ประเทศไทยยังไม่มีระบบแบบนี้ซึ่งระบบที่ใช้ที่นี่น่าสนใจมาก ๆ โดยเฉพาะในแง่การทำตลาดดอกไม้ของเขา เพราะทุกดอกมีบาร์โค้ดบอกข้อมูลที่มาที่ไปของดอกไม้ดอกนั้นได้ทั้งหมด และอีกจุดเด่นที่นี่คือกระบวนการทุกอย่างรวดเร็วมาก แถมแทบไม่มีการแตะดอกไม้เลย ตั้งแต่เอาเข้ามาจนถึงส่งถึงมือผู้ซื้อ“ …เป็นความประทับใจของ นัฐวุฒิ เนตรประไพ ผู้ประกอบการกล้วยไม้ตัดดอกส่งออก ฟาร์ม NPP Orchid พื้นที่ จ.นนทบุรี หนึ่งใน “เกษตรกรหัวขบวน” จากไทย ซึ่งได้ศึกษาดูงานที่เนเธอร์แลนด์โดยการหนุนของ “ธ.ก.ส.” ที่ระบุถึง “ระบบน่าทึ่ง” ของ “Flora Holland AalsMeer”

“ตลาดดอกไม้“ ใหญ่ที่สุด-เก่าแก่ที่สุด
ที่ ส่งออกดอกไม้สู่ 150 กว่าประเทศ“
คิดเป็น ’45% ของตลาดดอกไม้โลก!!“

ทั้งนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ธ.ก.ส. ได้จัดกิจกรรมพากลุ่ม เกษตรกรหัวขบวน จากประเทศไทย จำนวน 10 ชีวิต ไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับระบบบริหารจัดการสินค้าเกษตร ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยหนึ่งในไฮไลต์น่าสนใจสำหรับ “เกษตรกรผู้ปลูกดอกไม้” ของไทย คือ… การได้เยี่ยมชมระบบบริหารจัดการของ“ตลาดประมูลซื้อขายดอกไม้ที่เก่าแก่และมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก“ ที่ชื่อว่า Flora Holland Aalsmeer ที่อยู่ห่างจากกรุงอัมสเตอร์ดัมไปราว 20 กิโลเมตร ซึ่งดำเนินงานในรูปแบบคล้าย ๆ กับสหกรณ์บ้านเรา ที่เป็น ตลาดกลางดอกไม้ที่ก่อตั้งขึ้นราวปี ค.ศ.1911-1912 ซึ่งมาถึงวันนี้ก็มีอายุ 112-113 ปีแล้ว

นอกจากจะเป็น “ตลาดดอกไม้เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก” แล้ว กับตลาดซื้อขายและประมูลดอกไม้แห่งนี้ ว่ากันว่า… มีขนาดพื้นที่ใหญ่ที่สุดอีกแห่งของโลก โดยมีพื้นที่รวมทั้งหมดกว่า 170 เฮกตาร์ หรือประมาณ 1.7 ล้านตารางเมตร!!! รวมถึงมีอาคารประมูลดอกไม้และโกดังสินค้ามากกว่า 100 อาคาร ที่ในแต่ละปีดอกไม้ที่ตลาดนี้มีมูลค่าการซื้อขายรวมกันกว่า 4.5 พันล้านยูโร!!!…ทำให้ตลาดดอกไม้แห่งนี้เป็น “ศูนย์กลางการซื้อขายดอกไม้สดและพืชตกแต่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก“ หรือจะเรียกที่นี่เป็น “ฮับดอกไม้โลก“ ก็คงจะไม่เกินความจริง …นี่เป็นข้อมูลโดยสังเขป “ตลาดดอกไม้ที่เนเธอร์แลนด์” แห่งนี้

ที่ “วิธีคิด-ระบบบริหารจัดการ…น่าทึ่ง“
และ “ทั่วโลกมักใช้ที่นี่เป็นกรณีศึกษา“

กับมุมมองต่อ “ตลาดกลางดอกไม้ที่ใหญ่และเก่าแก่ของโลก” แห่งนี้ ของทาง นัฐวุฒิ ผู้ประกอบการธุรกิจกล้วยไม้ส่งออกจากไทย เจ้าตัวได้สะท้อนเรื่องนี้ให้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ฟังว่า… เคยได้ยินชื่อเสียงตลาดกลางดอกไม้แห่งนี้มานานมากแล้ว พอได้มาสัมผัสด้วยตาจริง ๆ ยอมรับว่า…รู้สึกทึ่งในระบบบริหารจัดการของตลาดแห่งนี้ ซึ่งตลอดการซื้อขายและประมูล รวมถึงการขนส่งที่เกิดขึ้นในชั่วโมงเร่งด่วนนั้น สังเกตเห็นว่า…แทบจะไม่มีการแตะต้องดอกไม้เลย ซึ่งนี่ดูเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่จริง ๆ สำคัญต่อสินค้ามาก เพราะดอกไม้เป็นสินค้าที่มีความบอบบางสูง การที่ดอกไม้ผ่านมือน้อย จึงคงสภาพความสดได้ดี

