ทั้งนี้ คำจำกัดความพฤติกรรมแบบนี้มีการใช้คำว่าอะไรบ้าง??…ก็คงไม่ต้องแจกแจง เพราะคนไทยเรา ๆ ท่าน ๆ ต่างก็รู้ ๆ กันอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม หากใครจะเลือกใช้คำจำกัดความพฤติกรรมเช่นนี้ด้วยคำว่า“โกหก” แล้วล่ะก็…ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” พลิกแฟ้มชวนดูในทาง “ศาสตร์จิต”…

“โกหก” นี่ก็ “มีมุมจิตวิเคราะห์”…

ที่เป็น “คนละมุมกับบาป?-ไม่บาป?”

หากแต่ “ดี?-ไม่ดี?” นั้น “ก็มีสิ่งบ่งชี้”…

ทั้งนี้ ในช่วงที่สังคมไทยกำลังมีกระแสเกี่ยวกับการ“พูดแล้วไม่ทำดังที่พูด” อื้ออึงเซ็งแซ่ รวมถึงที่ยึดโยงแวดวงที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความเป็นไปของสังคมไทย… ณ ที่นี้ในวันนี้พลิกแฟ้มชวนดู “โกหกในมุมจิตวิทยา” ซึ่งกับเรื่องนี้กรณีนี้นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาท่านหนึ่งเคยให้แง่มุมในมิติเชิงสังคมผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้น่าพิจารณา โดยสังเขปมีว่า… การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งจะมี “พฤติกรรมที่เป็นการโกหก” นั้น…ก็ “มีปัจจัยได้จากหลายกรณี” ซึ่งหลักใหญ่ใจความสำคัญ ก็ต้องพิจารณาว่าการโกหกที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบกับใคร?…กับอะไร?…หรือไม่-อย่างไร? มากน้อยแค่ไหน?

คือเมื่อเกิด“พฤติกรรมการโกหก” ขึ้น…

ก็จะ “ต้องมองถึงผลกระทบที่เกิด??”…

ประเด็นถัดมาที่จะชวนดูคือ… “รูปแบบการโกหก” ซึ่งทางผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาได้ระบุแจกแจงประเด็นนี้ไว้ว่า… ก็สามารถ “มีได้หลากหลาย” และอาจจะ “ต้องขึ้นกับสถานการณ์เป็นหลัก” แต่ก็พอจะจำแนกอย่างกว้าง ๆ ออกมาได้ ดังต่อไปนี้คือ… การโกหกเพื่อรักษาน้ำใจ, การโกหกเพื่อให้ได้รับการยอมรับ, การโกหกเพื่อกลบเกลื่อน หรือการโกหกเพื่อเอาตัวรอด และก็รวมถึง การโกหกเพื่อหวังผลประโยชน์ …นี่เป็นรูปแบบการโกหกที่มักจะพบกันได้ทั่ว ๆ ไป

ทางผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยายังได้มีการสะท้อนเน้นย้ำเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้อีกว่า… การ “โกหก” ส่วนใหญ่ “มักจะต้องมีเหตุผลบางอย่าง” ดังนั้นจึงจำเป็น “ต้องดูเจตนา” ของบุคคลนั้น ๆ ว่า…ที่เลือกตัดสินใจโกหก “เพราะอะไร??”

และหากจะ“วิเคราะห์การโกหก” ก็จะพบว่า… จริง ๆ แล้วก็มักจะมีกระบวนการ ซึ่ง การโกหกนั้นต้องใช้พลังงานชีวิตระดับสูงมาก!! นั่นก็เพราะ… จะต้องสร้างภาพ หรือ… จะต้องแต่งเรื่องขึ้นมา ซึ่งเพื่อที่จะทำให้เรื่องที่โกหกนั้นแนบเนียนมากที่สุด…การโกหกแต่ละครั้งนั้นก็จะต้องทำให้เรื่องราวเหมือนเดิม เพื่อจะทำให้การ “โกหก” นั้น “ดูน่าเชื่อถือ”

หากจะโฟกัสพฤติกรรมโกหกกรณี“จงใจปิดบังซ่อนเร้นความจริง” ทางนักวิชาการได้อธิบายกรณีนี้ไว้ว่า… บางครั้งเบื้องหลังการโกหกอาจเกิดมาจากปัจจัยทางสังคม ที่ส่งผลทำให้ จำเป็นต้องปิดบังความจริง เนื่องจากอาจจะ “กลัว” เช่น… กลัวได้รับผลกระทบ กลัวผู้คนรังเกียจ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ก็อาจเป็นตัวกระตุ้นทำให้บางคนตัดสินใจโกหกปกปิดความจริง

