กรณีเช่นนี้ไม่เว้นแม้แต่คนดัง คนมีชื่อเสียง ก็เลยยิ่งกลายเป็น “ดราม่าหนัก” มีเสียงเรียกร้องให้มีความชัดเจนถึง“เกณฑ์พิจารณาการเข้าเมือง” เพราะกรณีดังกล่าวไม่เพียงทำให้คนไทยต้อง“เสียความรู้สึก” แต่ยังทำให้“เสียเวลา” และ “เสียค่าใช้จ่าย” ด้วย โดยกรณีนี้นั้น…

ร้อนแรงถึงขั้นเกิด  “#แบนเที่ยวเกาหลี”

ที่ “ติดเทรนด์ทวิตเตอร์แบบต่อเนื่อง”…

ทั้งนี้ เกี่ยวกับ“ผลกระทบที่เกิดกับนักท่องเที่ยวไทย” จากการที่“ถูกเกาหลีใต้กักตัว-ถูกส่งกลับไทย” แบบชวนงงระคนอึ้งอย่างต่อเนื่องนานนับเดือนนั้น… “อะไรคือต้นสายปลายเหตุ??” ทำให้เกาหลีใต้เพ่งเล็งคนไทยเป็นพิเศษในระยะนี้…ก็ว่ากันไป อย่างไรก็ตาม ก็มีหลายคนตั้ง “ข้อสังเกต” ถึงการ “เข้มกับคนไทย” ว่า…ส่วนหนึ่งอาจจะมีปัจจัยมาจากปัญหา “ผีน้อย” หรือ “คนไทยที่ลักลอบเข้าไปทำงานที่เกาหลีใต้แบบผิดกฎหมาย” ที่ยิ่งเกิดกรณีต่อเนื่องนับแต่เริ่มเปิดประเทศหลังวิกฤติโควิด-19 ซึ่งข้อสังเกตนี้จะใช่?-ไม่ใช่?…ก็ว่ากันไปเช่นกัน แต่ที่แน่ ๆ คือ“ผีน้อยไทย” ถือเป็นอีก“ปัญหาคลาสสิค”…

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีกรณีอื้ออึงเรื่อย ๆ

จนมีการนำเรื่องนี้มา “ถอดรหัสปัจจัย”

เกี่ยวกับ “แรงจูงใจ” ทำให้ “คนไทยยอมเสี่ยงเป็นผีน้อย”นั้น… “หนังสือพิมพ์เดลินิวส์” และ “เดลินิวส์ออนไลน์ ก็ได้เคยมีการสะท้อน-ฉายภาพไว้ อย่างเช่นการสะท้อนผ่านทางรายงานพิเศษเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 โดยในรายงานชิ้นนี้เป็นการสะท้อน “คำบอกเล่าของแรงงานไทยที่ไปทำงานเกาหลีใต้” ซึ่งในวันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ขอหยิบยกมาสะท้อนอีกครั้งโดยสรุปโดยสังเขป… จากคำบอกเล่าของแรงงานไทยที่ไปทำงานที่เกาหลีใต้นั้น มีการระบุเอาไว้ประมาณว่า…

“ภาวะเศรษฐกิจ” นับเป็นปัจจัยอันดับต้น ๆ เพราะจากการที่เศรษฐกิจไทยซบเซาต่อเนื่องมาหลายปี ประกอบกับมีวิกฤติโควิด-19 ส่งผลทำให้มีคนตกงานจำนวนมาก อีกทั้งการที่ ในไทยมีตำแหน่งงานในตลาดแรงงานจำกัด ทำให้การหางานทำในปัจจุบันยากขึ้นกว่าในอดีต นี่จึงเป็นแรงกระตุ้นทำให้หลายคน “เสี่ยงไปทำงานแบบผิดกฎหมายที่เกาหลีใต้”

