เรื่องนี้หลังจากมีการโพสต์และแชร์ออกไปก็เกิดกระแสอื้ออึง จน กลายเป็นประเด็นถกเถียงบนโลกออนไลน์ ที่ถึงขั้นมีการนำข้อมูลหลักฐานต่าง ๆ ออกมาแชร์และแบ่งปันกันในโลกออนไลน์ เพื่อจะคลี่คลายปม-หาวิสัชนาของ “ดราม่าอาหาร” ครั้งนี้ ซึ่งก็ว่ากันไป… อย่างไรก็ตาม กับเรื่องของ “อาหาร” นี่ถ้าโฟกัสกันเรื่อง ’รสชาติอาหาร“ กรณีนี้ในแง่ ’มานุษยวิทยา-สังคมวิทยา“ ก็มี ’มุมวิเคราะห์“ ที่น่าสนใจ…
’รสชาติอาหาร“ นั้น ’มีแง่มุมน่าพินิจ“
กรณี ’ภาพตัวแทน-ฉากชีวิต“ ผู้คน??
เกี่ยวกับการวิเคราะห์ที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูล… เป็นข้อมูลจากบทความ ’จากสุนทรียะทางการกินสู่การสร้างภาพแทนวัฒนธรรมผ่านรสอาหารคนพลัดถิ่น“ โดย ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์ นักวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ที่เผยแพร่อยู่ใน www.sac.or.th ซึ่งอธิบายการจัดทำไว้ว่า… เกิดจากสงสัย “วัฒนธรรมการกินอาหาร” หลังจากพบว่า ประชากรบางกลุ่มมักจะเน้นปรุงรสชาติอาหารให้จัดจ้าน โดยสิ่งที่ต้องการจะค้นหาก็คือ…ลักษณะและพฤติกรรมการปรุงรสชาติในอาหารเช่นนี้มีที่มาจากสาเหตุใด? หลังพบว่า ร้านอาหารในกรุงเทพฯ หรือในเมืองต่าง ๆ ตามต่างจังหวัด นั้น…
ปรุงรสชาติจัดจ้านมากขึ้นกว่าในอดีต
ผู้จัดทำบทความนี้ระบุไว้ว่า… พยายามสำรวจภูมิทัศน์รสชาติอาหารนอกบ้านของสังคมไทย และที่มาที่ไปวัฒนธรรมการบริโภคอาหารรสจัด โดยพบว่า… วัฒนธรรมการทำงาน การใช้ชีวิตในสังคมเมือง สภาพแวดล้อม และวิถีชีวิตคนยุคใหม่ที่นิยมบริโภคอาหารนอกบ้าน มีปัจจัยจาก ข้อจำกัดด้านสถานที่และเวลา ในปัจจุบัน จน เกิดการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการรับประทานอาหารนอกบ้าน แบบหลีกเลี่ยงไม่ได้และยังมีปัจจัย การเคลื่อนย้ายอพยพของแรงงาน ที่ส่งผลทำให้…
มีการนำรสชาติอาหารติดตามไปด้วย
จนทำให้ ’บางพื้นเกิดรสชาติเฉพาะ“
และนอกจากนั้นยังพบว่าความนิยมในการ ปรุงรสจัดเพื่อกลบรสจืดของคนบางกลุ่มในพื้นที่เขตเมือง ได้ส่งผลทำให้ “เกิดกระบวนการลดทอนย่อส่วน” ของ “วัฒนธรรมการปรุงรสชาติ” ที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิตในสังคมเมืองไทยสมัยใหม่ โดยทำให้ เกิดพัฒนาการของร้านอาหารที่มีการอนุญาตให้ผู้บริโภคมีสิทธิกำหนดรสชาติได้ตามต้องการ
ที่เปิดโอกาสให้รสชาติจัดจ้านยิ่งขึ้น
ในบทความโดยนักวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ได้ระบุไว้ถึง “กระแสนิยมปรุงรสจัดในอาหาร” ที่เกิดขึ้น โดยอ้างอิงหนังสือ ’เศรษฐศาสตร์ความจน (Poor economics)“ ซึ่งหนังสือเล่มนี้มีการระบุไว้ว่า… พฤติกรรมการบริโภคในมุมมองแบบเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมนั้น เน้นย้ำถึง “ความสำคัญของความอร่อย” มากกว่าเน้นคุณค่าสารอาหาร โดยพบว่าประชากรที่มีระดับเศรษฐกิจยากจนเลือกจะใช้เงินซื้ออาหารที่มีรสชาติอร่อยมากกว่าจะนำไปเพิ่มปริมาณอาหาร ฉายภาพว่า “รสชาติอาหารที่อร่อย” ได้กลายเป็น “เครื่องมือสำคัญในการดำรงชีวิตประจำวัน” ของคนกลุ่มนี้ โดย ’อาหารรสจัดจ้าน“ นั้น…
ช่วยเบี่ยงเบนความเครียด-เหนื่อยล้า
ทำให้มีสุขในการใช้ชีวิตประจำวันได้
“รสชาติอาหารที่จัดจ้าน กลายเป็นอีกเครื่องมือที่คนเมืองกลุ่มนี้ใช้เพื่อช่วยทำให้ชีวิตของพวกเขามีความสุขมากขึ้น รวมถึงใช้เพื่อเบี่ยงเบนความเครียด ความน่าเบื่อ และเหนื่อยหน่ายในชีวิตประจำวัน เพราะความสนุกสนานและรื่นเริงในเมือง เช่น โรงหนัง เว็บสตรีมมิ่ง ห้างสรรพสินค้า คอนเสิร์ตนั้น ล้วนแต่พ่วงมาด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อเข้าถึง… การที่ได้บริโภคอาหารที่รสชาติจัดจ้านจึงเป็นความบันเทิงที่คนกลุ่มนี้เข้าถึงได้ง่ายกว่า และมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่า” …นี่เป็น ’ภาพชีวิตคนจนเมือง“ ที่เลือก…
’หาความสุขผ่านอาหารรสจัดจ้าน“
นอกจากนี้ “รสชาติอาหารจัดจ้าน” ยังกลายเป็น “ภาพตัวแทนความเป็นคนบ้านเดียวกัน” โดยจะสังเกตเห็นว่า… “ร้านอาหารท้องถิ่น” บางแห่งพยายาม “สร้างความรู้สึกเชื่อมโยง” กับความดั้งเดิมของคนบางกลุ่มบางพื้นที่ไว้ด้วยกัน ผ่านรายละเอียดต่าง ๆ เช่น ชื่อร้าน สถาปัตยกรรม สินค้า รวมถึง “รสชาติของอาหาร” เพื่อนำเสนอความแตกต่างจากร้านอาหารทั่ว ๆ ไป อีกทั้งยังเป็น พื้นที่แสดงอัตลักษณ์ความเป็นคนท้องถิ่นเดียวกัน เช่น ร้านอาหารอีสาน ร้านอาหารปักษ์ใต้ เพื่อเชื่อมโยงความเป็นคนที่มีพื้นเพและรากเหง้าทางวัฒนธรรมจากที่เดียวกันหรือคล้ายกัน…ผ่านทาง ’รสจัดจ้านของอาหาร“
ทั้งนี้ ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์ ระบุไว้ด้วยว่า… ’อาหารท้องถิ่นในเมือง-อาหารท้องถิ่นต้นฉบับ“ นั้น ’แตกต่างกันชัดเจน
ด้านรสชาติ“ โดยสิ่งที่พบคืออาหารต้นฉบับไม่ได้มีรสจัดจ้านเหมือนอาหารท้องถิ่นในเมือง จึงเป็นไปได้ว่า…สาเหตุที่ทำให้อาหารท้องถิ่นในเมืองมีรสจัดจ้านมากขึ้นนั้นอาจเกิดจาก ’คนพลัดถิ่นที่เข้าอยู่ในเมืองพัฒนารสชาติใหม่“ ขึ้นมา…
เป็น ’เบื้องลึกรสอาหาร“ ที่ ’ชวนคิด“
ทำให้ ’เมนูท้องถิ่น“ มี ’รสจัดยิ่งขึ้น“
เบื้องลึก ’คือการปลอบโยนชีวิต??“.