สำหรับไทย…เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็เพิ่งฉลองความสำเร็จ “ภารกิจอวกาศ” อีกขั้นหนึ่ง หลังจากปล่อย ดาวเทียมธีออส-2 เป็นผลสำเร็จ ซึ่งจะช่วยเปิดมุมมองและมิติใหม่ ๆ ให้ไทย และล่าสุดไทยก็ก้าวไปอีกขั้น โดยไทยกับญี่ปุ่นจับมือกันทำโครงการ “วิจัยความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนของมนุษย์ในอวกาศ” ขึ้นมา เพื่อ “ศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง” จากภาวะไร้น้ำหนัก…

เตรียมพร้อม “ดูแลชีวิต” ในอนาคต

ทั้งในอวกาศ และยัง “รวมถึงบนโลก”

ทั้งนี้ งานวิจัยที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” นำข้อมูลมาสะท้อนต่อนี้… โครงการนี้เป็นความร่วมมือของ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) และ องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) ซึ่งได้มีการลงนามความร่วมมือวิจัยที่นำไปสู่การ “สร้างสมมุติฐาน” ต่อ “ความเสี่ยงภาวะกระดูกพรุน” ของ “ผู้ที่ต้องใช้ชีวิตในอวกาศ-ผู้ที่อยู่ในสภาพไร้น้ำหนักเป็นเวลานาน ๆ” โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุนทุนวิจัย …นี่ทั้งเป็นการเตรียมพร้อมกับโลกในอนาคต ที่เป็นไปได้สูงว่ามนุษย์อาจเดินทางไปอวกาศเพิ่มขึ้น ต้องใช้ชีวิตอยู่ในอวกาศยาวนาน ซึ่งเป็นสภาวะที่ไม่คุ้นชิน…ต้องมีการปรับตัวกับสภาพไร้แรงโน้มถ่วง และ… งานวิจัยนี้ก็จะมีผลดีต่อชีวิตบนโลกด้วย…

สำหรับรายละเอียดของโครงการวิจัยนี้ ทาง ศ.ดร.นพ.นรัตถพล เจริญพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล และนักวิจัยประจำหน่วยวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก (COCAB) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการให้ข้อมูลไว้ว่า… ร่างกายมนุษย์นั้นจำเป็นต้องมีการเคลื่อนไหวที่เหมาะสม และต้องอยู่ในที่ที่มีแรงโน้มถ่วงพอเหมาะ ร่างกายจึงจะมีโครงสร้างที่แข็งแรง โดยเฉพาะในส่วนของ “กระดูก” แต่เมื่อต้องใช้ชีวิตในห้วงอวกาศ ที่มีสภาวะไร้น้ำหนักเป็นเวลานาน กรณีนี้มีงานวิจัยในหลายประเทศที่บ่งชี้ถึง “ความผิดปกติที่จะเกิดขึ้น” กับสิ่งมีชีวิตที่ต้องอยู่ในสภาวะนี้เป็นเวลานาน ๆ ว่า…

พบความผิดปกติเกิดกับกระดูกชัดเจน

ทั้งในมนุษย์ และสัตว์ ที่ถูกส่งไปอวกาศ

ทางนักวิจัยท่านเดิมยังได้มีการอธิบายไว้ถึงความผิดปกติของกระดูกที่พบในมนุษย์ และสัตว์ ที่ต้องใช้ชีวิตในสภาพ “ไร้แรงโน้มถ่วง” เป็นระยะเวลานาน ๆ ว่า… เนื่องจากกระดูก ตลอดจนเนื้อเยื่ออื่น ๆ เช่น ไขมัน กล้ามเนื้อ สมอง ที่ต้องเคลื่อนไหวภายใต้สภาพไร้แรงโน้มถ่วงเป็นเวลานาน ๆ มักจะ “ขาดสัญญาณเชิงกล”สัญญาณเชิงกลนี้คือ แรงกระทำที่จะทำให้เซลล์อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์และส่งสัญญาณถึงกันได้เป็นปกติ ซึ่งโดยทั่วไปแคลเซียมของกระดูกจะสัมพันธ์กับน้ำหนักตัว แต่เมื่ออยู่ภายใต้สภาพไร้แรงโน้มถ่วง กรณีนี้จะทำให้น้ำหนักหายไป และกระดูกก็จะสูญเสียแคลเซียมอย่างรวดเร็ว

