อย่างไรก็ดี วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะชวนดูกันในภาพรวม ๆ เกี่ยวกับเรื่อง “สวัสดิการดูแลครอบครัว” ที่ก็เป็น เรื่องเกี่ยวกับคนวัยทำงาน การลาหยุดงาน และการดูแลคนในครอบครัวที่ต้องดูแล โดยจะสะท้อนต่อ “ข้อมูลผลสำรวจ” ของทาง เครือข่ายที่ทำงานเป็นมิตรกับครอบครัว (Family-Friendly Workplace Network) ซึ่งเป็นข้อมูลที่“น่าสนใจ”…

“ดูแลครอบครัว” ก็ถือเป็น “สวัสดิการ”

“ในสังคมไทย” นั้น “เรื่องนี้เป็นเช่นไร?”

ทั้งนี้ ว่ากันถึง “รัฐสวัสดิการ” กับเรื่องนี้กรณีนี้…ก็ได้มีผลสำรวจน่าสนใจของทาง เครือข่ายที่ทำงานเป็นมิตรกับครอบครัว หรือ Family-Friendly Workplace Network ที่ได้มีการเผยข้อมูลเกี่ยวกับ “สวัสดิการดูแลครอบครัว” ซึ่งเป็น อีกหนึ่งประเภทของสวัสดิการที่ในปัจจุบันนี้มีหลาย ๆ ประเทศได้ให้ความสำคัญ โดยมีการออกแบบ คิดค้น และพัฒนาระบบดังกล่าวขึ้นเพื่อช่วยเหลือ“คนทำงาน” ในยุคปัจจุบัน ที่นอกจากต้องหารายได้เลี้ยงชีพแล้ว ก็มีคนจำนวนมากที่ ต้องมีบทบาทเป็น “ผู้ดูแล (caregiver)” ทำหน้าที่ “ดูแลครอบครัว-ดูแลผู้สูงวัย-ดูแลพ่อแม่” จึงเป็นที่มาระบบสวัสดิการใหม่…

นั่นคือ“สวัสดิการดูแลครอบครัว”

เพื่อการ“ช่วยเหลือ-ลดผลกระทบ”

ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ทางเครือข่ายที่ทำงานเป็นมิตรกับครอบครัวมีการนำเสนอไว้นั้น เป็นการนำผลสำรวจเกี่ยวกับ “สวัสดิการดูแลครอบครัว” ทั่วโลกมาฉายภาพให้เห็นว่า ในแต่ละประเทศนั้นได้มีการจัดระบบสวัสดิการเรื่องนี้เช่นไร? ซึ่ง “สำหรับประเทศไทย” ข้อมูลเหล่านี้ก็น่าจะใช้เป็น “กรณีศึกษา” ได้ โดยมีระบบที่น่าสนใจ-ที่เด่น ๆ ดังต่อไปนี้…

“สหรัฐอเมริกา” ประเทศนี้ได้มีการจัดสวัสดิการเรื่องนี้ อาทิ… อนุญาตให้ลูกจ้างลางานเพื่อดูแลคนในครอบครัวที่เจ็บป่วยรุนแรง แบบไม่รับค่าจ้างได้นานสูงสุด 12 สัปดาห์ต่อปี, สนับสนุนคอร์สออนไลน์ให้ความรู้กับผู้ดูแล เพื่อที่จะนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ดูแลคนในครอบครัวที่เจ็บป่วย รวมถึงดูแลตัวเอง นอกจากนี้ ในแต่ละมลรัฐก็ยังมีการ ออกกฎหมายสนับสนุนลูกจ้างในการดูแลคนในครอบครัว เช่น เงินค่าดูแลผู้สูงอายุนั้นสามารถเลือกได้ว่าจะเลือกให้จ่ายตรงกับผู้สูงอายุ หรือจ่ายให้กับคนในครอบครัวที่ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแล …นี่เป็น “ตัวอย่างสวัสดิการดูแลครอบครัว” กรณีสหรัฐอเมริกา

