ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุการณ์น่าเศร้ากรณีดังกล่าว…กระแส “ปุจฉา” เกี่ยวกับมาตรการแก้ไข-ป้องกันการเกิดฝุ่นพิษ PM 2.5 อย่างยั่งยืน…ก็เซ็งแซ่ขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม นอกจากการโฟกัสที่การแก้ไข-ป้องกันการเกิดฝุ่นพิษ PM 2.5 โดยรัฐแล้ว วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็มีกรณี “แนวทางช่วยผู้ป่วย” และอีกแง่มุม “แก้ฝุ่นพิษยั่งยืน” มาสะท้อน…

แน่นอนแก้การเกิดฝุ่นพิษนั้นสำคัญ

แต่…ที่ยิ่งสำคัญคือ “ควรต้องยังไง??”

ทั้งนี้ ว่าด้วยเรื่อง “ผลกระทบทางสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5” เรื่องนี้ก็มีประเด็นและการวิเคราะห์น่าสนใจจากทาง ดร.นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท หัวหน้ากลุ่มวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักวิชาการสาธารณสุข หนึ่งในผู้ก่อตั้ง “เครือข่ายอากาศสะอาด” ผ่านบทความชื่อ “PM 2.5 ภัยคุกคามต่อความไม่ยั่งยืนด้านสุขภาพของคนไทย” ที่เผยแพร่ไว้ใน วารสาร SDG Highlights 2023 ของ ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งคุณหมอท่านนี้สะท้อนปัญหานี้ไว้ โดยสังเขปมีดังนี้…

ทาง ดร.นพ.วิรุฬ สะท้อนไว้ว่า… ในปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหามลพิษทางอากาศที่รุนแรงมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะปัญหา “ฝุ่น PM 2.5” ที่ก็เป็น “ภัยคุกคามสุขภาพประชาชน” ซึ่งหลัง ๆ ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องหาแนวทาง-มาตรการแก้ไขปัญหา และที่สำคัญเช่นกันคือ “ต้องหาแนวทางรักษาผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจาก PM 2.5” ด้วย

หากพิจารณาในเชิงความรู้สึกและการรับรู้ของสังคมไทยแล้ว… เวลานี้สังคมไทยได้เดินมาถึงจุดที่ไม่ต้องถกเถียงกันอีกต่อไปแล้วว่า…ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลต่อสุขภาพหรือไม่?? เพราะแม้จะเป็นคนที่ร่างกายแข็งแรงก็ยังรู้สึกได้ถึงผลกระทบ!! ตั้งแต่ลักษณะการหายใจ การคัดจมูก การแสบตา หรือการไม่สบายตัว เมื่ออยู่ในที่โล่งนาน ๆ ในขณะมีฝุ่น PM 2.5 อย่างไรก็ตาม สำหรับคำถามที่ลึกซึ้งอย่าง… “PM 2.5 ได้ส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร” กับการตอบคำถามนี้…ไม่เพียงจะช่วยขยายความเข้าใจ และช่วยวินิจฉัย หรือรักษาทางการแพทย์เท่านั้น หากแต่ยังเป็นหนทางรักษา “ผู้ป่วย” ที่ “ชื่อว่าประเทศไทย” อีกด้วย

ส่วนคำถามที่ว่า… “จะใช้อะไรเป็นเกณฑ์บ่งชี้ว่าป่วยด้วยฝุ่น PM 2.5” กับคำถามนี้ทาง ดร.นพ.วิรุฬ ได้ช่วยไขข้อข้องใจไว้ดังนี้คือ… ในภาคสาธารณสุข แนวทางหาสาเหตุส่วนใหญ่มักจะใช้ข้อมูลจากประวัติผู้ป่วย และข้อมูลของสถานการณ์ PM 2.5 ในบริเวณที่อยู่อาศัยคนไข้ ซึ่งหากเกิดผลกระทบทันที หรือระยะเฉียบพลัน เช่น มีปัญหาทางเดินหายใจ ผิวหนัง ดวงตา หรืออาการบางอย่างกำเริบขึ้น ก็อาจจะพอสันนิษฐานว่า…เป็นอาการที่มีผลมาจากฝุ่น PM 2.5 แต่อย่างไรก็ตาม การได้ข้อมูลที่ชัดเจนนั้นต้องใช้ข้อมูลทางระบาดวิทยามาประกอบ ทว่าขณะนี้… ประเทศไทยยังขาดการทำงานในส่วนนี้อยู่…

