งมือทำงานกู้ศรัทธาปั่นแต้มให้ขึ้น พลิกวิกฤตคือโอกาสขึ้นมาให้ได้ ต้องทุ่มเทแรงกาย แรงใจประคองตัวเองให้ได้
เพราะ“นายกฯอิ๊งค์”ยังมีประเด็นสายล่อฟ้า นอกจากการแก้รัฐธรรมนูญ เรื่องนิรโทษกรรม มาตรา 112 เรื่อง จริยธรรม ลดอำนาจองค์กรอิสระ เรื่องค่าแรง 400 บาท ที่ยังลูกผีลูกคน
นอกจากนี้ยังมีเกมร้อนในการทำสงครามกับคนบ้านป่า ที่“พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์” อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย เดินหน้าแฉ โดยหอบหลักฐานให้ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร สอบจริยธรรม “ลุงป้อม”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กรณีไม่มาประชุมสภา ลาหมด 84 ครั้ง จากวันประชุมรวม 95 ครั้ง คิดเป็น 88.42 % ที่สำคัญมีอยู่หนึ่งสมัยประชุม “พล.อ.ประวิตร” ลาทั้งสมัยประชุมฯครบ 100 เปอร์เซนต์ โดยอ้างเหตุผล“ติดภารกิจ”
การที่ “ลุงป้อม” ถูกไล่ต้อนเข้ามุมอับ “พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์” จะแก้เกมนี้อย่างไรจะกลายเป็นจุดจบหรือจะเป็นเกมเดือด การเมืองร้ายเกิดวงจรอุบาท์ขึ้นมารอบใหม่หรือไม่.