ทั้งนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็เพิ่งเกิดกรณีปัญหาอีก…และก็มี “ดราม่าวาทกรรม” คำว่า “แม่ใจยักษ์” ที่มีทั้งฝ่าย“เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย” กับการใช้คำ ๆ นี้ซึ่ง ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ก็ฉายภาพวาทกรรมนี้ว่า…เป็นผลจากสังคมไม่ได้ทำความเข้าใจในปัญหานี้อย่างลึกซึ้งว่า…อะไร? สาเหตุใด? ที่ทำให้เกิดปัญหา และก็เกิดการ“สร้างตราบาปให้แต่ฝ่ายหญิง”…

ทำให้เกิด “วาทกรรมแม่ใจยักษ์”…

ที่เป็น “มุมมองเชิงลบ” ต่อปัญหานี้??

ทั้งนี้ เกี่ยวกับเรื่อง “ท้องโดยไม่พร้อม-มีลูกโดยไม่พร้อม” นั้น…ในตอนที่แล้ว “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้พลิกแฟ้มนำเสนอประเด็น “กรณีวัยรุ่นท้องโดยไม่พร้อม” ซึ่งถ้าไทยไม่มีแนวทางช่วยเหลือเรื่องนี้ก็ อาจลุกลาม “กระทบความมั่นคงทางเศรษฐกิจ” ได้!! อาจ “ทำให้ไทยสูญเสียโอกาส” หลายด้าน!! …นั่นก็มุมหนึ่ง ขณะที่มุม“ปัญหาแม่ทอดทิ้งลูก” ที่บางกรณี“ลูกเสียชีวิต” นั้น…มุมนี้ก็น่าคิด ซึ่ง กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เคยมีการให้ข้อมูล “เด็กถูกทิ้ง” ไว้ว่า… ในประเทศไทยมีเด็กถูกทอดทิ้งเฉลี่ยกว่า 100 คนต่อปี!! …ซึ่งนับว่า “เป็นตัวเลขที่สูงมาก!!” โดยที่… เด็กที่ถูกทิ้งมีตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ขวบ ซึ่งเมื่อมีเหตุ “เด็กถูกทิ้ง” เกิดขึ้น…สังคมก็มักจะ…

“ตีตราบาปเพศหญิงเป็นแม่ใจยักษ์??”

กล่าวสำหรับข้อมูลของทางกรมกิจการเด็กและเยาวชน ยังมีส่วนที่ระบุเกี่ยวกับกรณี “เด็กถูกทิ้ง” ไว้อีกว่า… สถานที่ทิ้งเด็กยอดนิยม ได้แก่ โรงพยาบาล บ้านผู้รับจ้างเลี้ยง สถานที่สาธารณะ เช่น ป้ายรถเมล์ ถังขยะ พงหญ้า ตามลำดับ โดย สาเหตุหลักในการทอดทิ้งเด็กนั้นมาจาก… ปัญหาท้องไม่พร้อมของวัยรุ่น, ปัญหาหย่าร้าง, ปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว, ปัญหาความยากจน และรวมถึงปัญหาความพิการ …นี่เป็นข้อมูลกรณี “แม่ทอดทิ้งลูก” ที่เกิดต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม “ปัญหาแม่ทอดทิ้งลูก” นี้…ลึก ๆ มี “ปัจจัยใด?? ที่ส่งผลให้ปัญหานี้เกิดขึ้น?? เรื่องนี้ทาง จะเด็จ ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ได้วิเคราะห์และสะท้อนผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มาว่า… ปัจจัยหลักจริง ๆ นั้น จะกล่าวโทษแต่ฝ่ายผู้หญิงว่าเป็น “แม่ใจยักษ์” ไม่ได้ เพราะการที่ผู้หญิงทิ้งลูก หรือทำร้ายลูก มักมีเงื่อนไขอื่น ๆ มีองค์ประกอบอื่น ๆ เป็น “แรงกระตุ้น” ซึ่งเมื่อพิจารณาให้ลึก ๆ จะเห็น ปัญหาเชิงโครงสร้าง”ที่มาจากการที่ ผู้ชายไม่ร่วมรับผิดชอบเลี้ยงดูลูก โดยมักปล่อยให้ผู้หญิงแบกรับภาระทุกอย่างลำพังคนเดียว ทั้ง “ภาระทางเศรษฐกิจ” จนถึง“ภาระดูแลลูก-ครอบครัว”

