แม้ไม่รุนแรงจนเกิดอันตรายร้ายแรง…แต่ก็ “ชวนระทึก!!” ทุกครั้ง…กับ “แผ่นดินไหวในประเทศไทย” อย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็เกิดที่ จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2567… “แผ่นดินไหว” ที่เกิดในไทยเมื่อ 30 พ.ค.ที่ผ่านมานั้น กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า… ตรวจพบแผ่นดินไหวขนาด 2.4 ที่ ต.อ่างทอง อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ความลึก 4 กิโลเมตร โดยในพื้นที่ รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือน ซึ่งก็สะท้อนว่า “เมืองไทยก็ไม่อาจประมาทกับภัยนี้!!” เช่นกัน…

ต้นปี 2567 มาถึงสิ้นเดือน พ.ค.นั้น…
เกิดแผ่นดินไหวที่รับรู้ได้ “7 ครั้งแล้ว”

ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2567 เรื่อยมา กับเหตุ “แผ่นดินไหวในไทย” นั้น กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหวได้รายงานเหตุไว้ ดังนี้… วันที่ 20 ม.ค.แผ่นดินไหว 2 ครั้ง ขนาด 3.0 และ 2.4 ที่ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี, วันที่ 11 ก.พ.แผ่นดินไหวขนาด 2.7 ที่ ต.วัดเกต อ.เมือง จ.เชียงใหม่, วันที่ 28 ก.พ. แผ่นดินไหวขนาด 3.4 ที่ ต.แม่นาเปิง อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน, วันที่ 1 เม.ย.แผ่นดินไหว 2 ครั้ง ขนาด 2.8 ที่ ต.ป่าไผ่ อ.สันทราย กับขนาด 3.0 ที่ ต.เวียง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ และเมื่อเร็ว ๆ นี้แผ่นดินไหวก็เกิดที่สมุย

แม้จะไม่แรงมาก…แต่ก็ “ชวนผวา!!

ทั้งนี้ อย่างที่หลายคนทราบกันว่า… “ภัยแผ่นดินไหว” ในปัจจุบันก็ยังไม่มีเครื่องมือ หรือเทคโนโลยีใด ๆ ที่จะสามารถพยากรณ์ก่อนเหตุเกิดได้ แต่ถึงกระนั้นก็อาจ “เซฟชีวิตผู้คน” ได้ หากมี “เครื่องมือเตือนภัย” กรณีแผ่นดินไหวรุนแรงในระดับที่ทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน หรือใช้เป็น “อุปกรณ์เฝ้าระวัง” ได้ระดับหนึ่ง ซึ่งนักวิจัยไทยก็พยายามคิดค้นพัฒนาเครื่องมือดังกล่าว โดยมีเป้าหมายเพื่อ “ลดการสูญเสีย” และก็นำสู่อุปกรณ์เตือนภัยที่มีชื่อว่า… “เครื่องวัดแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวราคาประหยัด” ซึ่งขณะนี้ได้มีการติดตั้งในบางพื้นที่แล้ว โดย “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลในวันนี้…

เกี่ยวกับผลงาน “เครื่องวัดแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวราคาประหยัด” นี้ คีย์แมนในการประดิษฐ์ คือ รศ.ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ หัวหน้า ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรม ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ร่วมคิดค้นพัฒนา “นวัตกรรมเซนเซอร์ตรวจวัดอาคาร” หรืออีกชื่อคือ “เครื่องวัดแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวราคาประหยัด” ซึ่งเป็นผลงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล กับ กรมอุตุนิยมวิทยา ภายใต้ทุนสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่ผ่านการทดสอบใช้จริงที่ โรงพยาบาลเชียงใหม่ และ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ซึ่งทั้ง 2 พื้นที่นี้…

“อยู่ในจุดเสี่ยง” ภัย “แผ่นดินไหว”
เป็น “พื้นที่เฝ้าระวังในประเทศไทย”

