“เดลินิวส์” ได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ โรเบิร์ต โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ในการเป็นสื่อกลางถ่ายทอดเรื่องราวของสหรัฐอเมริกา และความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับไทย ดังนี้…

วันที่ 4 กรกฎาคม เมื่อ 248 ปีก่อน สภาภาคพื้นทวีปแห่งสหรัฐอเมริกาลงมติรับคำประกาศอิสรภาพ ซึ่งเป็นการกระทำที่กล้าหาญอันนำไปสู่การปฏิวัติผู้ลงนามในคำประกาศอิสรภาพทั้ง 56 มาจากหลากหลายกลุ่ม ตั้งแต่ เอ็ดเวิร์ด รัตเลดจ์ นักกฎหมายที่มีอายุเพียง 26 ปี จากรัฐเซาท์แคโรไลนา ไปจนถึง เบนจามิน แฟรงคลิน นักประดิษฐ์และนักการทูตอายุ 70 ปี จากรัฐเพนซิลเวเนีย แม้จะมีภูมิหลังต่างกัน แต่พวกเขามีความเชื่อมั่นที่เหมือนกัน คือ ความเชื่อมั่นในเสรีภาพความเชื่อมั่นที่ว่าเราทุกคนล้วนมีสิทธิที่จะเลือกการปกครองของเราเอง สิทธิที่จะแสดงออกได้อย่างเสรี และสิทธิที่จะกำหนดเส้นทางชีวิตของตนเอง

นายโรเบิร์ต โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา

สหรัฐอเมริกาในตอนนี้และตลอดเวลาที่ผ่านมา มิได้สมบูรณ์แบบ ชาวอเมริกันในทุกยุคทุกสมัยต้องต่อสู้กับความอยุติธรรมและความไม่เท่าเทียมบนเส้นทางแห่งความท้าทายที่จะนำไปสู่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น คำประกาศอิสรภาพสหรัฐอเมริกายิ่งใหญ่ ก็มิใช่เพราะสมบูรณ์แบบ แต่เพราะได้ประกาศค่านิยมและความหวังของเราไว้อย่างทรงพลัง คำประกาศอิสรภาพนี้จุดประกายให้แก่คนรุ่นต่อ ๆ มา ไม่เพียงแต่ชาวอเมริกันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้คนจากทั่วโลกคำประกาศอิสรภาพสหรัฐอเมริกา คือเสียงประกาศก้องแห่งการเรียกร้องประชาธิปไตยเสรีภาพ และสิทธิมนุษยชน

ในวันที่ 4 กรกฎาคมนี้ เรายังเฉลิมฉลองพันธไมตรีกับไทย ซึ่งเป็นมิตรแรกของเราในทวีปเอเชีย เราขอแสดงความยินดีกับรัฐบาลไทยในความสำเร็จมากมาย นับตั้งแต่ที่เข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งรวมถึงการผ่านร่างพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียมโดยวุฒิสภาเมื่อเร็ว ๆ นี้

ทิวทัศน์ของเมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา

ในปีนี้ เรายังได้จัดนิทรรศการศิลปะจัดวางในพื้นที่สาธารณะ “Weaving Our Stories : สานสัมพันธ์การทูตสหรัฐฯ-ไทย 190 ปี” เพื่อส่งท้ายปีแห่งการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูต 190 ปี นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดนิทรรศการ ซึ่งแสดงชิ้นงานสุดตระการตา ที่ยกย่องชุมชนและธรรมเนียมการทอผ้าของสหรัฐอเมริกา และไทย อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของความเข้มเข็งและความหลากหลายของเส้นด้ายแห่งสายสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศ

ตั้งแต่มาถึงกรุงเทพฯ ผมได้เดินทางไปหลายจังหวัด และทำความรู้จักกับชาวไทยจากหลากหลายสาขาอาชีพ ผมและทีมเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาเดินทางไปทั่วประเทศเพื่อรับฟังเรื่องราว ความหวัง และความฝันของชาวไทย เราตั้งใจที่จะถักทอผืนผ้าแห่งมิตรไมตรีระหว่างสหรัฐอเมริกากับไทยสืบต่อไป ผมขออธิบายสั้น ๆ ถึงความสัมพันธ์กว่า 190 ปีที่แน่นแฟ้นนี้…

