อย่างไรก็ตาม ว่ากันถึงกรณี “ข้อมูลข่าวสารมากมาย” ในภาพรวม ๆ ที่มิได้เฉพาะเจาะจงว่าเกี่ยวกับเหตุใด ๆ วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะชวนพินิจกรณีนี้กันอีก…ในมุม “ความน่าเป็นห่วง” อันสืบเนื่องจากการมีข้อมูลมากมายในลักษณะ “ภาวะข้อมูลท่วมท้น!!”…

มีข้อมูลน่ะดี…แต่ “ข้อมูลท่วมอาจไม่ดี”

เพราะ…“อาจจะก่อเกิดปัญหาขึ้นมาได้”

อาจแย่…“ถ้าใช้ข้อมูลโดยมิได้แยกแยะ”

ทั้งนี้ กล่าวสำหรับคำว่า “ภาวะข้อมูลท่วมท้น” นี้…จริง ๆ ก็เป็นหนึ่งใน “ศัพท์คุ้นหูคนไทย” เพราะเคยเกิดขึ้นแล้วกับหลาย ๆ เหตุการณ์ อาทิ ในช่วงที่เกิด วิกฤติโควิด-19 แพร่ระบาด ในช่วงแรก ๆ ได้เกิดการ “โพสต์-แชร์-ส่งต่อ” ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 จนสังคมสับสนข้อมูลที่หลั่งไหลออกมาชนิดที่ “มีให้เสพมากมายตลอดเวลาต่อเนื่อง” ทำให้มีผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือนให้ผู้คน “ระมัดระวังปัญหา” โดยเฉพาะจาก “ข้อมูลเท็จ-ข่าวปลอม” หรือ “เฟคนิวส์” ซึ่งหลังจากนั้นคนไทยก็ยิ่งคุ้นหูคำว่า “ภาวะข้อมูลท่วมท้น” จากอีกหลายเหตุการณ์ที่เป็นคดีสะเทือนขวัญสั่นอารมณ์สังคมไทย และก็มีการ “ย้ำเตือน” ผู้ที่เสพข้อมูลข่าวสารแบบเกาะติดตลอด ให้ ระวังปัญหาจากภาวะข้อมูลท่วมท้น” ที่หากรับข้อมูลข่าวสารจนมากเกินไป…

อาจ “เกิดผลกระทบในการใช้ชีวิต” ได้

อนึ่ง เกี่ยวกับ “ภาวะข้อมูลท่วมท้น” นั้น ภาวะดังกล่าวนี้ในภาษาอังกฤษคือ… “Information Overload”หรือมีอีกหนึ่งศัพท์ที่ก็มักจะถูกนำมาใช้เรียกภาวะนี้เช่นกัน นั่นก็คือ… “Infobesity”ซึ่งคำอธิบายเกี่ยวกับ “ภาวะข้อมูลท่วมท้น” ก็มีข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่งที่ได้อธิบายถึงภาวะนี้ไว้ โดยสังเขปมีว่า… ภาวะข้อมูลท่วมท้น Information Overload เกิดจากความสะดวกในการนำเสนอข้อมูลและค้นหาข้อมูลในระบบออนไลน์ปัจจุบัน โดยเป็นผลพวงจากการเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างทั่วถึงและสะดวกยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังมีปัจจัยมาจากโครงสร้างโมเดลธุรกิจในหลายสาขา ที่ แข่งขันกันผลิตข้อมูลเชิงปริมาณ…

มากกว่าที่จะเน้นผลิตข้อมูลเชิงคุณภาพ

จนเกิดภาวะข้อมูลมาก…แต่มีเวลาน้อย

นอกจากคำอธิบายข้างต้นแล้ว ในอีกหนึ่งแหล่งข้อมูลคือเฟซบุ๊กเพจชื่อ “Young Happy” ก็ได้มีการระบุถึงที่มา-ที่ไปในการเกิดขึ้นของ “ภาวะข้อมูลท่วมท้น” นี้เอาไว้น่าสนใจ กล่าวคือ… ขณะนี้ผู้คนทั่วโลกกำลังเผชิญความท้าทายจากภาวะข้อมูลท่วมท้นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งสำหรับ “อันตราย”ที่เกิดขึ้นได้เพราะภาวะนี้ก็คือ…การที่ มีข้อมูลจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาแบบรวดเร็วจนเกิดสภาพล้นเกินพอดี ส่งผลให้ไม่สามารถประเมินได้ทันซึ่งเปรียบได้กับการรับประทานอาหารอย่างรวดเร็วในจำนวนมาก ๆ โดยผลที่ตามมาก็คือ “เกิดอาการสำลักข้อมูลเพราะย่อยไม่ทัน” …นี่เป็นการเปรียบเทียบ…