สำหรับการทำงานของเครื่องนี้ รศ.ดร.ธีรพันธ์ ให้ข้อมูลไว้ว่า… สามารถวัดค่าความสั่นสะเทือนและแจ้งเตือนผ่านนวัตกรรมเซนเซอร์ตรวจวัดอาคาร เพื่อให้ผู้ใช้งาน ซึ่งเป็นวิศวกรดูแลอาคาร ผู้บริหารโรงพยาบาล ใช้เพื่อเป็นข้อมูลระกอบการตัดสินใจด้านความปลอดภัยของอาคารได้ในเวลาเพียง 20 นาทีหลังเหตุแผ่นดินไหว ทั้งนี้ โดยทั่วไปผู้ที่สนองตอบต่อแรงเคลื่อนตัวของเปลือกโลกจะเป็นผู้ที่อยู่ในชั้นสูงของอาคาร ซึ่งเมื่อรับรู้แรงสั่นไหวก็อาจเกิดความ ตื่นตระหนก กรณีนี้ก็นำสู่เหตุไม่คาดคิดได้ รวมถึงอาจทำให้เกิดการอพยพที่ไม่จำเป็น ที่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ซึ่งอุปกรณ์นี้ก็จะช่วยลดความสับสน ได้ เนื่องจาก แผ่นดินไหวที่รับรู้ได้บนอาคารสูง นั้น…

ไม่ได้ทำให้อาคารเกิดเสียหายทุกครั้ง

รศ.ดร.ธีรพันธ์ ได้ให้ข้อมูลไว้เพิ่มเติมว่า… เครื่องนี้เป็น ผลงานคนไทย 100% ที่นอกจากจะ ลดความตื่นตระหนก เมื่อเกิดเหตุแล้ว ยัง ลดต้นทุนการนำเข้า จากต่างประเทศได้มาก จากหลักแสนเหลือเพียงหลักหมื่นบาท ซึ่งขั้นตอนการติดตั้งนั้นจะเริ่มจากสำรวจแบบแปลนและพื้นที่จริงเพื่อพิจารณาจุดติดตั้งที่เหมาะสม และเมื่อติดตั้งแล้วทีมวิจัยจะถ่ายทอดวิธีใช้งานเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถอ่านค่า และรายงานสู่หน่วยปฏิบัติการวิจัย เพื่อ นำไปสู่การตัดสินใจที่เหมาะสม และทันท่วงที

ขณะที่ “ผลการทดสอบ” นั้น ทางคีย์แมนผู้ร่วมคิดค้นท่านดังกล่าวได้ให้ข้อมูลไว้ว่า… จากผลตรวจวัดจริงจากแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ในเมียนมา เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2566 ตรงกับที่ระบบตรวจวัดได้ โดยความรุนแรงจัดอยู่ระดับ 5 มีค่าสั่นสะเทือนอยู่ที่ 100 gal ซึ่งเป็นการสั่นสะเทือนที่รับรู้ได้รุนแรง แต่ไม่กระทบต่อโครงสร้างอาคาร โดยหลังพิสูจน์แล้วว่าอุปกรณ์นี้ทำงานได้จริง ก็ ได้รับความสนใจจากเครือข่ายนานาชาติ ที่ติดต่อขอนำไปใช้งาน อาทิ สหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ซึ่งขณะนี้เครื่องนี้อยู่ระหว่างยื่นจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ก่อนจะเสนอตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ

ส่วนก้าวต่อไปนั้น รศ.ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ และทีมวิจัย เตรียมขยายผลติดตั้งในโรงพยาบาลหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวง รวมถึงติดตั้งเพิ่มที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เพิ่มประสิทธิภาพการตรวจวัด ให้เตรียมพร้อมรับเหตุหลังการสั่นสะเทือนของเปลือกโลกได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ป่วย ผู้ที่อยู่ในโรงพยาบาล โดยในอนาคตอาจต่อยอดสู่สถานที่อื่น ๆ ต่อไป เพราะ ยิ่งทราบข้อมูลได้ไวเท่าไหร่ก็ยิ่งป้องกันเหตุร้ายได้ทันท่วงที ยิ่งขึ้น

นี่เป็นอีก “ผลงานฝีมือไทย” ที่น่าภูมิใจ
“เครื่องวัดแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว”
“ช่วยสู้ภัยแผ่นดินไหว” ที่ไทยก็เสี่ยง!!.