อย่างไรก็ตาม… แต่ก็มีคนบางกลุ่มที่แม้จะไม่ได้มีตัวกระตุ้นจากปัจจัยทางสังคม…ก็เลือกจะ “โกหกเป็นนิสัย” มิหนำซ้ำเมื่อโกหกแล้วกลับ “ไม่รู้สึกผิด-ไม่เคยคิดถึงผลกระทบ” ซึ่งพฤติกรรมโกหกลักษณะนี้ก็ปรากฏในสังคมไม่น้อย

“โกหกเป็นนิสัย” ก็ “อื้ออึงในไทยบ่อย”

และ “ก็บ่อยที่มักไม่เห็นท่าทีรู้สึกผิด??”

กลับมาดูที่รูปแบบการโกหก…กับการขยายความ ที่ผู้เชี่ยวชาญท่านเดิมระบุไว้ว่า… การ โกหกเพื่อรักษาน้ำใจ ก็เช่น… เพื่อไม่ให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่สบายใจ เป็นต้น, การ โกหกเพื่อให้ได้รับการยอมรับ ก็เช่น… เพื่อให้ดูดีในสายตาคนอื่น เป็นต้น, การ โกหกเพื่อกลบเกลื่อน หรือโกหกเพื่อเอาตัวรอด ก็เช่น… เพื่อกลบเกลื่อนหรือเพื่อให้พ้นผิด เป็นต้น ส่วนการ โกหกเพื่อให้ได้ประโยชน์ ก็เช่น… เพื่อให้ตัวเองหรือกลุ่มของตนเองได้เปรียบคนอื่น ๆ หรือกลุ่มอื่น ๆ เป็นต้น

“คนที่มีพฤติกรรมโกหกจนติดเป็นนิสัย ก็อาจจะเป็นเพราะถูกสภาพแวดล้อมทางสังคมหล่อหลอมมา ซึ่งถ้าไม่ได้ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ก็เป็นแค่พฤติกรรมไม่พึงประสงค์ ไม่ถือว่าถึงขึ้นมีปัญหาทางจิต อย่างไรก็ตาม ก็มีคนบางจำพวกที่ติดนิสัยโกหกหาผลประโยชน์โดยขาดความรับผิดชอบ โดยสำหรับกลุ่มหลังนี้ถือเป็นพวกที่มีสำนึกทางสังคมระดับต่ำ ซึ่งสังคมไทยไม่ควรชาชิน กับพฤติกรรมนี้…นี่เป็นอีกส่วนจากการสะท้อนแง่มุมผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้โดยแหล่งข่าวนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา ซึ่งเป็นการสะท้อนในภาพรวมทั่ว ๆ ไป ทั้งในเชิงจิตวิทยาและในเชิงสังคม

ทั้งนี้ พฤติกรรม “พูดแล้วไม่ทำดังที่พูด” หรือคำว่า “โกหก” ที่ในภาษาไทยมีการใช้คำนี้กับพฤติกรรมรูปแบบต่าง ๆ กับหลากหลายกรณีนั้น… ในสังคมไทยยุคนี้-หลัง ๆ มานี้…ก็มีสถานการณ์ต่าง ๆ มากมายที่ทำให้ผู้คนวิพากษ์วิจารณ์ถึงพฤติกรรมนี้-คำนี้ ซึ่ง ณ ที่นี้ก็เป็นแต่เพียงพลิกแฟ้มนำข้อมูลในทาง “ศาสตร์จิต-จิตวิเคราะห์” มานำเสนอให้พินิจพิจารณากันอีกครั้ง ก็สุดแท้แต่ว่าใครจะนำข้อมูลมุมนี้ไปพินิจพิจารณาเทียบเคียงกับกรณีใด? สถานการณ์ใด? ที่มีเกิดขึ้นในสังคมไทย

ย้ำว่านี่ “คนละมุมกับบาป?-ไม่บาป?”

แต่ทว่า “ก็มีสิ่งบ่งชี้ถึงกรณีดี?-ไม่ดี?”

นั่นคือ “สำนึกทางสังคม…สูง?-ต่ำ?”