อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าสถานการณ์การเมืองไทยถึงวันนี้จะเป็นเช่นไร…ที่แน่ ๆ ก็คือที่ผ่าน ๆ มาจนถึงตอนนี้ และก็ต่อจากนี้…ยังไง ๆ การเมืองก็ “ยึดโยงกับการเดินเกม” ของทุกฝั่งฝ่าย…

“มีการวางหมาก” ไว้ “อย่างซับซ้อน”…

และ “มีการเดินเกม” กัน “อย่างดุเดือด”

“ทุกฝั่งฝ่าย” นั้น “ต่างก็ชิงไหวชิงพริบ!!”

ทั้งนี้ ดูกันในภาพรวม ๆ ทั่วไปว่าด้วยเรื่องของ “เกม” และกับกรณี “การเมือง” หรือ “เกมการเมือง” เรื่องนี้วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็มีข้อมูลมาสะท้อนต่อให้พิจารณากัน โดยเป็นข้อมูลในเชิงวิชาการ โดย ผศ.บุญยิ่ง ประทุม นักวิชาการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นข้อมูลในเชิงวิชาการจากบทความที่มีการเผยแพร่ไว้ทางเว็บบล็อกชื่อ “บาว นาคร” รวมถึงมีการเผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ www.gotoknow.org ซึ่งมีชื่อบทความคือ… “การเมือง เกมและการช่วงชิงอำนาจ” ที่เนื้อหานั้นน่าสนใจอย่างมาก เป็นประโยชน์ในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้

“การเมือง เกมและการช่วงชิงอำนาจ”

มีการนำ “ทฤษฎีเกม” มาใช้ “ฉายภาพ”

ทาง ผศ.บุญยิ่ง ได้ให้คำอธิบายถึง “เกม” เอาไว้ หลักใหญ่ใจความนั้นมีว่า… ในวิชาคณิตศาสตร์ “ทฤษฎีเกม” ก็ถือเป็น วิชาทางคณิตศาสตร์ ที่ศึกษาการตัดสินใจของคนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ซึ่งการกระทำของแต่ละฝ่ายนั้นจะมีผลต่อบุคคลอื่นที่ต้องตัดสินใจด้วย โดยจุดมุ่งหมายสำคัญของทฤษฎีเกม นั่นก็คือ “วิธีตัดสินใจเพื่อเพิ่มประโยชน์สูงสุดให้กับตัวเองมากที่สุด” …นี่เป็นคำอธิบายเกริ่นนำเกี่ยวกับ “หัวใจของทฤษฎีเกม” ที่ก็ถือเป็นหนึ่งในวิชาทางคณิตศาสตร์

นักวิชาการท่านดังกล่าวได้อธิบายเพิ่มถึงคำว่า “เกม” หรือ “games” เอาไว้ว่า… หมายถึง สถานการณ์ที่มี “การแข่งขัน” หรือ “การขัดแย้ง” ระหว่างฝ่าย ตั้งแต่ 2 ฝ่ายขึ้นไป โดยที่ใช้กันมาก ได้แก่ เกมในการกีฬา ขณะที่ใน “แวดวงการเมือง”นั้นก็มีการใช้คำ ๆ นี้เช่นเดียวกัน เนื่องจาก การเมืองมีสถานการณ์แห่งการขัดแย้งและการแข่งขัน คล้าย ๆ กับเกมในการกีฬา โดยผู้เล่นแต่ละฝ่าย ต้องศึกษากฎเกณฑ์กติกาการเล่น รวมถึง ต้องพยายามคาดคะเนล่วงหน้าถึงวิธีการเล่นของฝ่ายอื่น ด้วย …นี่เป็นคำอธิบายเพิ่ม รวมถึงการที่คำว่า “เกม” ก็ถูกใช้ “กับการเมือง” เช่นเดียวกับกีฬา

นอกจากนี้ ข้อมูลในบทความยังระบุถึงจุดเริ่มต้นในการนำ “หลักวิชาทฤษฎีเกม” มาใช้ “ยึดโยง-อธิบาย” เรื่องต่าง ๆ เอาไว้ว่า… ทฤษฎีเกมเริ่มมีการนำมาเผยแพร่ราว ๆ ปี ค.ศ. 1928 โดยนักคณิตศาสตร์ชื่อ จอห์น ฟอน นิวแมน (John Von Newmann) ซึ่งนักคณิตศาสตร์รายนี้ได้ นำหลักทฤษฎีเกมนี้มาอธิบายเกี่ยวกับเรื่องของการแข่งขันทางเศรษฐกิจ จนทำให้นักคณิตศาสตร์รายนี้ได้สมญานามเป็นบิดาของทฤษฎีเกม โดย ทฤษฎีเกมเป็นการศึกษากระบวนการตัดสินใจภายใต้สถานการณ์ที่ขัดแย้งกัน (conflict situations) ซึ่งชื่อภาษาอังกฤษของทฤษฎีคณิตศาสตร์ของนิวแมนนี้คือ… “Minimax”

“ทฤษฎีเกมของนิวแมน” นั้นมีหลักสำคัญที่ว่า... ผู้แข่งขันควรวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวก้าวต่อไปของตนในทุก ๆ ความเป็นไปได้ เพื่อคำนวณว่าความเคลื่อนไหวใดที่อาจเปิดโอกาสให้คู่แข่งขันสามารถสร้างความสูญเสียให้แก่เราได้มากที่สุด และด้วยความคิดนี้ “กลยุทธ์ที่ดีที่สุดคือจะต้องเลือกการเคลื่อนไหวที่จะก่อความสูญเสียสูงสุดน้อยที่สุด” เพราะ “หากจะต้องแพ้ ก็จะได้ไม่เจ็บปวดมากนัก” …นี่เป็น “ทฤษฎี Minimax” หรือทฤษฎีเกมของนิวแมน

ที่ต่อมาได้ “มีผู้ศึกษาทฤษฎีนี้เพิ่มขึ้น”

ทฤษฎีนี้ได้ “ถูกประยุกต์ใช้กว้างขวาง”

ทั้งนี้ในบทความดังกล่าวข้างต้น ผศ.บุญยิ่ง ประทุม ยังได้อธิบายไว้ถึงการนำ “ทฤษฎีเกม” หรือทฤษฎีของนิวแมนไปประยุกต์ใช้ว่า… หลังจากทฤษฎีดังกล่าวเริ่มมีการนำมาศึกษาอย่างกว้างขวางมากขึ้น ทำให้ทฤษฎีเกมถูกพัฒนาในด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้น  และถูกนักวิชาการด้านต่าง ๆ นำไปประยุกต์ใช้ เพื่อจะช่วยวิเคราะห์เรื่องต่าง ๆ ทั้งด้านชีววิทยา สังคมวิทยา รวมถึง ใช้วิเคราะห์ด้านรัฐศาสตร์ ด้วย และหนึ่งใน “ทฤษฎีเกมที่โด่งดัง” ก็คือทฤษฎีของ โทมัส เชลลิง และ โรเบิร์ต ออมันน์ ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์จากผลงานด้านทฤษฎีเกม โดยได้มีการแบ่งเกมออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้…

ประเภทแรก “เกมที่มีผลรวมเป็นศูนย์ (zero-sum games)” ผลรวมผลได้ฝั่งผู้ชนะมีค่าเท่ากับผลรวมความเสียหายที่ฝั่งผู้แพ้ได้รับ หรือที่เรียกว่า “The winner take all” คือ ผู้ชนะจะได้ทั้งหมด ส่วนผู้แพ้ก็สูญเสียทั้งหมดเช่นกัน กับประเภทที่สอง “เกมที่มีผลรวมไม่เป็นศูนย์ (nonzero-sum games)” ซึ่งเป็นเกมที่ ผลได้ของผู้ชนะมีค่าไม่เท่ากับความเสียหายที่ผู้แพ้ได้รับ โดยที่ ทุกฝั่งฝ่ายอาจเป็นผู้ชนะทั้งหมด (win-win) หรืออาจเป็นผู้แพ้ทั้งหมด (loss-loss) ก็ได้ …นี่เป็นคำอธิบายเกี่ยวกับ “ทฤษฎีเกมโด่งดังระดับโลก” ที่เป็นผลงานของ 2 นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล

“ดูทฤษฎีเกม” แล้ว “ดูเกมการเมืองไทย”

ก็ “หวังว่าไทยโดยรวมจะไม่แพ้ไม่พัง!!”

เกมการเมืองไทยนี่ตอนหน้ามาดูต่อ…