แต่ทั้งนี้ ในขณะที่หลายฝ่ายต่างก็ลุ้นแบบต่างมุมกันไป…จู่ ๆ ก็มีกรณี “คลิปวิดีโอดัง” ปรากฏขึ้น ซึ่งเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กระหึ่ม รวมถึงมีการพูดถึง “ทฤษฎีสมคบคิด??” ซึ่งถึงวันนี้ประเด็นนี้กรณีนี้ดำเนินถึงขั้นไหน?-อย่างไร?…ก็ดังที่ทราบ ๆ กัน อย่างไรก็ตาม กลางกรณีคลิปร้อนกรณีนี้ก็มีบางคนตั้งข้อสังเกตถึง “คลิปกระตุก-กระโดด” คลิปนี้ “มีการตัดต่อหรือไม่??” มีการตัดบางส่วนออกหรือไม่??

เรื่องนี้ก็กลายเป็นอีก “ปุจฉา??”

โดยที่ “วิสัชนา” เรื่องนี้ก็ว่ากันไป…

ทั้งนี้ วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ชวนดู “ศัพท์ตัดต่อ” ซึ่งก็ขอเน้นก่อนว่ามิใช่จะชี้อะไรใด ๆ เกี่ยวกับคลิปร้อนดังกล่าว ก็เป็นแต่เพียงชวนดูศัพท์จากข่าว ระหว่างที่รอดูข้อสรุปประเด็นร้อนการเมืองประเด็นหุ้นสื่อ…ว่าจะอย่างไร?? จะชวนดูเกี่ยวกับ “เทคนิคตัดต่อ” ซึ่ง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลเชิงเทคนิคจากที่มีการอธิบายผ่านบทความให้ความรู้นักศึกษา สาขานิเทศศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ไว้โดย รศ.สุรศักดิ์ บุญอาจ …ซึ่งก็น่าสนใจ

ทาง รศ.สุรศักดิ์ ท่านได้อธิบายในบทความ ในหัวข้อ “รูปแบบของการตัดต่อ-การลำดับภาพ (Editing)” ไว้ว่า…การเล่าเรื่องที่ถูกตัดต่อและลำดับภาพ ก็เพื่อเชื่อมภาพและเรื่องราวที่ไม่อาจเกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน การลำดับภาพจากต่างพื้นที่ที่ได้ถ่ายไว้ช่วยทำให้เกิดเป็นเรื่องราวตรงกับความต้องการ ถือเป็น “ศิลปะ” ของภาพยนตร์ ซึ่งประกอบด้วยรูปแบบต่าง ๆ ดังนี้คือ… การตัด-Cut นี่เป็นการเปลี่ยนจากฉากหนึ่งไปยังอีกฉากหนึ่งอย่างรวดเร็วในพริบตา เป็นเทคนิคขั้นพื้นฐานของการตัดต่อและการลำดับภาพ ซึ่งการตัดจะใช้แสดงถึงความต่อเนื่องของการกระทำใด ๆ ภายในช่วงเวลาเดียวกันโดยไม่ถูกขัดจังหวะ

รูปแบบการตัดต่อรูปแบบถัดมา… การตัดสลับภาพ-Crosscutting เป็นการตัดภาพสลับไปมาระหว่าง 2 เหตุการณ์ หรือมากกว่านั้น หรือต่างสถานที่แต่ในเวลาเดียวกัน ที่จะสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของเรื่องราวได้ และในบางครั้งการตัดภาพสลับก็มีเป้าหมายเพื่อหลอกล่อให้ผู้ชมหลงทาง หรือใช้สะท้อนความย้อนแย้งบางอย่าง โดยเทคนิคการตัดสลับภาพนี้ อาจเรียกอีกอย่างว่า… Parallel Cutting โดยที่ทั้ง 2 รูปแบบนี้ก็จะมีความต่างกันเล็กน้อยตรงที่ Crosscutting นิยมใช้ตัดสลับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมกัน ส่วน Parallel Cutting จะนิยมใช้เพื่อหมายรวมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่างเวลาและสถานที่

การตัดกระโดด-Jump Cut นี่เป็นการตัดภาพ 2 ชอตของสิ่งเดียวกันจากตำแหน่งมุมกล้องที่เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย ส่งผลให้สิ่งของหรือตัวละครดูเหมือนกระโดดจากตำแหน่งหนึ่งไปยังอีกตำแหน่งหนึ่ง จึงถือเป็นข้อห้ามสำหรับการตัดต่อ โดยเฉพาะถ้าต้องการคงไว้ซึ่งความลื่นไหลการเล่าเรื่อง อย่างไรก็ตาม การเลี่ยงไม่ใช้เทคนิคนี้อาจพิจารณาด้วย “กฎ 30 องศา” หมายถึงชอตที่ต่อเนื่องกันจะดูราบรื่นก็ต่อเมื่อกล้องเปลี่ยนตำแหน่งจากเดิมอย่างน้อย 30 องศา หรือใช้การเปลี่ยนขนาดภาพช่วยได้ เช่น จากภาพระยะปานกลางไปยังภาพระยะใกล้ ซึ่งถ้าน้อยกว่านั้นความแตกต่างระหว่าง 2 ชอตน้อยเกินไป