“แคนาดา” เป็นอีกประเทศที่มีการจัดระบบสวัสดิการเรื่องนี้ โดย ให้สิทธิพิเศษลูกจ้างที่ต้องดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว ให้ได้สิทธิลดหย่อนภาษี และ ถ้าคนในครอบครัวเจ็บป่วยรุนแรง ลูกจ้างสามารถลาดูแลได้สูงสุด 28 สัปดาห์ต่อปี โดยรัฐเป็นผู้จ่ายเงินอุดหนุน 55% ของเงินเดือน นอกจากนี้ยัง สนับสนุนให้ลูกจ้างเข้าคอร์สบำบัดความเครียดฟรี กรณีต้องเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว โดยเฉพาะผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ …นี่เป็น “กรณีศึกษา” แคนาดา

“เยอรมนี” ประเทศนี้ก็มี “สวัสดิการดูแลครอบครัว” ที่น่าสนใจ อาทิ… อนุญาตให้ลูกจ้างสามารถลาหยุดงานเพื่อดูแลครอบครัวได้สูงสุด 6 เดือน หรือ สามารถลดเวลาทำงานเหลือ 15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ได้ต่อเนื่องไม่เกิน 2 ปี, มีระบบดูแลสุขภาพจิตผู้ดูแล (Mental Health Support for Cares) ที่ต้องทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลผู้ป่วย-ผู้สูงอายุในบ้าน

“เบลเยียม” ก็มีสวัสดิการดูแลครอบครัว โดย ให้ผู้ดูแลสมาชิกครอบครัวลดเวลาทำงานได้สูงสุด 48 เดือนต่อ 1 ครั้ง ต่อการดูแลสมาชิกครอบครัว 1 คน หรือ ลางานเต็มเวลาได้นานสูงสุด 24 เดือน ต่อ 1 ครั้ง ต่อการดูแลสมาชิกครอบครัวที่มีภาวะพึ่งพิง 1 คน รวมถึง อนุญาตให้ลางานดูแลคนในครอบครัวที่ป่วยระยะสุดท้ายแบบเต็มเวลา หรือลดเวลาทำงานลงครึ่งหนึ่งได้นานติดต่อกันไม่เกิน 2 เดือน โดยรัฐสนับสนุนค่าดูแลให้ …นี่เป็น “สวัสดิการ” ของเบลเยียม

“เดนมาร์ก” นี่มีระบบที่เรียกว่า Leave for the municipal employment for care อนุญาตให้ลูกจ้างลางานดูแลคนในครอบครัวได้ไม่เกิน 6 เดือน และ กรณีที่ลาโดยไม่รับค่าจ้าง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะจ่ายเงินเดือนและเงินสมทบประกันสังคมให้ แต่ถ้าบริษัทจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างขณะที่ลาเพื่อดูแลคนในครอบครัว กรณีนี้องค์กรส่วนท้องถิ่นก็จะจ่ายเงินชดเชยให้กับบริษัทนั้น และอีกประเทศตะวันตก คือ  “เนเธอร์แลนด์” ที่นี่ รัฐจ่ายเงินชดเชยให้บริษัทที่อนุญาตให้ลูกจ้างลางานดูแลคนในครอบครัว และ รัฐจ่ายเงินชดเชยให้บริษัทเพื่อจ้างคนอื่นมาทำงานแทนลูกจ้างรายนั้น

“ออสเตรเลีย” ประเทศนี้ ใช้มาตรการลดหย่อนภาษีจูงใจนายจ้างให้ปรับระบบเวลาทำงานที่ยืดหยุ่น เพื่อสนับสนุนให้ลูกจ้า

สามารถดูแลสมาชิกครอบครัวได้ดียิ่งขึ้น ขณะที่ประเทศใกล้ไทย… “สิงคโปร์” ก็มีระบบสวัสดิการคือ จัดงบประมาณรัฐส่งเสริมนายจ้างที่จัดการทำงานยืดหยุ่น เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกจ้างดูแลครอบครัวได้ดียิ่งขึ้น

…นี่เป็น “กรณีศึกษาในต่างประเทศ” ที่เด่น ๆ ที่มีการจัด “สวัสดิการดูแลครอบครัว” เพื่อ “ช่วยคนทำงานให้สามารถดูแลสมาชิกครอบครัวได้” โดยเฉพาะกับสมาชิกครอบครัวที่“เจ็บป่วย-สูงวัย” ซึ่ง “จำเป็นต้องได้รับการดูแล”

“ดูกรณีศึกษา” แล้วก็ “ย้อนดูไทย”…

กับ “สวัสดิการดูแลครอบครัว” นี่…

“ดราม่าอื้ออึง” นั้น “ชี้สภาพ???”.