อีก 1 ปีแห่งความสำเร็จ

ด้านเศรษฐกิจ… สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกขนาดใหญ่ที่สุดของไทย การค้า 2 ทางของเรามีมูลค่าเกือบ 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ราว 2.94 ล้านล้านบาท) นอกจากนี้สหรัฐอเมริกายังเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในไทย โดยมีบริษัทอเมริกันดำเนินกิจการในหลากหลายภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ บริการสุขภาพ หรือเทคโนโลยีขั้นสูง บริษัทเหล่านี้ทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 200,000 ตำแหน่งในไทย ขณะเดียวกัน บริษัทไทยก็ลงทุนในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับสร้างงานหลายหมื่นตำแหน่งในสหรัฐอเมริกา ไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกแรกเริ่มของ กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก หรือ IPEF ซึ่งเป็นความร่วมมือที่เสริมสร้างความมั่งคั่งร่วมกัน

นางจีนา เรมอนโด รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐอเมริกา
เข้าพบนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของไทย

ด้านความมั่นคง… เป็นอีกด้านหนึ่งที่ทั้ง 2 ประเทศมีสายสัมพันธ์อันเหนียวแน่น สหรัฐอเมริกาและไทยมีความร่วมมือทางทหารที่แน่นแฟ้น เห็นได้จากการพบปะและการฝึกร่วมกันมากกว่า 400 ครั้งต่อปี รวมถึงการฝึกคอบร้าโกลด์ที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการเตรียมพร้อมช่วยเหลือประชาชนของเราเมื่อเกิดเหตุวิกฤติ ในปีนี้กองทัพเรือไทยและกองทัพเรือสหรัฐอเมริกายังได้เข้าร่วมในปฏิบัติการกู้เรือหลวงสุโขทัย นอกจากนี้ เรายังขยายความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อช่วยให้ทุกคนปลอดภัยยิ่งขึ้น

ใน ด้านสาธารณสุข… สหรัฐอเมริกาและไทยทำงานร่วมกันมานานกว่า 60 ปี เพื่อต่อสู้กับการระบาดของโรคติดเชื้อเมื่อเดือนพฤษภาคมผมได้ไปเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการของ AFRIMS ที่จังหวัดกำแพงเพชร และเห็นการทำงานที่น่าชื่นชมยิ่งของเจ้าหน้าที่ที่นั่น โดยเฉพาะในงานวิจัยโรคไข้เลือดออก ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเราร่วมมือกันพัฒนาวัคซีนและยารักษาโรคจนสามารถช่วยเหลือผู้คนหลายร้อยล้านชีวิตทั่วโลก

ความร่วมมือ ด้านวิทยาศาสตร์… เป็นอีกหนึ่งเส้นด้ายของผืนผ้าแห่งมิตรไมตรีสหรัฐอเมริกา-ไทย ในปีที่ผ่านมาเราทำงานร่วมกับชุมชนต่าง ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพอากาศ ต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปกป้องแม่นํ้าโขงที่ยิ่งใหญ่ นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันและไทยร่วมมือกันเพื่อเข้าใจโลกรอบตัวเรามากขึ้น เพื่อพัฒนาชีวิตของทุกคน

พิธีเปิดการซ้อมรบ “คอบร้าโกลด์ 2024”

ด้านการศึกษา… อีกด้านที่สำคัญยิ่ง ผมยินดีที่ปีนี้เราได้เปิดตัวโครงการ International Academic Partnership Program หรือ IAPP ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โครงการ IAPP เชื่อมโยงสถาบันอุดมศึกษาไทยกับสหรัฐอเมริกา 50 แห่งเข้าด้วยกัน โดยมีเป้าหมายเพิ่มจำนวนการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลากรทางการศึกษา การทำวิจัยร่วม และความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างสหรัฐกับไทย เราจะทำให้การศึกษาในสหรัฐอเมริกา น่าสนใจมากขึ้นด้วยรูปแบบใหม่ ๆ ในการชำระค่าเล่าเรียน การเทียบโอนหน่วยกิต ความร่วมมือด้านหลักสูตร ตลอดจนการเข้าถึงที่พักอาศัยราคาย่อมเยา