“ฉายภาพ” ในเบื้องต้น “กรณีอันตราย”

และในแหล่งข้อมูลดังกล่าวยังมีการฉายภาพประเด็นปัญหาของภาวะนี้เพิ่มเติมเอาไว้ว่า… กับ “ภาวะข้อมูลท่วมท้น” นี้ เป็นคำศัพท์ที่เกิดขึ้นมานานแล้ว โดยนักวิจัยมหาวิทยาลัยสตุทการ์ด คือ ปีเตอร์ กอร์ดอน เริทเซล ที่ได้มีการให้นิยามความหมายของภาวะดังกล่าวนี้ไว้ว่า… “อาการที่เกิดขึ้นจากภาวะข้อมูลท่วมท้น” นั้น…มักจะ “ส่งผลทำให้มนุษย์มีการตัดสินใจที่แย่ลง” โดยเฉพาะถ้าได้รับข้อมูลที่มีความซับซ้อน หรือข้อมูลที่มีความขัดแย้ง ก็จะยิ่งมีผลทำให้คุณภาพในการตัดสินใจลดลง ซึ่งเป็นเพราะ คนแต่ละคนนั้นมีข้อจำกัดการประมวลผลข้อมูลได้ไม่เท่ากัน …นี่เป็นคำอธิบายเพิ่มเติม

นอกจากนี้ นอกจากจะส่งผลทำให้ “ตัดสินใจผิดพลาดได้ง่าย” แล้ว…ในบทความเผยแพร่โดยเว็บไซต์ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) หรือ www.hsri.or.th ก็ได้เคยมีการเผยแพร่เกี่ยวกับภาวะ “Information Overload” นี้ไว้เช่นกัน โดย ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ นักวิจัยเครือข่ายของ สวรส. ระบุไว้ว่า… หากจะสรุปความหมายของ ความรอบรู้ ก็น่าจะหมายถึง ความสามารถในการเข้าถึง ทำความเข้าใจ และใช้ประโยชน์จากข้อมูล ซึ่งขณะนี้พบว่าสังคมกำลังเผชิญภาวะข้อมูลข่าวสารท่วมท้นจากการที่ระบบสื่อสารสาธารณะเปลี่ยนแปลงไป ผู้รับสารมีอำนาจในการส่งต่อหรือแชร์ข้อมูล ซึ่ง…

ข้อมูลอาจบิดเบือนไปจากข้อมูลตั้งต้น

ทั้งนี้ กับ “ปัญหาภาวะข้อมูลท่วมท้น” นี่มีการสะท้อนไว้อีกว่า… ที่ “น่าเป็นห่วง” คือภาวะนี้อาจส่งผลให้ ประชาชนไม่รู้ว่าควรเชื่อหรือไม่เชื่อสิ่งใดกันแน่?? โดยงานวิจัยต่างประเทศก็มีการสำรวจพบว่า… แต่ละวันคนเราจะคิดตัดสินใจทำสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เฉลี่ย 2,500-10,000 ครั้งต่อวัน แต่ที่ “น่ากังวล” คือมีแค่ร้อยละ 20 ที่ใช้เหตุผล-ความรู้ประกอบการตัดสินใจ อีกร้อยละ 80 มักใช้อารมณ์-ความคุ้นชินในการตัดสินใจ …ซึ่งกลุ่มหลังนี้ มีโอกาสเกิดปัญหาจากความ “ผิดพลาด” ในการ “คิด-วิเคราะห์-แยกแยะ” โดยเฉพาะถ้า “ข้อมูลท่วมท้น” โดยที่ “มีข้อมูลบิดเบือน-มีข้อมูลเท็จ” รวมอยู่ด้วย…

“เหตุร้าย” วันก่อน “ก็สะท้อนปัญหานี้”

“ปัญหา” กรณีมี “ภาวะข้อมูลท่วมท้น”

“ไม่ทันคิดแล้วเชื่อ-แชร์…อาจซวย!!!”.