อย่างไรก็ตาม กับภัยตุ๋นอมตะเกี่ยวกับรักเกี่ยวกับคู่นั้น… “หลอกว่ารักเพื่อจะตุ๋น” ดูจะ “ดุ” กว่าตุ๋นหาคู่อยู่สักหน่อย…โดยเฉพาะ “ภัยหลอกรักออนไลน์” ที่วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ขอพลิกแฟ้มมาสะท้อนเตือนย้ำกันไว้

ยังมีหญิงไทยเป็นเหยื่ออย่างต่อเนื่อง

มีผู้ที่ติดกับดักมิจฉาชีพแบบนี้เรื่อย ๆ

แม้มิใช่ภัยแปลกใหม่แต่ก็เกิดขึ้นซ้ำ ๆ

ทั้งนี้ กับภัย “ตุ๋นรักผ่านออนไลน์” หรือภัยที่เรียกว่า “โรแมนซ์สแกม” ภัยในลักษณะนี้ที่เกิดกับหญิงไทยส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ก่อเหตุมักเป็นมิจฉาชีพต่างชาติ โดยมี “พฤติการณ์หลอกลวงหญิงไทยว่ารัก” เพื่อต้องการ “ตุ๋นเงินจากหญิงไทย” โดยมักมีการ ปลอมรูปโปรไฟล์ในสื่อโซเชียลเป็นชาวต่างชาติหน้าตาดี มีอาชีพมั่นคง ฐานะร่ำรวย เพื่อพูดคุยออนไลน์กับหญิงไทยที่หลงเชื่อ พูดคุยตีสนิท “หลอกให้เหยื่อตายใจ”แล้วจากนั้นก็จะเริ่มดำเนินกระบวนการ“ตุ๋นเงิน จากเหยื่อ

สำหรับ “ขั้นตอน-วิธีการ” ที่มิจฉาชีพกลุ่มนี้มักใช้ในการ “ตุ๋นเงินจากเหยื่อ” นั้น มีหลากหลาย เช่น… หลอกว่ารักว่าชอบ พูดคุยหลอกล่อ ทำให้เหยื่อหลงรักหรือหลงเชื่อ แล้วก็จะตามมาด้วยการหลอกลวงเอาเงิน…โดยบางเคสก็ หลอกว่าจะส่งของมีค่ามาให้ โดยคนร้ายอาจจะนำภาพของมีค่าที่อ้างถึงมาโชว์ให้เหยื่อเห็นด้วย จากนั้นก็มักจะอ้างว่าการส่งของมาให้มีเหตุติดขัด เช่นเรื่องค่าจัดส่ง ค่าธรรมเนียม แล้วให้เหยื่อช่วยโอนเงินไปให้ก่อนเพื่อแก้ข้อติดขัดเหล่านี้…แต่จริง ๆ คือหลอกเอาเงิน

กับ “ภัยโรแมนซ์สแกม” นี้ ในมุมมอง “จิตวิทยา” ทาง ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม ก็ได้เคยสะท้อนผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ ซึ่งพลิกแฟ้มดูกันอีกโดยสังเขปก็มีว่า… สังคมไทยในปัจจุบันนั้นสุ่มเสี่ยงเป็น “สังคมขาดสติ” อย่างมาก โดย “ยุคสังคมออนไลน์” แบบยุคนี้ นี่ก็ยิ่งทำให้ “มีเหยื่อขยายวงเพิ่มมากขึ้น” โดยที่อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ก็อาจจะ “ทำให้จำนวนเหยื่อมีมากขึ้นเรื่อย ๆ” นั่นคือการที่สังคมไทยยุคนี้เป็น“ยุคสังคมเหงา” ซึ่งก็อาจทำให้ “ผู้หญิงเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว” โดยที่บางคนก็อาจจะ “ต้องการความมั่นคงของชีวิต…และคิดว่าการคบกับชายฝรั่งต่างชาติน่าจะตอบโจทย์ได้” แล้วก็… 

“สุ่มเสี่ยง” ที่จะ “เป็นเหยื่อตุ๋นรัก”