นอกจากนี้เรายังเสริมสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคีด้วยการสนับสนุนการอนุรักษ์โบราณสถานผ่าน โครงการกองทุนเอกอัครราชทูตเพื่อการอนุรักษ์ทางวัฒนธรรม (AFCP) เพื่อดูแลรักษาแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญ ๆ เช่น วัดไชยวัฒนาราม วัดเก่าแก่สมัยศตวรรษที่ 17 ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นมรดกโลกของยูเนสโก นิตยสาร National Geographic ฉบับภาษาไทยประจำเดือนกุมภาพันธ์ ได้นำเสนอเรื่องราวการดำเนินงานเพื่ออนุรักษ์วัดไชยวัฒนารามของโครงการ AFCP นี้

บรรยายโครงการ IAPP ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การต่อสู้กับกลุ่มลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายก็เป็นเรื่องสำคัญต่ออนาคต เรากำลังจะจัดแคมเปญที่น่าสนใจในเดือนนี้เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประเด็นปัญหาดังกล่าวและจุดประกายให้ทุกคนหันมาช่วยกันอนุรักษ์สัตว์ป่า เพราะไทยมีอุทยานแห่งชาติและความหลากหลายทางชีวภาพที่น่าอัศจรรย์ เรามุ่งมั่นที่จะช่วยปกป้องผืนป่า พันธุ์พืช และสัตว์เหล่านี้ไว้

ช่วงปีที่ผ่านมาการพบปะหารือระหว่างรัฐบาลของเรา 2 ประเทศเปี่ยมด้วยพลวัต นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เดินทางไปยังนิวยอร์กและซานฟรานซิสโกโดยในการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคที่สหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพที่ซานฟรานซิสโก ประธานาธิบดี โจ ไบเดน มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนายกฯ เศรษฐา และผู้นำคนอื่น ๆ

นอกจากนี้ นางจีนา เรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา นำคณะสภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐ เยือนไทยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และหารือกับท่านนายกฯ ตลอดจนผู้นำธุรกิจต่าง ๆ โดยบรรลุผลสำเร็จ นายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ เยือนไทยเมื่อเดือนมกราคมเพื่อการประชุมหารือที่ยังผลสัมฤทธิ์ สหรัฐอเมริกาและไทยกระชับความสัมพันธ์
ระหว่างกัน ผ่านการหารือทางการทูตเหล่านี้และในโอกาสอื่น ๆ อีกมากมาย

สร้างอนาคตสดใสไปด้วยกัน

ดังที่ท่านเห็นแล้วว่า วันนี้สหรัฐอเมริกาและไทยกำลังถักทอผืนผ้าแห่งมิตรไมตรีอันงดงามไปด้วยกัน เมื่อร่วมมือกัน เราก็บรรลุผลสำเร็จมากมาย แต่ยังมีอีกมากที่เราร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้นได้ เพียงแค่เรากล้าลงมือทำ ความท้าทายในศตวรรษที่ 21 เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาสุขภาพโลก และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจและนวัตกรรมใหม่ ๆ แล้วเราควรทำอะไรอีกบ้าง เราต้องร่วมกันเพิ่มการค้าการลงทุนขยายความร่วมมือด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์ การดำเนินงานร่วมกันในโลกดิจิทัลและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ตลอดจนสานต่อความร่วมมือด้านพลังงานสะอาดและต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราควรเตรียมความพร้อมสำหรับปัญญาประดิษฐ์ที่กำลังมีบทบาทเพิ่มขึ้น

ปลูกต้นไม้ ที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก บางปู

สุดท้ายนี้ ในฐานะมิตรที่ยาวนานไทยและสหรัฐอเมริกาควรทำงานร่วมกันเพื่อรักษากลไกระหว่างประเทศ กติกาสากล และบรรทัดฐานระหว่างประเทศ ที่ทำให้เราพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งตลอด 70 ปีที่ผ่านมา

ในช่วงเวลาแห่งความท้าทาย และโอกาสเหล่านี้ ไทยและสหรัฐอเมริกาต้องทำงานร่วมกัน หากจินตนาการของเราไม่มีที่สิ้นสุด ความสำเร็จที่เป็นผลจากความร่วมมือของเราในฐานะมิตรก็เช่นกัน ในวันที่ 4 กรกฎาคมนี้ ขอให้เราทั้ง 2 ชาติแสดงความมุ่งมั่นที่จะยกระดับความเป็นหุ้นส่วนของเรา และทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่เพื่อสร้างเสริมโลกที่สงบสุข มั่งคั่ง และเป็นประชาธิปไตยกว่าเดิม สำหรับผู้คนทั่วโลก.

ทีมวาไรตี้-ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป