“ตก” ซ้ำ ๆ บ่อย ๆ จนทำให้ผู้โดยสาร “เครื่องบิน“ หลายคนรู้สึกกังวลใจ…กับ “ภัยการเดินทางบนฟ้า–อุบัติเหตุทางอากาศ“ที่ไม่ใช่กรณีเครื่องบินตก…แต่คือกรณี “ตกหลุมอากาศ!!“…เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีเหตุเกิดขึ้นอีกครั้งที่ทวีปอเมริกาใต้ โดยเครื่องบินสายการบินหนึ่งที่บินจากสเปน มีปลายทางไปยังอุรุกวัย ประสบเหตุ “ตกหลุมอากาศ” จนต้องลงจอดฉุกเฉินที่บราซิล เดชะบุญที่เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่มีผู้เสียชีวิต มีแค่ผู้บาดเจ็บ ไม่เหมือนเหตุการณ์ที่เกิดในช่วงเดือน พ.ค. 2567 เหตุการณ์เครื่องบินของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ประสบเหตุ “ตกหลุมอากาศรุนแรง” และต้องขอลงจอดฉุกเฉินที่ประเทศไทย…
“เครื่องบินตกหลุมอากาศ“ นี่ก็ “ภัย“
หลายคน “ผวากับการขึ้นเครื่องบิน“
ที่ยุคนี้ “ตกหลุมอากาศยิ่งเกิดบ่อย!!“
ทั้งนี้ ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ชวนย้อนดูข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจ “หลุมอากาศ-สาเหตุการเกิดหลุมอากาศ” อีกครั้ง… ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ทาง “เดลินิวส์ออนไลน์” ก็ได้เคยมีการสะท้อนข้อมูลไว้ผ่านทาง “เว็บไซต์เดลินิวส์” บางช่วงบางตอนระบุไว้ว่า… “หลุมอากาศ“ นั้นคือ“การเคลื่อนที่ของอากาศที่ผิดปกติ“โดยสามารถที่จะก่อให้เกิดการสั่นสะเทือนของเครื่องบินได้ ซึ่งผลจากการ “ตกหลุมอากาศ” นั้นก็ มีหลายระดับความรุนแรง ตั้งแต่เบา ๆ จนถึงขั้นรุนแรงมาก ๆ
แล้ว “หลุมอากาศ-เครื่องบินตกหลุมอากาศ” นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร?? ก็มีข้อมูลคำอธิบายไว้ว่า… มีหลายปัจจัย หรือหลัก ๆ ก็ 3 ปัจจัย ที่สามารถทำให้เกิดขึ้น กล่าวคือ… เครื่องบินตกหลุมอากาศ จะเกิดขึ้นเมื่อเครื่องบิน “บินเข้าไปใกล้รอยต่อของสภาพอากาศ“ ระหว่างบริเวณที่สภาพอากาศปกติกับขอบนอกของ “กระแสลมกรด (Jet Stream)“ ซึ่งไม่สามารถทราบล่วงหน้าได้ ส่วนคำอธิบาย “กระแสลมกรด” ก็คือ… แถบกระแสลมแรง ที่เคลื่อนที่ในเขตโทรโพพอส ที่เป็นแนวแบ่งเขตระหว่างชั้นโทรโพสเฟียร์กับสตราโตสเฟียร์โดยพัดจากด้านตะวันตกไปตะวันออกตามแนวการหมุนของโลก จากละติจูดสูงไปละติจูดต่ำ หรือจากละติจูดต่ำไปละติจูดสูง ซึ่ง ปรากฏการณ์ที่มักเกิดร่วมกับกระแสลมกรด ถูกเรียกว่า…
บริเวณความปั่นป่วนในอากาศแจ่มใส
หรือ Clear air turbulence หรือ “CAT“
“หลุมอากาศ” นั้นยังสามารถ เกิดขึ้นเมื่อมีลมพัดปะทะภูเขา ทำให้อากาศอีกด้านปั่นป่วน และเกิดเป็นหลุมอากาศขึ้น ซึ่งสาเหตุข้อนี้สามารถคาดการณ์ได้ และโดยส่วนใหญ่ถ้าเครื่องบินหลีกเลี่ยงไม่ได้ทางนักบินก็จะเตือนให้ผู้โดยสารรับทราบสถานการณ์ในขณะที่กำลังจะบินผ่าน และอีกสาเหตุการเกิด “หลุมอากาศ” คือ เกิดจากพายุฝนฟ้าคะนอง ซึ่งข้อนี้ก็เป็นสิ่งที่นักบินสามารถตรวจพบได้ ดังนั้น เมื่อประสบกับสภาพอากาศเช่นนี้ทางนักบินก็จะหลีกเลี่ยงไม่บินเข้าไปใกล้ได้…
“เกิดหลุมอากาศ“ นั้นมีหลายปัจจัย…
“ที่ยิ่งน่ากลัว“ คือ “แบบไม่รู้ล่วงหน้า!!“
ขณะที่ประเด็น “ระดับความรุนแรงของหลุมอากาศ” ก็มีข้อมูลระบุไว้ว่า แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่… หลุมอากาศระดับเบา (Light Turbulence) เมื่อเครื่องบินประสบเหตุ หากมีการเสิร์ฟอาหารในระหว่างนี้ นักบินกับลูกเรือจะมีการสื่อสารกัน ซึ่งถ้าเริ่มพบความรุนแรงมากขึ้นนักบินจะเปิดสัญญาณให้ทุกคนคาดเข็มขัดนิรภัย (Seat belt sign on) เพื่อความปลอดภัย, หลุมอากาศระดับกลาง (Moderate Turbulence) เมื่อเข้าสู่หลุมอากาศที่รุนแรงระดับนี้ เครื่องบินจะสั่นแรงเพิ่มขึ้น ซึ่งถ้าหากไม่คาดเข็มขัด หรือเดินอยู่บริเวณทางเดิน ก็อาจจะสั่นจนตัวลอยขึ้นได้ จึงควรหาที่นั่งใกล้เคียง และคาดเข็มขัดให้เร็วที่สุด
อีกระดับคือ หลุมอากาศระดับรุนแรง (Severe Turbulence) ซึ่งเมื่อเจอหลุมอากาศความรุนแรงระดับนี้…ยิ่งต้องรีบคาดเข็มขัดโดยเร็วเพราะความรุนแรงอาจทำให้ข้าวของหล่นกระจัดกระจาย อาจ ก่อให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรงได้!!…
ไม่เท่านั้น!!… นอกจาก “หลุมอากาศ” ทั้ง 3 ระดับที่ว่ามา ที่แม้บางปัจจัยการเกิดจะไม่อาจทราบล่วงหน้าได้แต่นักบินจะเห็นได้จากเรดาร์… ก็ยัง มีหลุมอากาศประเภทหนึ่งที่ “เรดาร์ตรวจจับไม่ได้” คือ “Clear Air Turbulence“ ซึ่ง เกิดจากกระแสลมแรงและเปลี่ยนทิศกะทันหัน หลุมอากาศประเภทนี้จะ รุนแรงมากกว่าหลุมอากาศระดับ Severe Turbulence เสียอีก!!ดังนั้น เพื่อป้องกันอันตราย เมื่ออยู่บนเครื่องบินก็ควรพยายามนั่งประจำที่และคาดเข็มขัดนิรภัยไว้ตลอด
ทั้งนี้ กับกรณี “ตกหลุมอากาศ” นั้น จากที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ประมวลดูจากข้อมูล “คำแนะนำวิธีปฏิบัติตัว“ของสายการบินต่าง ๆ หลัก ๆ ก็คือ… รักษาสติ–สงบ ไม่ตื่นตระหนก พยายามควบคุมความกลัว-ความเครียด, รวบตัวให้แน่น ด้วยการกอดตัวเองให้แน่น เพื่อลดแรงกระแทกจากความรุนแรงของการตกหลุมอากาศ, ป้องกันศีรษะใช้มือปกป้องศีรษะจากการกระแทก และถ้ามีหมอนก็ให้ใช้รองตัว, ปฏิบัติตามคำแนะนำของลูกเรือ ให้ความร่วมมือและทำตามคำสั่งโดยเร็ว, ควบคุมการหายใจหายใจช้า ๆ ลึก ๆ เพื่อลดความตื่นเต้น-ความกังวล และรวมถึงเตรียมตัวให้พร้อมกับการอพยพ หากได้รับสัญญาณจากลูกเรือ …เหล่านี้คือคำแนะนำกรณี “ตกหลุมอากาศ” เมื่อ “โดยสารเครื่องบิน“ ที่ยุคนี้ก็ “ไม่ใช่เรื่องไกลตัวคนไทย“
แจกแจง “เตือนย้ำ“ ไว้ ณ ที่นี้อีกครั้ง
เครื่องบิน “ตกหลุมอากาศ“ อันตราย
ไม่เหมือนตกหลุมรัก “ถึงตายได้!!!“.