“เมื่อผู้หญิงถูกผู้ชายทิ้งให้แบกรับปัญหาทุกอย่างลำพัง ประกอบกับขาดที่พึ่งจากครอบครัว จึงนำสู่ความวิตกกังวลและความเครียดมากขึ้นเรื่อย ๆ จนส่งผลให้ตัดสินใจทิ้งลูก หรือทำร้ายลูกด้วยความรุนแรง ซึ่งยิ่งระบบรัฐขาดมาตรการช่วยเหลือที่เพียงพอ ก็ยิ่งง่ายที่จะทำให้ผู้หญิงตัดสินใจก่อเหตุน่าเศร้า” …ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลระบุ

และกับประเด็น “ขาดมาตรการช่วยเหลือ” นั้น…ทาง จะเด็จ ก็สะท้อนว่า… เป็น “อีกปัจจัย” ทำให้เกิดเหตุ “แม่ทิ้งลูก-แม่ทำร้ายลูก” เพราะผู้เป็นแม่ที่มีภาวะไม่พร้อมนั้นไร้ที่พึ่ง-ไร้ทางออก และยิ่งสังคมไทยยังมี “ทัศนคติชายเป็นใหญ่” จึงทำให้ผู้หญิงยังถูกคาดหวังให้ต้องดำรงความเป็นแม่ด้วยการต้องทำหน้าที่เลี้ยงลูกพร้อมกับรับผิดชอบงานบ้าน ยิ่งเป็นแรงเสริมปัญหา ซึ่งแม้สภาพสังคมไทยเปลี่ยนสู่ระบบทุนนิยมที่ผู้หญิงก็ต้องออกทำงานนอกบ้าน และมีบทบาทในสังคมมากขึ้นแล้วก็ตาม แต่สุดท้ายผู้หญิงก็ยังต้องทำหน้าที่แม่บ้าน ถ้าไม่ได้ทำหน้าที่ หรือทำได้ไม่เต็มที่ตามที่ถูกคาดหวัง ก็จะถูกมองว่าไม่ดี…

“ภาระเลี้ยงดูลูก ทั้งหญิงและชายต้องช่วยกัน รวมถึงสังคมด้วยที่ต้องช่วย ไม่ใช่ผลักภาระให้ฝ่ายผู้หญิง ซึ่งพอผลักภาระปุ๊บ พอเกิดอะไรขึ้นคนผิดก็คือผู้หญิง เช่น เป็นแม่เลว เป็นแม่ใจยักษ์ เพราะสังคมมองแบบง่าย ๆ ไม่ได้มองว่าจริง ๆ แล้วมีปัญหาอะไรอีกที่ถูกครอบซ้อนไว้” …ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลกล่าว และพร้อมกันนี้ยังระบุอีกว่า… นอกจากปัญหาเชิงโครงสร้างและเรื่องทัศนคติแล้ว ผู้หญิงก็ยังมีปัญหาอื่นที่สังคมต้องช่วยกันแก้ อย่างเช่น… การคุมกำเนิด การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งจริง ๆ เรื่องเหล่านี้คือภาระรับผิดชอบของเพศชาย แต่เพราะ…

“ผู้ชาย” เหนือกว่า…จึง “ไม่รับผิดชอบ!!”

ทั้งนี้ “ทางออกของวังวนปัญหา” นี้ จะเด็จ เชาวน์วิไล ก็ชี้ไว้ด้วยว่า… ต้องช่วยกันทุกฝ่าย จะปล่อยให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำลำพังไม่ได้ อีกทั้งสังคมก็ต้องเลิกปลูกฝังค่านิยมและทัศนคติที่ไม่ตอบโจทย์ยุคสมัย ในบางเรื่อง เช่น เลิกปลูกฝังแค่จิตสำนึกความเป็นแม่อย่างเดียว ต้องปลูกฝังจิตสำนึกในการร่วมกันดูแลเด็ก และรัฐก็ต้องเพิ่มศูนย์ดูแลเด็กเล็กให้กระจายทั่วถึงทุกพื้นที่มากขึ้น โดยไม่ควรมีแค่ในพื้นที่ชนบท ในเมืองใหญ่ก็ต้องมีเช่นกัน เพื่อที่จะให้การ แก้ปัญหาเด็กถูกทอดทิ้งที่เกิดจากปัญหาท้องไม่พร้อม มีการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่ง…ถ้าทำได้เช่นนี้ก็จะเป็นการช่วย ปกป้องเด็ก ส่งเสริมโอกาสให้ผู้หญิงที่เป็นแม่โดยไม่พร้อม และช่วย ลบวาทกรรมตราบาป “แม่ใจยักษ์”

“ใจยักษ์” นี่เป็น “วาทกรรมที่มีมานาน”

แค่ “ตีตรา” หรือ “ช่วยกันแก้” ดีกว่า??

ณ ที่นี้ก็ร่วมสะท้อนไว้ “ชวนขบคิด??”.