นี่คือ “กระโดด” ที่ “ไม่เกี่ยวกับคลิปดัง”

และศัพท์เทคนิคตัดต่อก็ยังมี… การตัดภาพด้วยการจับคู่-Match Cut นี่ก็เป็นอีกเทคนิคที่เรียกว่า เป็นด้านตรงข้ามของการตัดกระโดด เพราะเป็นการเชื่อมชอต 2 ชอตเข้าด้วยกัน โดยคำนึงถึงความต่อเนื่องลื่นไหลเป็นหลัก โดยความต่อเนื่องนั้นอาจเป็นในรูปทรง เช่น การตัดจากภาพกระดูกที่มนุษย์วานรใช้เป็นเครื่องมือและอาวุธในยุคโบราณไปยังภาพยานอวกาศ ซึ่งเทคนิคการตัดภาพด้วยการจับคู่มักถูกนำมาใช้เพื่อเชื่อมโยงตัวละครหลายตัวที่หลากหลายเข้าด้วยกัน

ต่อด้วย… การตัดด้วยภาพจาง-Fade นี่เป็นเทคนิคสำหรับใช้เปิดหรือปิดฉาก และบ่อยครั้งใช้เชื่อมต่อระหว่างฉาก เมื่อชอตหนึ่งค่อย ๆ จางหายไปจนกระทั่งจอดำสนิท ด้วยภาพจางออก (Fade Out) พอนำเอาภาพจางเข้า (Fade In) และภาพจางออกมาต่อกัน ผู้ชมจะตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงในแง่เวลา เหตุการณ์ หรือสถานที่, การตัดภาพจางซ้อน-Dissolve นี่เป็นอีกหนึ่งเทคนิคการตัดต่อและการลำดับภาพ ที่เป็นเทคนิคการเชื่อมต่อระหว่างฉาก 2 ฉาก โดยที่ชอตแรกกำลังจางหาย ชอตต่อไปก็จะเริ่มซ้อนเข้ามาแทนที่ในเวลาเดียวกัน ซึ่งการจางซ้อนมักจะใช้เพื่อเชื่อมโยง 2 เหตุการณ์ที่สัมพันธ์กัน หรือลดความสัมพันธ์ของการเปลี่ยนฉาก แต่ทุกวันนี้เทคนิคนี้จะไม่ค่อยได้รับความนิยมมากเท่าในอดีต …นักวิชาการท่านเดิมระบุไว้

ทั้งนี้ การให้ความรู้นักศึกษาไว้โดย รศ.สุรศักดิ์ บุญอาจ ยังระบุถึงเทคนิค ภาพกวาด-Wipe คือการที่ ภาพใหม่เข้ามาแทนที่ภาพเก่า ที่จะหายไปจากจอ โดย ผู้ชมก็ยังเห็นภาพทั้ง 2 ซีนได้ชัดเจน ตลอดความยาวของการกวาดภาพ ซึ่งวิธีใช้ภาพกวาดจะคล้ายเทคนิคภาพจางซ้อน คือเป็นการเปลี่ยนแปลงเรื่องเวลาและสถานที่เพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ดี การใช้ภาพกวาดต้องระมัดระวัง ภาพกวาดนั้นเป็นการแบ่งภาพบนจอ โดย มีจุดดึงดูดความสนใจ 2 จุด จึงบังคับสายตาของผู้ชมให้มองดูทั้งภาพแรกและภาพที่ตามมา ซึ่งภาพกวาดเป็นกลยุทธ์ที่ดึงดูดความสนใจผู้ชมได้ดี แต่บางครั้งก็อาจมีข้อเสียคือผู้ชมอาจจะละเลยเนื้อหาไปได้ …นี่ก็ความรู้น่าสนใจส่วน ใครอาจนึกเปรียบกับการเมืองตอนนี้กรณีนายกฯ…ก็สุดแท้แต่…

แต่ย้ำว่าเหล่านี้ไม่เกี่ยวใด ๆ กับคลิปดัง

นี่เป็นเพียงสะท้อนต่อ “เทคนิคตัดต่อ”

ที่นักวิชาการท่านแจงไว้ “น่าสนใจ”.