มนุษย์ในอวกาศจึงมีความเสี่ยงสูงมาก

เสี่ยงมากที่จะ “เกิดภาวะกระดูกพรุน!!”

จากกรณีปัญหาดังกล่าวนี้ จึงเป็นที่มาของ “โครงการวิจัย” โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างสมมุติฐานของความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนของผู้ที่ต้องใช้ชีวิตในสภาพไร้น้ำหนักเป็นเวลานาน ซึ่ง จะนำไปสู่การ “ออกแบบยาต้านกระดูกพรุนที่ออกฤทธิ์ได้ตรงจุด” หรือ “สร้างกิจกรรมที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุน” ซึ่งทาง JAXA และ GISTDA ได้สนับสนุนให้นักวิจัยไทย คือ ศ.ดร.นพ.นรัตถพล เจริญพันธุ์ และ รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาเนื้อเยื่อของหนูทดลองที่เลี้ยงบนสถานีอวกาศนานาชาติ …และ นี่มิใช่แค่เรื่องอวกาศเท่านั้น…

ทั้งนี้ ศ.ดร.นพ.นรัตถพล ให้ข้อมูลเพิ่มเติมไว้ว่า… โครงการนี้จะ ศึกษาเกี่ยวกับสัญญาณเชิงกลที่เชื่อมโยงไปสู่อวัยวะอื่น ๆ เช่น เนื้อเยื่อ ไขมัน ลำไส้ กล้ามเนื้อ ซึ่งล้วนส่งสัญญาณมาปรับเปลี่ยนการทำงานของกระดูกทางอ้อม เพื่อ “ค้นหาปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลต่อกระดูก” ในขณะที่มนุษย์ต้องใช้ชีวิตในสภาพไร้น้ำหนักนาน ๆ ถ้าสำเร็จก็จะช่วยให้มีข้อมูลใช้เตรียมความพร้อมรองรับชีวิตวิถีใหม่ในอวกาศในอนาคตข้างหน้า และนอกจากนี้ ข้อมูลที่ศึกษานี้ไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตในอวกาศ แต่ยังจะ “เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยติดเตียง” ด้วย …นี่เป็น “ความสำคัญ” ของโครงการวิจัยนี้

และนักวิจัยท่านเดิมยังระบุไว้ด้วยว่า… แม้ในไทยการศึกษานี้จะยังไม่ได้รับความสนใจมากเท่าใดนักในปัจจุบัน แต่ หากมีการประยุกต์ผลจากการวิจัยนี้ ก็จะช่วยให้นักวิจัยมีองค์ความรู้และความเข้าใจต่อกลไกทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนในผู้ป่วยติดเตียงเพิ่มขึ้น เพราะสภาวะไร้น้ำหนักมีความคล้ายคลึงกับภาวะที่คนเราขาดการเคลื่อนไหวและขาดการออกกำลังกาย ซึ่งการศึกษาวิจัยนี้อาจจะนำไปสู่การค้นพบหนทางแก้ไข และสามารถขยายผลไปสู่ระดับนโยบายได้ ขณะที่ “ประโยชน์ทางอ้อม” ก็คือ จะส่งผลทำให้เกิดการวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศอื่น ๆ ตามมาอีก…

“อวกาศ” เป็น “ห้องเรียนที่ไร้ขอบเขต”

เรียนได้ดีก็จะ “มิใช่แค่ภารกิจอวกาศ”

จะ “เติมเต็มการดูแลชีวิตที่โลกด้วย”.