“แรงจูงใจด้านรายได้” เหตุผลนี้ก็เป็นอีกปัจจัยที่เป็นแรงกระตุ้นสำคัญให้แรงงานไทยจำนวนหนึ่ง “ยอมเสี่ยง-กล้าเสี่ยง” ไปทำงานในเกาหลีใต้ ในแบบที่เป็นแรงงานที่ลักลอบเข้าไปทำงานผิดกฎหมาย นอกเหนือจากส่วนที่ไปผ่านระบบอย่างถูกต้อง โดยในรายงานพิเศษที่ทางเดลินิวส์ได้เคยมีการนำเสนอไว้เมื่อช่วงปี 2564 “คำบอกเล่าของแรงงานไทย” ที่เคยไปทำงานในเกาหลีใต้ได้ระบุไว้ว่า… ประเภทงานส่วนใหญ่ที่คนไทยเลือกทำนั้น จะมีอยู่ 3 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ การเกษตร ก่อสร้าง และอุตสาหกรรม ซึ่งถึงแม้ว่างานที่ไปทำจะหนักเอาเรื่อง แต่จาก รายได้ราว 50,000-60,000 บาทต่อเดือน ที่ได้รับนั้น…

ก็ “จูงใจ” และ “ทำให้ยอมที่จะอดทน”

แม้ต้องแลกกับ “ภาระงานที่หนักมาก!!”

นอกจากนี้ ยังมีการสะท้อน “ปัจจัย” ที่ทำให้ “ผีน้อยไม่อยากกลับไทย” เอาไว้ด้วย ถึงแม้บางรายจะเสี่ยงถูกละเมิดสิทธิต่าง ๆ เช่น ถูกเอารัดเอาเปรียบค่าแรง, ไม่ได้รับเงินชดเชยเมื่อลาออก หลังทำงานครบ 1 ปี, ทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน, ถูกนายจ้างใช้ความรุนแรง ลวนลาม หรือละเมิดทางเพศ โดยแรงงานไทยบอกถึง “สาเหตุ” ที่ทำให้ไม่อยากกลับไทยเอาไว้ ดังนี้… 1.ไม่รู้จะกลับมาทำงานอะไร 2.เสียดายค่าใช้จ่ายและเวลาที่ลงทุนไป 3.ยังรู้สึกไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจไทย 4.เกาหลีใต้มีงานให้ทำหลากหลาย และ5.มีที่เที่ยวที่กินให้เลือกมากมาย …เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้…

แม้จะ “เสี่ยงต่อการถูกละเมิดก็ยอม”

หากเลือกได้ก็ “เลือกที่จะไม่กลับไทย”

ทั้งนี้ มีอีกมุมสะท้อน “ปัญหาผีน้อยไทยในเกาหลีใต้” ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลในวันนี้ ในเชิงการเป็น “ข้อเสนอแนะ” ปิดท้าย นั่นคือข้อมูลจากบทวิเคราะห์ “แรงงานไทยในเกาหลีใต้ : ปัญหาและอุปสรรคการเข้าถึงความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของไทยและเกาหลีใต้” โดย รีนา ต๊ะดี นักปฏิบัติการวิจัย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ที่บางช่วงบางตอนระบุไว้ว่า… “เหตุผลหลักคือรายได้” ทำให้แรงงานไทยตัดสินใจไปทำงานเกาหลีใต้ ซึ่ง… การแก้ปัญหาระยะยาวจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมให้เท่าเทียมกันเพิ่มขึ้น เพื่อให้แรงงานมีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ จนไม่ต้องยอมเสี่ยงเพื่อไปทำงานต่างแดน

เหล่านี้เป็น “มุมสะท้อน” เกี่ยวกับกรณี “แรงงานไทยที่ไปทำงานในเกาหลีใต้” ซึ่งมีส่วนที่เป็น “ผีน้อย” ที่ไปทำงานแบบ “ผิดกฎหมาย” ซึ่งกับกรณีที่ “เกาหลีใต้เข้มคนเข้าประเทศ โดยมีการเพ่งเล็งคนไทยมาก” โดยระยะหลัง ๆ มีคนไทย “ถูกกักตัว-ถูกส่งกลับ” แบบงง ๆ จนทำให้ “เกิดแฮซแท็กร้อน” ขึ้นมา… ก็พาให้ฉุกคิดถึงกรณี “ผีน้อยไทยในเกาหลีใต้”

“2 กรณีนี้” นี่อาจ “คนละเรื่องเดียวกัน?”

โดยที่ “จะให้ปลายทางแก้อาจยาก?”…

“แก้ต้นทางที่ไทย…อาจคือคำตอบ?”.