การมีข้อมูลระบาดวิทยาจะช่วยทำให้เราเห็นปัจจัยที่มีผลต่อปัญหาสุขภาพที่ชัดเจนขึ้น เช่น เชียงใหม่ มีนักวิชาการติดตามเก็บข้อมูลฝุ่น PM 2.5 นำมาวิเคราะห์ทุกปีต่อเนื่อง จนสามารถชี้ว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติจากปัญหาสุขภาพที่เพิ่มขึ้นพร้อมแนวโน้มฝุ่น PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน” …เป็นตัวอย่างที่ถูกหยิบยก

ที่มีกรณีศึกษาน่าสนใจที่ จ.เชียงใหม่

อีกพื้นที่ที่ผู้คนได้รับผลกระทบฝุ่นพิษ

“เรื่องนี้ได้นำสู่คำถามว่า… ถ้าหากเชียงใหม่ทำได้ แล้วทำไมที่อื่นถึงทำไม่ได้ โดยที่ทำไม่ได้นั้นเป็นเพราะขาดทรัพยากร หรือขาดปัจจัยอะไรที่ทำให้ทำไม่ได้ โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าปัญหาใหญ่ของเราคือ…เรายังขาดการจัดการ ยังขาดการเชื่อมประสาน และยังขาดการระดมทรัพยากรเพื่อเข้ามาดำเนินการเรื่องนี้ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม รวมถึงขาดการคิดเชิงยุทธศาสตร์ว่า…เราจะแก้ไขเรื่องนี้กันตรงไหน และอย่างไร” …นี่เป็นการสะท้อนเพื่อฉายภาพ…

อุปสรรค” ต่อ “การแก้ปัญหา” เรื่องนี้

ทั้งนี้ ในบทความดังกล่าวข้างต้นได้หยิบยก “กรณีศึกษาสหรัฐอเมริกา” มาเป็น “ตัวอย่างการแก้ปัญหา” ไว้ว่า… สหรัฐให้ความสำคัญกับ “ปัญหา PM 2.5” มาก โดยเฉพาะการ “ศึกษาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นทางสุขภาพ” โดยมีการศึกษาทางระบาดวิทยาใน 6 เมือง มีการให้ทุนการศึกษาจากทาง U.S. Environmental Protection Agency (USEPA) เพื่อศึกษาการระบาดทางวิทยา ทำให้พบผลการศึกษาว่า…ใน 6 เมืองนั้น อัตราการเสียชีวิตของคนสัมพันธ์กับ PM 2.5 โดย ฝุ่นสามารถเข้าไปถึงถุงลมฝอยในปอดได้และจะซึมเข้าสู่กระแสเลือด แล้วทำให้เกิดการอักเสบและระคายเคืองทั่วร่างกายได้ รวมถึงทำให้เกิดโรคเรื้อรัง Metabolic Syndrome เช่น เบาหวาน ขึ้นได้ …นี่เป็นกรณีศึกษาน่าสนใจที่ได้มีการสะท้อนไว้

และในช่วงท้าย ดร.นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ยังได้มี “ข้อเสนอแนะ” ไว้ว่า… สิ่งที่ต้องพยายามต่อไปในการ “แก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5” ก็คือ…ผลักดันให้ประชาชนมีการเฝ้าติดตามนโยบายของรัฐบาลในประเด็น PM 2.5 อย่างใกล้ชิด และ สนับสนุนให้มีการทำงานทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง ที่จะทำให้เกิดความเคลื่อนไหวที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น ซึ่งถ้าทำให้ประชาชนเข้าใจเรื่องนี้ได้มากขึ้นก็จะยิ่งทำให้เกิดความตื่นตัวที่จะมีความรู้ และติดตามสถานการณ์ รวมถึง “เข้าใจ” ว่า…

ปัญหานี้ “มิใช่แค่แก้ปัญหาระดับบุคคล”

ต้อง “ช่วยกันแก้ปัญหาเชิงระบบด้วย”…

เพื่อ “มิให้ PM 2.5 วนลูปซ้ำ ๆ ทุกปี”.