นี่เป็น หัวใจสำคัญของสินค้าดอกไม้“
รวมถึง “สินค้าเกษตรสดชนิดอื่นด้วย“

นัฐวุฒิ เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้ ยังชี้ให้เห็น “ระบบที่น่าทึ่ง” อีกหนึ่งอย่างของตลาดแห่งนี้ นั่นคือ ระบบโลจิสติกส์-ระบบขนส่งที่รวดเร็ว โดยเมื่อประมูลเสร็จปุ๊บ ก็สามารถจัดส่งได้ทันที ซึ่งเท่าที่ทราบข้อมูลจะใช้เวลาไม่เกิน 5 ชั่วโมงก็จัดส่งถึงมือผู้ประมูลแล้ว และถ้าถามว่า…ไทยสามารถนำระบบแบบนี้มาใช้บ้างได้หรือไม่? ส่วนตัวคิดว่า…ถ้าทำได้ก็ดีแน่นอน แต่ก็ต้องยอมรับว่า…มูลค่าตลาดดอกไม้ของไทยเรายังไม่สามารถอัปมูลค่าได้เท่ากับที่นี่ ดังนั้น การจะลงทุนในเรื่องนี้ก็คงต้องคิดหนัก อย่างไรก็ตาม แต่ “สิ่งที่ไทยเรียนรู้ได้” หรือ “นำมาใช้ได้เลย” ก็ยังมีอยู่ นั่นก็คือ “การสร้างมายด์เซตธุรกิจ“

“ในแง่การลงทุนคงสู้ไม่ได้ เพราะมูลค่าดอกไม้ของเรายังไปไม่เท่าเขา แต่ที่นำกลับมาใช้ได้เลยคือ มายด์เซตของเกษตรกรเนเธอร์แลนด์ ที่นำมาปรับใช้ได้ไม่เฉพาะแค่ธุรกิจดอกไม้ หรือสินค้าเกษตร แต่ใช้ได้กับทุกธุรกิจ โดยสิ่งที่ไทยต้องอัปเกรด อัปสกิลให้ได้ คือต้องขายให้เป็นเหมือนเนเธอร์แลนด์“ …เกษตรกรหัวขบวนคนเดิมระบุ

พร้อมขยายความเรื่องนี้กับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” เพิ่มเติมว่า… สิ่งที่ไทยกับเนเธอร์แลนด์ต่างกัน คือ ไทยผลิตเป็น แต่ขายไม่เก่ง และ ไทยเรายังไม่มีแพลตฟอร์มรวมกันที่แข็งแกร่ง ไม่เหมือนเนเธอร์แลนด์ ซึ่งที่นี่เขามีทั้งรัฐ มีทั้งเอกชนเข้ามาช่วย ยิ่งตัวเกษตรกรเขามีมายด์เซตชัดเจนก็ยิ่งส่งเสริมกัน จนกลายเป็น “ระบบเกษตรที่แข็งแกร่ง” โดยการที่ได้ดูงานที่เนเธอร์แลนด์ครั้งนี้ อีก
เรื่องหนึ่งที่ทำให้รู้สึกว้าวคือ ทำไมผลผลิตเกษตรของเขาขายได้ราคาดีที่สุดในโลก? หรือ ทำยังไงเขาถึงทำให้สินค้าเกษตรที่ผลิตกลายเป็นของพรีเมียมที่คนทั่วโลกต้องการได้? โดย นัฐวุฒิ ย้ำทิ้งท้ายเรื่องนี้ไว้ว่า…

“เนเธอร์แลนด์เขาพัฒนาตัวเองจนเป็นเบอร์ 1 โลกจาก 3 สิ่ง คือ 1.สินค้าดี 2.ตลาดดี และ 3.มายด์เซตดี ซึ่งเราคงจะตามเขาไม่ทันแน่ ๆ แต่วันนี้เราต้องเริ่มทำบ้างแล้ว ไม่อย่างนั้นจากที่เราช้ากว่าเขา 100 ปี ก็จะยิ่งช้าไปเป็น 101 ปี 102 ปี ไปเรื่อย ๆ ซึ่งไม่ได้ วันนี้แม้เราจะยังไม่ดี แต่เราเริ่มได้ เพราะถ้าไม่เริ่มวันนี้ เราจะเริ่มตอนไหน?“

เป็น ’มุมมองเกษตรกรหัวขบวนไทย“
ที่ ธ.ก.ส. หนุนให้ ’ได้เห็นกรณีศึกษา“
ระดับโลก ’ที่ไทยน่าศึกษา-ปรับใช้“.