นอกจากมุมมองทางด้านจิตวิทยาแล้ว กับ “ผู้ที่เป็นเหยื่อ” นั้น กรณีดังกล่าวนี้ก็มีการสะท้อนไว้ในทางวิชาการถึง “ปัจจัย” ที่ทำให้ “ตกเป็นเหยื่อ” ของอาชญากรกลุ่มนี้-รูปแบบนี้ โดยทาง ผศ.ดร.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้สะท้อนไว้น่าสนใจผ่าน “งานวิจัย” เกี่ยวกับเรื่อง พิศวาสอาชญากรรม”เรื่อง “ลวงรักออนไลน์” โดยระบุไว้ว่า…พิศวาสอาชญากรรม“โรแมนซ์สแกม” แม้จะมีสถิติจำนวนผู้เสียหายน้อย แต่ก็นับเป็นอาชญากรรมที่สร้างความเสียหายได้มากที่สุด!! ซึ่งเคยมีเหยื่อบางรายสูญเงินคนเดียวหลักหลายสิบล้านบาท!! โดยผลศึกษาวิจัยชี้ไว้ว่า…

“เหยื่อส่วนใหญ่” นั้น “มักเป็นเพศหญิง”

ที่ได้ “มีการแสดงออกว่าโสด-ว่าเหงา”…

และยิ่งถ้าหากว่าได้ “มีการแสดงออกหรือเผยว่ากำลังหาคู่รัก-หาคู่ครอง…ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยง!!” ซึ่งภัยรูปแบบนี้คำว่า “ขี้สงสาร” นี่เป็น “คีย์เวิร์ดที่อาชญากรสอดส่องมองหา” นอกจากนั้น ผลศึกษาวิจัยยังพบว่า… “กลุ่มหญิงที่ตกเป็นเหยื่อมากที่สุดคือกลุ่มที่อายุเกิน 40 ปีขึ้นไป” ในขณะที่… “มีสถานะการงานดี มีอาชีพมั่นคง แล้วชอบโชว์การกินการเที่ยวการใช้ของต่าง ๆ บนสื่อโซเชียล” นี่ก็ประการที่สองของ “คีย์เวิร์ดเสี่ยง” โดยสำหรับ “กลยุทธ์ของอาชญากร” ที่มีการใช้นั้น ผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้พบว่า… มีหลากหลายรูปแบบ แต่ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะมีสิ่งหลัก ๆ ดังต่อไปนี้คือ…

การ ปลอมโปรไฟล์ โดยขโมยภาพบุคคลอื่นที่มีบุคลิกภาพดี หน้าตาดี ดูภูมิฐาน นำมาปลอม, การ เลือกใช้ช่องทางในการล่อลวงเป้าหมาย เช่น โซเชียลมีเดีย แอปพลิเคชันหาคู่, การ เลือกเป้าหมาย ที่มักจะเลือกเหยื่อที่ดูขี้เหงา และมีศักยภาพทางการเงิน โดยประเมินจากข้อมูลที่มีการโพสต์ลงสื่อโซเชียล, การ สร้างบทบาทเพื่อเข้าถึงเป้าหมายผ่านอาชีพที่น่าเชื่อถือ เช่น วิศวกร, การ สร้างสถานการณ์ให้เกิดความสงสาร เพื่อให้เหยื่อสงสารและเห็นใจ แล้วขั้นสุดท้ายก็คือการ พยายามบรรลุภารกิจการตุ๋นเงิน โดยมีช่องทางที่มักจะใช้ เช่น… ให้เหยื่อโอนเงินเข้าบัญชี ให้โอนเงินไปต่างประเทศ

ทั้งนี้ ผศ.ดร.ทศพล ยังสะท้อนไว้ว่า การป้องกันปราบปรามภัยแบบนี้ควรขจัดอุปสรรคที่มีพร้อมเสนอแนะไว้ว่าการจะแก้ปัญหามิจฉาชีพรูปแบบนี้ให้ได้ผลดี… ควรปรับปรุงกฎหมายและมาตรการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมรูปแบบนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น, บุคลากรที่ทำงานเรื่องนี้ควรมีหลากหลายเพื่อให้ผู้เสียหายกล้าเข้าร้องทุกข์, ควรออกแบบวิธีร้องทุกข์ที่ไม่ต้องเผยตัวตนเหยื่อ, เร่งเพิ่มภูมิคุ้มกันเชิงรณรงค์โดยการให้ความรู้-ให้ข้อมูลกับสังคม รวมถึงพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศโดยมีศูนย์ประสานงานเพื่อให้แก้ปัญหาได้รวดเร็ว …นี่ก็เป็นข้อมูลที่น่าสนใจอีกส่วน…นอกเหนือจาก “ชี้เตือน” ถึงกลุ่มเสี่ยง

การปราบ…วันนี้น่าจะมีพัฒนาการแล้ว

การระวัง…นี่ก็น่าจะมีข้อมูลกันไม่น้อย

การตุ๋นยังมี…หรือนี่ก็เพราะพิษรัก??.