มหกรรมกีฬา “โอลิมปิก” ครั้งล่าสุดนักกีฬาไทยก็คว้าเหรียญได้หลายเหรียญหลายคน แต่ เพราะไทยมีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี กระแสฮีโร่โอลิมปิกก็เลยแผ่วไปหน่อย??… อย่างไรก็ตาม กับนักกีฬาต่างชาตินั้นเกิดกรณี “โอลิมปิกจบแต่นักกีฬาไม่จบ!!“ ที่น่าคิด โดยมี“ดราม่าวุ่น ๆ“เกิดตามมา ซึ่งที่เป็นกระแสอื้ออึงมากก็รวมถึงเรื่องการฟ้องร้อง-ประท้วงกันวุ่นวายของ “นักกีฬาหญิงยิมนาสติก” ที่มีประเด็นกันระหว่าง “ทีมโรมาเนีย-ทีมสหรัฐ อเมริกา” ที่นำสู่การริบเหรียญรางวัลกลับไปกลับมา ซึ่งกองเชียร์แต่ละชาติต่างก็มึนตึ้บ และส่งผลกระทบต่อจิตใจนักกีฬาทั้งสองฝั่ง ที่ถึงขั้นนักกีฬาที่เป็นประเด็น “ขอพักใจชั่วคราว“ เพราะรู้สึก “เครียดและบอบช้ำมาก ๆ“ ซึ่งวงการกีฬานั้นเรื่อง“สุขภาพจิตนักกีฬา“ ก็ถือว่าสำคัญ…

“สุขภาพจิต“ ก็ เหมือนสุขภาพกาย“
กับนักกีฬา ก็ถือว่าสำคัญไม่แพ้กัน!!“

ทั้งนี้ ว่าด้วย “สุขภาพจิตนักกีฬา” นั้น เรื่องนี้ในประเทศไทยก็มีนักจิตวิทยาให้ความสนใจ และมีการศึกษาเรื่องนี้ ซึ่ง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูล โดยสำหรับ “ความสำคัญ” ของเรื่องนี้ มีการอธิบายไว้โดย รศ.สักกพัฒน์ งามเอก อาจารย์คณะจิตวิทยา ผ่านทางบทความที่เผยแพร่อยู่ใน เว็บไซต์คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้อธิบายไว้ถึง “หลักจิตวิทยาที่สำคัญ“ ซึ่งเป็นปัจจัยและมีผลอย่างมากในการ ’ช่วยทำให้นักกีฬาประสบความสำเร็จ“ และหลักจิตวิทยาดังกล่าวนี้มีประโยชน์กับบรรดานักกีฬาไม่เฉพาะแค่ในการฝึกซ้อม-สนามแข่งขัน แต่ยัง “ดีกับคุณภาพชีวิต“ ด้วย…

โดยเฉพาะกับ“ชีวิตประจำวันนักกีฬา“
ที่ก็“สามารถจะประยุกต์ใช้ในชีวิตได้“

เกี่ยวกับ “หลักจิตวิทยาที่นักกีฬาควรมี” นั้น ทาง รศ. สักกพัฒน์ อาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาฯ ได้ระบุไว้ โดยสังเขปมีว่า… เมื่อพูดถึงกีฬาแล้ว การเรียนรู้และการเพิ่มพูนทักษะทางกีฬา (sport skill) และความเข้าใจในเกมการแข่งขัน รวมไปถึงการพัฒนาหรือรักษาสภาพร่างกายของนักกีฬา ถือเป็นเรื่องปกติที่นักกีฬาทำตลอดเวลาอยู่แล้ว เพื่อเตรียมตัวสำหรับการแข่งขัน แต่ กับเรื่อง ทักษะทางจิตวิทยา (mental skill)“ก็เป็นอีกทักษะสำคัญที่นักกีฬาสมัยใหม่ต้องได้รับการฝึกฝนเช่นกัน เพราะ “ก็สำคัญต่อศักยภาพของนักกีฬา“ทั้งในเวลาที่ฝึกซ้อมก่อนแข่ง รวมถึงเมื่อต้องลงสนามแข่งขัน…

ก็เป็นปัจจัยหนึ่งช่วยนำสู่ความสำเร็จ

อย่างไรก็ตาม แม้นักกีฬาและโค้ชของนักกีฬาจะตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ ว่า… จิตใจมีผลต่อการแข่งขัน” แต่กลับมีเพียงบางคนเท่านั้นที่รู้จักวิธีการพัฒนาและเพิ่มพูนทักษะนักกีฬาทางจิตวิทยา โดยมีนักกีฬาและผู้ฝึกสอนจำนวนมากไม่ทราบวิธีที่จะทำให้เกิดการเพิ่มพูนทักษะนี้ ทั้ง ๆ ที่ mental skill” เป็น ทักษะที่มีประโยชน์ต่อการแข่งขันของนักกีฬา

ทางอาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาฯ ผู้เขียนบทความดังกล่าวนี้ ยังระบุไว้อีกว่า… ทักษะเรื่องนี้มีหลากหลาย และไม่ได้มีแค่ทักษะเพื่อการแข่งขันเท่านั้น แต่ยัง เป็นทักษะในหลาย ๆ มิติของชีวิตนักกีฬา ตั้งแต่การฝึกซ้อม แข่งขัน ไปจนถึงการใช้ในชีวิตประจำวัน การปรับตัวเมื่อถึงเวลาต้องเลิกแข่งขัน หรือต้องโบกมือลาจากการเป็นนักกีฬา ดังนั้น งานของนักจิตวิทยาการกีฬา คือ ช่วยให้นักกีฬาได้เรียนรู้ พัฒนา และฝึกฝนทักษะนี้ เพื่อที่จะประสบความสำเร็จ ในชีวิต…

ทั้ง “ในสนาม“ รวมถึง“นอกสนาม“…
นำไปใช้“ในชีวิตที่ไม่ใช่การแข่ง“ได้

สำหรับ “ทักษะจิตวิทยาสำหรับนักกีฬา” นั้น ทาง รศ. สักกพัฒน์ งามเอก ได้ระบุไว้ 4 กลุ่ม ดังนี้คือ… 1.ทักษะพื้นฐาน (foundation skill) เป็นทักษะที่นักกีฬาและโค้ช ต้องมี ไม่ว่าจะเล่นกีฬาอะไร หรือลงแข่งขันระดับไหน โดยทักษะพื้นฐานนี้ ที่ควรจะต้องมีก็มีอาทิ การสร้างแรงจูงใจเพื่อมุ่งความเป็นเลิศเพื่อทำให้นักกีฬามุ่งมั่น มีสมาธิ ทุ่มเทกับการฝึกซ้อม ไม่ออกนอกลู่นอกทาง โดยผู้ฝึกสอนอาจเริ่มจากสอนให้นักกีฬาเรียนรู้เรื่องการตั้งเป้าหมาย การบริหารเวลา การจัดลำดับความสำคัญ รวมถึงสอนทักษะพื้นฐานเกี่ยวกับการตระหนักรู้ตัว การคิดให้เป็นประโยชน์ และการสร้างความมั่นใจให้ตัวเอง

ถัดมา… 2.ทักษะที่ช่วยให้พัฒนาทักษะกีฬา (performance skill) เป็นทักษะที่เมื่อนักกีฬาเรียนรู้และฝึกฝนแล้วจะช่วยให้พัฒนาทักษะทางกีฬาได้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากขึ้น จน รีดเค้นผลงานได้ถึงระดับสูงสุด อาทิ กระบวนการทางปัญญากับการรับรู้ การจดจ่ออยู่กับงานตรงหน้า รวมถึงการกำกับอารมณ์และบริหารพลังงานเพื่อให้พร้อมกับการแข่งเสมอ

และ… 3.ทักษะที่ช่วยให้พัฒนาตัวเอง (personal development skill) เพื่อช่วยให้นักกีฬาจัดการกับความท้าทายต่าง ๆ ในชีวิต ซึ่งอาจไม่เกี่ยวกับการซ้อมและการแข่งโดยตรง เช่น นักกีฬาเด็ก วัยรุ่น เพื่อช่วยค้นหาอัตลักษณ์ตัวเอง และเพื่อให้ รู้วิธีจัดการกับความคาดหวัง ทั้งของตนเอง คนรอบข้าง รวมทั้ง มีความสามารถที่จะเรียนรู้ ปรับจิตใจ เมื่อล้มเหลว

สุดท้าย… 4.ทักษะการทำงานเป็นทีม (team skill) นี่หมายรวมทั้งทักษะการทำงานเป็นทีม ทักษะในการสื่อสาร ภาวะผู้นำ การสร้างความมั่นใจให้ทีม …เหล่านี้เป็น mental skill-ทักษะทาง จิตวิทยา“ที่ก็สำคัญต่อนักกีฬาทุกชนิดกีฬา

โลกกีฬาสมัยใหม่ให้ความสำคัญมาก
แวดวงกีฬาไทยก็คงให้ความสำคัญ…
คงไม่มีนักกีฬาไทยถึงขั้นขอพักใจ.